สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ กปปส พบ7องค์กรเอกชน

คำต่อคำ กปปส พบ7องค์กรเอกชน

จาก โพสต์ทูเดย์

คำต่อคำ "สุเทพ-แกนนำกปปส." เข้าพบชี้แจงข้อซักถาม 7 องค์กรเอกชน "สุเทพ"ย้ำถึงเวลาต้องตัดสินใจเปลี่ยนประเทศไทยหรือยอมเป็นทาสระบอบทักษิณ

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. เวลา 15.30น. โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้นำคณะแกนนำ กปปส.เข้าพบกับ ภาคเอกชน 7 สถาบัน ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), สมาคมธนาคารไทยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(สทท.), สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.), สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการต่อสู้กับระบอบทักษิณและการเรียกร้องการตั้งสภาประชาชนของ กปปส. และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสอบถามในกรณีที่ยังมีข้อสงสัย

ก่อนที่จะเริ่มข้อซักถาม อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงข้อคิดเห็นของฝั่งเอกชนว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรว่าประเทศจะต้องปฏิรูป โดยหลักใหญ่ๆ เจตนาของภาคเอกชนจริงๆ แล้วมีอยู่เรื่องเดียวคือทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงและประชาชนส่วนใหญ่ในชาติเดินไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

เอกชนเห็นอยู่ว่าในประเทศมีความเหลื่อมล้ำอยู่และภาคอุตสาหกรรมก็พยายามเข้ามาดูแลแต่ถ้าประเทศไม่มีความสงบเอกชนก็เดินหน้าไม่ได้ เทียบกับประเทศมาเลเซียตอนนี้มีการตั้งเป้าหมายจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020 แต่ประเทศไทยยังไม่ได้มีเป้าหมาย โดยตอนนี้ภาคธุรกิจเองก็มีเรื่องคอร์รัปชั่นที่ต้องต่อสู้ซึ่งก็ต้องดูอยู่ว่าเราจะขับเคลื่อนให้ตรงกับทุกฝ่ายอย่างราบรื่นได้อย่างไร

ตอนนี้ถ้ายังไม่รีบสรุปผลกระทบก็จะยิ่งกระทบโดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับรากหญ้าที่ ตอนนี้เงินเริ่มขาดมือทั้งเงินที่มาจากการขายของ รวมถึงเงินรับจำนำข้าวที่ไม่ราบรื่น ซึ่งถ้าเศรษฐกิจรากหญ้ามีปัญหาเงินไม่กระจายลงไปก็จะทำให้เศรษฐกิจที่อยู่ข้างบนมีปัญหาไปด้วยนี่คือภาพใหญ่ที่ภาคธุรกิจมองอยู่

จากนั้นได้เป็นการถาม-ตอบระหว่างองค์กรเอกชนและแกนนำกปปส.โดยมีเนื้อหาดังนี้

ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) : เรื่องที่ กปปส. ดำเนินการมาก็สอดคล้องกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ที่คุณสุเทพบอกว่าจะตั้งสภาประชาชน 400 คนจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะให้เกิดการยอมรับในหมู่ประชาชน?

สุเทพ : อยากให้พิจารณาถึงความเป็นจริงว่าสภาพตอนนี้เหมือนไม่มีรัฐบาล ไม่มีสภาฯ แล้วเพราะรัฐบาลได้ปฏิเสธรัฐธรรมนูญทำตัวอยู่เหนือกฎหมายตั้งแต่วันที่แถลงไม่รับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และยังทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนโดยการไปออกกฎหมายเพื่อช่วยคนๆ เดียว ทุกคนต้องยอมรับก่อนว่ารัฐบาลนี้เป็นเพียงหุ่นเชิด แม้แต่การแต่ตั้งรัฐบาลก็ทำโดยคนที่อยู่ต่างประเทศ โดยอำนาจของรัฐธรรมนูญถ้ารัฐบาลไปทำผิดแล้วก็ชอบธรรมที่ประชาชนจะเรียกร้องอำนาจคืนกลับมา

