สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุบสภา ทางออก หรือทางตัน?

ยุบสภา ทางออก หรือทางตัน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมเข้าใจว่ารัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล กระทำการใน 3 ประการที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและนอกสภาฯ

ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มพลังทางสังคมออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากขึ้นๆ จนถึงปัจจุบัน แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาไปแล้วก็ตาม

ประการที่ 1 ความไม่รับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 310 คนในนามของพรรคร่วมรัฐบาลที่เร่งรัดเสนอ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับสุดซอย รู้ๆ กันว่า “ฉบับล้างความผิด” จนถูกต่อต้านจากพลังมวลชนทุกกลุ่ม จนทำให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 140 กว่าคนไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าว

ประการที่ 2 การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล เร่งรัดแก้ไข รัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาโดยเฉพาะการแก้ไขเพื่อเปิดโอกาสให้อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายนักการเมือง ญาติ ผัว เมีย ของนักการเมืองลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามีความเป็นอิสระ ซึ่งแทนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอขอแก้ไขจะยอมรับผิดชอบ แต่กลับออกแถลงไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ในประเด็นนี้ กลุ่มพลังมวลชนที่ต่อต้านมองว่าเป็นความจงใจของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการกุมอำนาจรัฐ ความต้องการกุมอำนาจการปกครองประเทศไว้ในมือ โดยเฉพาะกลไกสมาชิกวุฒิสภาที่มีผลต่อการเข้าไปกุมไกลองค์กรอิสระ (ศาล) ทั้งฝ่ายบริการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

ความผิดพลาดทั้ง 2 ประการของฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้สนับสนุนรัฐบาลและมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มพลังทางสังคมให้รัฐบาลและส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ออกมาขอโทษประชาชนและประกาศยุบสภาในช่วงนั้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร

ประการที่ 3 การไม่ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบ จึงเป็นประเด็นให้กลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มพลังทางสังคมออกมาต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นเป็นลำดับ จนนำไปสู่การแสดงออกของผู้ชุมนุมในเชิงสัญลักษณ์โดยเฉพาะการไปปิดล้อมสถานที่ราชการต่างๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปะทะ มีการบาดเจ็บล้มตาย โดยเฉพาะการเสียชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง รัฐบาลก็ไม่ได้แสดงออกซึ่งการระงับเหตุการณ์โดยเฉพาะตำรวจในฐานะผู้ดูแลรักษาความสงบ จนถูกมองว่าเป็นผู้ปล่อยให้เหตุการณ์ความรุนแรง

ยิ่งเมื่อได้อ่านคำประกาศแถลงการณ์ยุบสภาฯของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เห็นว่าเนื้อหาสาระของการประกาศซึ่งเป็นข้ออ้างการยุบสภานั้น “กลับไม่ได้แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบของรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล” ซึ่งได้กระทำการที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชนแต่อย่างใด แต่กลับโยนประเด็นไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมว่าก่อนให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และไม่ยอมรับข้อเสนอตามวิธีทางประชาธิปไตย

ผมเข้าใจว่า การยอมรับวิถีทางประชาธิปไตยนั้นเห็นว่าการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้สนับสนุนกระทำการที่ฝืนความรู้สึกของประชาชนและกลุ่มพลังทางสังคม ก็ควรจะแสดงออกถึงความรับผิดชอบและรัฐบาลต้องยุบสภาในช่วงนั้นแล้ว และการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่ามันสายเกินไปแล้ว

ผมเข้าใจว่าฝ่ายผู้ชุมนุมและกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เห็นว่า “การยุบสภาของนายกรัฐมนตรี” ไม่ได้แสดงถึงความรับผิดชอบทางการเมืองทั้งฝ่าย ส.ส.ผู้สนับสนุนรัฐบาลที่ได้กระทำผิดต่อจริยธรรม คุณธรรมทางการเมืองของประชาชน และรัฐบาลจะต้องเสียสละยอมรับวิกฤติทางการเมือง กลไกทางการเมืองที่ยังบกพร่อง จึงมีข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศไทยของกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ มากมายอยู่ขณะนี้

แม้ว่ารัฐบาลจะขานรับการปฏิรูปประเทศไทยแต่เป็นการขานรับที่ชิงความได้เปรียบตลอดมา โดยไม่ยอมจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบแต่อย่างใด โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมและ กปปส. เห็นว่ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปฯไม่ได้ เพราะรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเป็นต้นตอของปัญหาวิกฤติการเมือง และขาดความชอบธรรมทางการเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว

ผมจึงเข้าใจว่ารัฐบาลต้องยอมถอยและปล่อยให้คนกลาง และภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสีย เพื่อเข้ามาแก้ไขกลไกทางการเมืองที่ยังบกพร่อง เป็นต้นว่า การให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีความเป็นอิสระนั้น จะต้องปล่อยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค นอกจากนั้นเห็นว่าการปฏิรูปประเทศไทยต้องเปลี่ยนฐานในการพัฒนาประเทศ โดยการลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจการปกครองท้องถิ่น และใช้ฐานการปกครองท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ

ผมจึงเข้าใจว่าประเทศไทย "ต้องหยุดประเทศเพื่อการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาประเทศ เพื่อฝ่าวิกฤติทางออกร่วมกัน" เพราะแม้ว่าจะมีการเดินหน้าเพื่อเข้าสู่วงจรการเลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะกลับกลายเป็นการกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมืองเหมือนเดิม นั้นคือการใช้เสียงข้างมากกระทำการกับประเทศโดยไม่คำนึงถึงเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นทางตันทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และปัญหาประเทศในหลายๆ ส่วนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งต้องอาศัยการหยุดประเทศเพื่อการปฏิรูปประเทศ เช่น การปฏิรูปกลไกทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง การปฏิรูปปัญหาความยากจน การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นและการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยุบสภา ทางออก ทางตัน

view