การที่คน 5-6 ล้านคนลุกขึ้นมาพร้อมกันตอนนี้ก็ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์แต่มาด้วยตัวเองและการต่อสู้ของประชาชนกลุ่มนี้ก็เป็นไปอย่างสันติ สงบ ปราศจากอาวุธไม่มีประเทศไหนในโลกที่คนลุกขึ้นมาพร้อมกันขนาดนี้ และถ้าสังคมปฏิเสธหรือไม่ยอมรับการลุกขึ้นของคนขนาดนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะชี้แจงอีก

ตอนนี้มีหลายองค์กรพร้อมที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มประชาชนกับรัฐบาล แต่ผมก็ปฏิเสธไปตามตรงว่าวันนี้ไม่มีเรื่องการไกล่เกลี่ย แต่เป็นเรื่องว่าจะต้องเปลี่ยนประเทศไทยหรือจะยังยอมเป็นทาสของทักษิณ สิ่งที่ฝ่ายประชาชนยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะราบรื่นได้ก็เฉพาะว่ารัฐบาลต้องออกไปและให้เป็นสุญญกาศทางการเมืองซึ่งไม่ได้ทำให้ประเทศเสียหาย เพราะมันแค่วันสองวันเท่านั้น และมันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทย

แม้จะมีสุญญากาศแต่เราก็ยังมีวุฒิสภาซึ่งต้องดำเนินการโดยรองประธานวุฒิสภา เพราะประธานก็ยังเป็นคนในเครือข่ายระบอบทักษิณ โดยให้รองประธานวุฒิสภาทูลเกล้าเสนอชื่อคนที่เป็นคนดีให้เป็นนายกรัฐมนตรี และรองประธาน วุฒิสภาก็เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยนายกรัฐมนตรีตามมาตรา7 ไม่ใช่เรื่องการไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาทให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนายกรัฐมนตรี

โดยกรณีนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น เคยเกิดขึ้นตอนที่จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกตอนนั้นประธานวุฒิสภาก็ทูลเกล้าฯ ขอให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและหลังจากนั้นก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญต่อมา ซึ่งถ้าไม่ดำเนินการตามแนวทางนี้แล้วต้องสู้ ก็ต้องสู้ไม่สนใจอะไรอีกแล้ว เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ตอนนี้ก็ไม่มีโอกาสอื่นแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงแม้จะต้องเจ็บปวดบ้าง ถ้าท่านในฐานะคนทำธุรกิจกลัวจะกระทบธุรกิจมันก็จะกระทบเป็นเวลาสั้นๆ

อิสระ ว่องกุศลกิจ : ถ้าการปฏิรูปประเทศไม่ทันวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งประกาศเป็นวันเลือกตั้งไปแล้ว?

สุเทพ : ตอนนี้ไม่อยู่ในสถานการณ์ปกติเปิดตำรามาคุยกันไม่ได้ และเรื่องนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับไทยในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดปฏิวัติ ซึ่งครั้งนั้นก็มีการออกพระราชกฤษฎีกาเลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราบอกว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะต้องไม่เลือกตามกติกาเดิม เพราะไม่เช่นนั้นก็จะออกมาเหมือนเดิม ที่ประชาชนต่อสู้ไม่จบเพราะไม่ต้องการเห็นวัฏจักรอันเลวร้ายนี้อีกแล้ว

ประมนต์ สุธีวงศ์ : สภาประชาชนที่ตั้งขึ้นมานี้ที่คุณสุเทพบอกว่าจะมีนายกฯคนใหม่ แล้วจากนั้นค่อยมีการเลือกตั้งแล้วเรื่องนี้จะจบอย่างไร?

สุเทพ : มี 2 ทางที่จะทำให้เรื่องนี้จบ คือ 1. ประชาชนได้ประกาศแล้วว่าอธิปไตยได้กลับมาเป็นของประชาชน ขอประกาศชัดๆ ว่าประชาชนได้ประกาศยึดอำนาจแล้วแต่ที่เราทำช้าๆเพราะต้องการให้สังคมรับทราบและราบรื่น เมื่อเทียบกับอดีตที่การยึดก็เอารถถังออกมาแล้วก็ประกาศ ซึ่งถ้าไม่จบประชาชนก็ยังเดินตามแนวทางนี้

2. ทางที่ 2 ราบรื่นและทำได้เลยคือคุณยิ่งลักษณ์ ประกาศลาออกจาการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อให้เกิดช่องว่างทางอำนาจ ตามมาตรา 7 และดำเนินไปตามประเพณีการปกครองคือดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องไม่ใช่คนที่มาจากระบอบทักษิณ เมื่อมีนายกรัฐมนตรีแล้วเขาก็สามารถใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกพระราชกำหนดให้มีสภาประชาชนและก็จัดการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องชัดเจนว่าตนที่จะมาอยู่สภาประชาชนต้องไม่มาจากพรรคการเมือง ทางนี้เป็นทางที่ง่าย เร็ว ราบรื่นและจบเร็ว แต่ถ้าคุณทักษิณยังสั่งให้รัฐบาลสู้ต่อ เราก็สู้ต่อ

ตอนนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมือง แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบทักษิณกับประชาชนชาวไทย ประชาชนเขาไม่ได้ออกมาเพราะนายสุเทพ แต่เขารอเวลานี้มานานแล้วรอเพียงคนที่จะมานำเท่านั้น ประชาชนที่ออกมา 5-6 ล้านคนตอนนี้เขาไม่ถอยแล้ว

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย : ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องของการเมืองมากนัก แต่เท่าที่ได้ติดตามความเห็นนักวิชาการที่เห็นว่าตอนนี้มีหลายฝ่าย ทางกปปส. จะเปิดรับแนวคิดจากทางอื่นหรือไม่?

สุเทพ : ถ้าเป็นแกนนำในกลุ่มทักษิณไม่ว่าจะเป็นวีระ ณัฐวุฒิ จตุพร ไม่รับ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่เข้ามารับหมด ผมพร้อมจะฟังคนทุกฝ่ายเพียงแต่ว่าไม่ต่อรองและยืนยันในหลักที่ว่าจะต้องปฏิรูปประเทศ

เทพ วงษ์วานิช รองประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น : ที่ทาง กปปส. มาพบต้องการให้ภาคธุรกิจทำอะไร ที่จะสนับสนุนให้สำเร็จ?

สุเทพ : อยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจสถานการณ์และฟังทุกอย่างจากปากของผมและให้ถามในสิ่งที่ยังสงสัย ตอนนี้เป็นภาระหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน เมื่อท่านมีความเข้าใจแล้วก็ขอความร่วมมือให้มาร่วมกับเรา เสียงของภาคเอกชนนั้นมีความหมาย เราอยากได้เสียงสนับสนุนเพราะเสียงของพวกท่านมีประโยชน์พูดแล้วประชาชนฟัง แต่ผมขอร้องว่า ถ้าท่านคนใดฟังแล้วรู้สักไม่ชอบผมก็ขอให้นิ่งเฉยไปเสีย อย่าให้ไปสัมภาษณ์เตะสกัดและเป็นการบั่นทอนกำลังของประชาชนเลย

ปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) : องค์กรภาคธุรกิจ 7 สถาบัน เตรียมประชุมหารือระดมความคิดเห็นแนวทางออกในการปฎิรูปการเมืองไทยร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน หลังจากหารือร่วมกับนายสุเทพ มองว่า ในฐานะคนไทยเห็นด้วยกับการปฎิรูป ปรับปรุงทางการเมืองไทย แต่ขั้นการปฏิบัติควรมีความชัดเจนถึงแนวทางและวิธีดำเนินการ ส่วนข้อสรุปว่าวันที่ 2 ก.พ.ปี2557 ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น ต้องมีการหารืออย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง

นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต้องทำให้คนไทยมีรอยยิ้มกลับคืนมาได้อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งต้องรักษาภาพลักษณ์และฟื้นฟูให้ประเทศไทยเป็นเมืองไทยแลนด์ ออฟ สไมล์ หรือสยามเมืองยิ้มให้กลับคืนมา เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวิกฤตทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ภาพความวุ่นวายทางการเมืองอาจกลับภาพลักษณ์การเป็นสยามเมืองยิ้มได้

ประมนต์ สุธีวงศ์ : จะมีทางไหนไหมที่จะทำให้เกิดระบบที่เป็นเป้าหมายของ กปปส. แต่ด้วยแนวทางที่แตกต่างออกไป?

สุเทพ : คำว่าไม่ต่อรองในที่นี้คือไม่ต่อรองระหว่างประชาชนกับระบอบทักษิณตอนนี้คือไม่มีการต่อรอง ท่านกับผมเราเป็นประชาชนด้วยกันเราคุยกันได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเราต้องการที่สุด แต่ที่ตอ้งเรียนคือต้องยอมรับก่อนว่าประชาชนก็มีความอดทนจำกัด ต่อสู้กันมา 50-60 วันแล้ว บางกลุ่มก็ 70 วันแล้ว แต่กระบวนการที่คุณยิ่งลักษณ์ทำคือค่อยๆทำให้ประชาชนหมดแรง แต่เรายังยืนยันว่าต้องปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เรื่องนี้ต่อรองไม่ได้
เรียนว่าตอนนี้ผมมีหลายข้อหา แต่ถ้าไม่จบจะได้อีกหลายข้อหาแน่คือผมจะทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง ผมเป็นนักการเมืองโดยอาชีพผมรู้ว่าคนๆ เดียวสามารถซื้อประเทศได้ซึ่งอันตรายมาก

นิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฎิรูปประเทศไทย(คปท.) : แนวทางการใช้มาตรา 7 เข้าปฎิรูปการเมืองไทยในครั้งนี้ กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการพระราชทาน แต่เป็นการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อปกครองช่วยคราว ว่าด้วยกฎหมาย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การปฎิรูปทางการเมืองได้

สุริยะใส กระศิลา แกนนำกลุ่มกรีน : ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ กปปส.เตรียมจัดเวทีประชุมใหญ่เสนอความคิดเห็นทางการเมืองจากทุกสาขาอาชีพ กว่า 3,000 คน ระหว่างเวลา 9.30 น.- 16.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อวางแนวทางออกในการปฎิรูปการเมืองไทยร่วมกัน

กลินท์ สารสิน เลขาธิการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย : มีโอกาสอีกไหมที่จะได้เจรจากับนายกฯอีก?

สุเทพ : จริงๆ ผมไม่ได้อยากเจอ แต่รอบนั้นที่ไม่เจอเพราะเกรงใจผู้บัญชาการเหล่าทัพ และวันนั้นที่ได้พบกันผมก็คุยกับคุณยิ่งลักษณ์ คุณยิ่งลักษณ์ก็บอกว่าตัดสินใจไม่ได้ แต่ก็ไม่คิดว่าคุณยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจได้ต้องรอคุณทักษิณ เจอกันหนเดียวไม่ต้องเจออีกเพราะไม่มีประโยชน์

หลังจากสุเทพตอบข้อซักถามของเอกชนแล้ว อิสระ ว่องกุศลกิจ ได้กล่าวในตอนท้ายกับนายสุเทพและแกนนำ กปปส. ว่า การได้ฟังการอธิบายได้ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น แต่เอกชนก็ไม่อยากให้ประเทศไทยเดินไปในทางที่ว่าต้องไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็เข้าใจเรื่องการปรับปรุงเรื่องการคอร์รัปชั่นและหลายองค์กรก็เห็นตรงกันเพียงแต่วิธีอาจจะต่างกัน ซึ่งหวังว่าจะปรับเข้าหากันได้อันไหนที่เป็นประโยชน์ก็จัดเวลาหาทางออกร่วมกัน

จากนั้น สุเทพก็กล่าวในตอนท้ายว่า อยากฝากว่าหากเห็นตรงกันก็ขอให้มาร่วมกัน ถ้าร่วมแล้วเรื่องก็จบเร็ว เมื่อจบเร็วประเทศก็บอบช้ำน้อยที่สุด แต่ถ้ายังมีความเห็นที่แตกซ่านใช้เวลากันนานประชาชนก็ไม่ถอยก็ยิ่งบอบช้ำมาก เพราะประชาชนกว่า 90% ที่มาเป็นคนที่ไม่เคยเดินประท้วงมาก่อน

ทั้งนี้ อิสระ ได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวนอกรอบหลังจบการหารือว่า เอกชนรู้สึกยินดีที่เห็นว่า 7 องค์กรมีประโยชน์ แต่เอกชนก็อยากให้ทุกฝ่ายเห็นไปในทางเดียวกัน อะไรก็มี่ความต่างก็อยากให้ยุติ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจทั้งระดับเมืองและต่างจังหวัดตอนนี้เงินเริ่มขาดมือแล้ว เอสเอ็มอีขาดแล้วก็กระทบไปถึงเรื่องตกงาน

โดยวันนี้เอกชนมารับฟังวิธีการต่างๆ และทำความเข้าใจ แต่การหารือคงไม่จบเพียงครั้งเดียว เอกชนคงต้องนำไปวิเคราะห์ว่าอะไรที่เป็นทางที่เป็นไปได้สำหรับประเทศ ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ส่วนเวทีที่รัฐบาลจะจัดรับฟังความเห็นเอกชนก็จะส่งตัวแทนเข้าร่วม เนื่องจากมีผู้แทนที่มีความรู้อยู่ และนี่ก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย


“เทือก” นำถก 7 องค์กรธุรกิจ ยันต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แย้มสภา ปชช.มี 400 คนจากวิชาชีพ-ผู้ทรงคุณวุฒิ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

กลุ่ม กปปส.หารือ 7 องค์กรภาคธุรกิจ “สุเทพ” ถามยอมรับรัฐสิ้นสภาพหรือไม่ แจงสภาปชช.มี 400 คน 300 จากวิชาชีพ 100 จากผู้ทรงคุณวุฒิ รับปัดเจรจารัฐ ต้องเลือกเปลี่ยนหรือเป็นขี้ข้า ยันมี 2 ทาง ปชช.ยึดอำนาจแบบทหาร หรือรัฐลาออก เดินตาม ม.7 เชื่อไม่กระทบศก. ขอลืมตนในคราบการเมือง เชิญแดงร่วมพร้อมรับฟัง เว้นสามเกลอหัวขวด ขอภาคธุรกิจหนุน ยันไม่ปฏิรูป ยื้อไม่ยอมให้เลือกตั้ง
         วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. ได้มีการหารือกับ 7 องค์กรภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
       
       โดย นายสุเทพ ชี้แจงในช่วงต้นว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ที่สมบูรณ์และปฏิรูปประเทศ โดยต้องการทำก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เพราะไม่อาจทนอยู่ได้ภายใต้การทุจริตการเลือกตั้งที่ไม่ได้ผู้แทนที่แท้จริง ของประชาชน จึงต้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง รวมถึงให้มีรัฐบาลชั่วคราวที่มาจากคนกลางโดยไม่มีพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง ไม่ต้องการแช่แข็งประเทศไทย รวมไปถึงให้มีสภาประชาชนที่จะกำกับนโยบายร่วมกัน มีกฎหมายต่อต้านการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพคดีไม่มีอายุความ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระจายอำนาจ ปรับโครงสร้างตำรวจให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจ (ก.ตร.) มาจากภาคประชาชน
       
       "สภาประชาชนที่ตั้งขึ้นจะมีไม่เกิน 400 คน โดย 300 คนมาจากการเลือกตั้งกลุ่มวิชาชีพต่างๆ อีก 100 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ กปปส.สรรหา ผู้จะมาเป็นสภาประชาชนต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและเมื่อพ้น จากสภาประชาชนจะต้องไม่ลงเลือกตั้งตำแหน่งใดๆในระยะเวลา 5 ปี" นายสุเทพ กล่าว
       
       ด้าน ตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า ยินดีที่จะรับฟัง ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องมีการปฏิรูปและมีบางประเด็นที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งเจตนาของ 7 องค์กรเอกชนคือทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดความมั่นคงและเดิน ไปด้วยกัน เห็นด้วยกับแนวทางที่จะมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเห็นตรงกันกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งนี้เบื้องต้นหากยังไม่มีข้อสรุปจะกระทบกับเศรษฐกิจของรากหญ้า
       
       ตัวแทนภาคเอกชรยังระบุด้วยว่า เมื่อทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะให้มีการปฏิรูป แต่ปัญหาสำคัญคือจะทำอย่างไรให้สภาประชาชนเป็นที่ยอมรับ พร้อมขอให้นายสุเทพชี้แจงว่ามีขั้นตอนอย่างไรในการสรรหาสมาชิกสภาประชาชน
       
       นายสุเทพ กล่าวตอบว่า ขณะนี้ถือว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมตัวแต่วันที่ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนในการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม โดยขอยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนคือปราศจากอาวุธ ไม่มีเหตุรุนแรง ซึ่งหากไม่ยอมรับการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ มีความจำเป็นตัองชี้แจง
       
       "ขณะนี้มีหลายองค์กรที่เสนอเป็นคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยประชาชน แต่ผมปฏิเสธไป เนื่องจากไม่ต้องการต่อรอง มีเพียงแค่จะปฏิรูปประเทศ หรือยอมอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ ซึ่งข้อเรียกร้องของ กปปส.คือการให้นายกรัฐมนตรีลากออกจากการรักษาการ และให้รองประธานวุฒิสภานำรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลางขึ้นทูลเกล้าฯแต่หากนอก เหนือไปจากนี้อาจต้องมีการเจ็บปวดบ้าง อาจกระทบธุรกิจบ้างแต่เชื่อว่าเป็นเวลาสั้นๆ" เลขาฯกปปส.ระบุ
       
       นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ขณนี้มีเพียง 2 ทางเลือกที่จะทำให้เรื่องจบได้ คือ 1.ประชาชนยึดอำนาจอธิปไตยแล้วเหมือนทหารปฏิวัติใช้อำนาจได้ และ 2.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์แล้วใช้มาตรา7 ซึ่งไม่ได้มาจาก กปปส.หรือมาจากระบอบทักษิณต้องเป็นคนที่ประชาชนมั่นใจได้
       
       ตัวแทนภาคเอกชนตั้งคำถามต่อไปว่า หากการปฏิรูปแล้วเสร็จไม่ทันก่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.จะทำอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า แนวทางของ กปปส.คือต้องไม่มีการเลือกตั้งแบบเดิม
       
       “ถ้าจะมีการดึงดันให้มีการเลือกตั้ง ผมคนหนึ่งจะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ถ้ายังไม่มีการปฏิรูป” นายสุเทพ กล่าว
       
       ด้าน นางปิยะมาลย์ เตชะไพบูลย์ ประธานสภาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สอบถามต่อไปว่า อยากให้มีนโยบายด้านสังคมอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นสยามเมือง ยิ้ม และจะทำอย่างไรให้กลับมาพูดคุยกันได้
       
       นายสุเทพ กล่าวยืนยันว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่การทำเพื่อตัวเองและพรรคการเมือง ซึ่งพรัอมที่จะเชิญกลุ่ม นปช.เข้ามาร่วมกันปฏิรูปประเทศ แต่หากอยู่อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเป็นสยามเมืองยิ้มได้ ตนตัดสินใจแล้วที่จะไม่เล่นการเมืองทั้งที่รักอาชีพนี้มากที่สุด
       
       นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการเปิดรับแนวคิดจากกลุ่มอื่นด้วยหรือไม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็นอย่างไร
       
       โดยนายสุเทพ ย้ำว่าพร้อมเปิดรับทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาเนื่องจากมีพรรคเการเมืองอยู่เบื้องหลัง ส่วนที่จะทำให้เกิดความสำเร็จนั้น เสียงของภาคเอกชนมีความหมาย เพราะไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งตนถูกดำเนินคดีหลายข้อหาและจะทำทุกอย่างไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งตามกติกานี้ทำให้คนๆเดียวมาซื้อประเทศนี้ได้ พร้อมกับเปิดเผยว่าตนเคยเจอนายกรัฐมนตรีแล้ว ต่อหน้า ผบ.เหล่าทัพแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังตัดสินใจไม่ได้ นอกจากนี้ทาง กปปส.ยินดีรับความคิดเห็นของทุกฝ่าย รวมถึงคนเสื้อแดง ยกเว้น นายวีระกานต์ มุสิกพงษ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
       
       ทั้งนี้ภาคเอกชนได้สรุปว่าเห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้มีการปฏิรูป ซึ่งจากนี้จะมีการจัดเวทีเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง
       
       ด้าน นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษาเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอาจกังวลถึงความเป็นไปได้แต่หากนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เป็นตัวตั้งทุกอย่าง และตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีพระราชทานอย่างที่เข้าใจและอยากให้ภาคเอกชนไม่ตัองกังวล เรื่องข้อกฎหมาย
       
       ในช่วงท้าย นายสุริยะใส กตะสิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการจัดเสวนาแนวทางปฏิรูปประเทศของภาคประชาชน ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเวลา 09.30-16.00 น. โดยจะมีผู้เข้าร่วมจากภาคประชาชนกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ และขอให้ภาคเอกชนส่งตัวแทนเข้าร่วมเสวนาด้วย


ภาคเอกชนพร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลสู่การปฏิรูป หลังหารือ กปปส.วันนี้

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันระหว่าง 7 องค์กรภาคธุรกิจ, ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ว่าหลังจากนี้คงต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายส่วนประกอบกันไป รวมทั้งให้ผู้ที่มีประสบการณ์ได้วิเคราะห์ก่อน ซึ่งแนวทางในการปฏิรูปประเทศอาจจะเป็นแนวทางอื่นที่นอกเหนือจากการนำเสนอของ กปปส. แต่ทั้งนี้ต่างจะต้องนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการปฏิรูปที่นำไปสู่ความสงบ สุขของประเทศ

"การมารับฟังในวันนี้ถือว่ามีหลายอย่างที่ได้รับความกระจ่างขึ้น และดีใจที่การชุมนุมในครั้งนี้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง และส่วนตัวคิดว่าองค์กรธุรกิจคงไม่อยากจะแสดงความเห็นมากนัก เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงขอเป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางที่ทำให้ประเทศมีทางออก ตอนนี้คงต้องฟังเหตุผลจากหลายๆ ฝ่ายก่อน" นายอิสระกล่าว
 
สำหรับวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.) 7 องค์กรภาคธุรกิจได้ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทำหน้าที่เป็นเวทีกลางครั้งที่ 1 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในการจัดระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้รู้เพื่อร่วมกันเสนอทางออกที่ เป็นไปได้ให้กับสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ความสงบสุขและสันติอย่างยั่งยืน
 
ด้าน นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังการหารือในครั้งนี้แล้วมีความเข้าใจที่ดีขึ้น แต่บางเรื่องมองว่ายังไม่มีความชัดเจนนัก เช่น ที่มาของสภาประชาชน ทั้งในส่วนของ 300 คนที่จะเลือกตั้งเข้ามา และอีก 100 คนที่จะแต่งตั้งจาก กปปส. แต่ทั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเชื่อว่าหากมีการพบปะหารือกันกัน ต่อเนื่องในอีกหลายเวทีก็จะได้ความกระจ่างมากขึ้น โดยหลังจากนี้ภาคเอกชนจะนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจว่าจะดำเนินการ อย่างไรต่อไป ซึ่งคงต้องไปหารือกันในส่วนของภาคเอกชนอีกครั้ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำต่อคำ กปปส 7องค์กรเอกชน

view