สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โมเดลสู่ ปฏิรูปประเทศ เครือข่าย7องค์กรภาคเอกชน

โมเดลสู่ ปฏิรูปประเทศ เครือข่าย7องค์กรภาคเอกชน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การแถลง ทางออกประเทศ ของเครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน วันนี้ (13 ธ.ค.) มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจ

และน่าจะมีความแตกต่างกับเวทีที่รัฐบาลเพิ่งประกาศระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนแบบสดๆ ร้อนๆ ค่อนข้างมาก

จุดยืนของเครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชนชัดเจนว่า ต้องก้าวข้ามข้อถกเถียงปัจจุบันว่า สภาประชาชน เกิดได้หรือไม่? ต้องเลื่อนการเลือกตั้งหรือเปล่า? ฯลฯ แต่มุ่งไปสู่การหาฉันทามติของสังคมว่าเมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันถึงความจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศ แนวทางหรือโมเดลที่จะไปสู่จุดนั้น ย่อมเป็นเรื่องรอง หรือเป็นเพียงเครื่องมือ

บทสรุปจากการหารือกันมาระยะหนึ่ง ก็คือ การนำโมเดลทางออกทางกฎหมายซึ่งแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นตรงข้ามกันแบบคนละขั้วมาคุยกันนั้น จะไม่ได้ทางออก เพราะจะมีแต่การตีความทางเทคนิคไม่มีวันจบ แต่ทางออกของประเทศชัดเจนแล้ว คือ ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จึงไม่ควรนำประเด็นเทคนิคกฎหมายมาปิดกั้นในลักษณะ ปิดประตูตาย

แนวทางก็คือหากเห็นด้วยตรงกันว่าต้องปฏิรูป ก็มาคุยกันว่าจะทำอย่างไร และทำอะไรบ้าง ซึ่งเท่าที่มีการซาวเสียงกันมา พบประเด็นสำคัญๆ 3 ประเด็นดังนี้

1.การใช้อำนาจเมื่อได้เข้าสู่อำนาจแล้ว ต้องเป็นการใช้อำนาจที่โปร่งใส ถูกต้อง ตรวจสอบได้

2.มีกลไกการตรวจสอบการคอร์รัปชันที่ดี

3.การเข้าสู่อำนาจที่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าต้องผ่านการเลือกตั้ง แต่กติกาจะเป็นอย่างไร

ทั้งหมดนี้คือความจำเป็นของการปฏิรูปประเทศ และปฏิรูปการเมือง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันหมด แต่ต่างกันที่วิธีการ จึงต้องหากระบวนการหรือกลไกให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย

แนวทางที่เป็นไปได้จากการหารือของเครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน ก็คือ

1.ตั้ง องค์กรเพื่อปฏิรูปประเทศ ซึ่งองค์ประกอบต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกกลุ่ม มีความน่าเชื่อถือ และมีองค์กรกำกับเพื่อให้ดำเนินการไปตามกรอบเวลาและวัตถุประสงค์ที่กำหนด ส่วนวิธีการตั้งองค์กรลักษณะนี้สามารถทำได้หลายวิธี อาจจะออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี หรือตราเป็นพระราชกำหนด ทำหน้าที่ศึกษาประเด็นเบื้องต้น

2.เมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องปฏิรูป และมีกลไกสำหรับขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ได้รับการยอมรับ โจทย์ต่อไปก็คือการตอบคำถามว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เมื่อซาวเสียงจากหลายฝ่ายเห็นว่าไม่มีช่องทางเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ เพราะหากเลื่อนออกไปอาจถูกครหาเรื่องการไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย และต่างประเทศอาจมองอย่างไม่เข้าใจ

แต่กระนั้นก็ต้องมีการวางกรอบที่ชัดเจนร่วมกันก่อน อาจให้มีการทำ สัตยาบันร่วมกัน หรือทำ สัญญาประชาชนร่วมกัน ของพรรคการเมืองทุกพรรคว่า ผู้แทนราษฎรชุดใหม่ และรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาหลังเลือกตั้ง ต้องมีภารกิจพิเศษทำเฉพาะเรื่องปฏิรูปเท่านั้น ส่วนภารกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภารกิจที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง เช่น การผลักดันกฎหมายหรือนโยบายบางเรื่องอาจต้องชะลอไว้ก่อน เมื่อสภาปฏิรูปทำงานเสร็จ รัฐบาลก็ประกาศยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่ที่เห็นชอบร่วมกัน

หลักการคือต้องปฏิรูปให้เห็นทิศทางก่อน ไม่ใช่เดินหน้าเลือกตั้งแล้วกลับมาเหมือนเดิม คำว่า เหมือนเดิม ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม แต่หมายถึงเลือกตั้งกลับมาก็ขัดแย้งแบบเดิม

สิ่งที่เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชนเน้นย้ำเป็นพิเศษก็คือ โมเดลปฏิรูปไม่ควรไปเกี่ยวข้องหรือติดขัดเรื่องเทคนิคกฎหมาย หรือไปจัดประชุมระดมความเห็นกันซ้ำอีก แต่ควรก้าวไปสู่การทำให้เป็นรูปธรรมเลย ฉะนั้นจึงไม่ต้องเปิดเวทีในลักษณะสัมมนาเพื่อระดมความเห็นฝ่ายต่างๆ อีกแล้ว เพราะจะมีข้อถกเถียงเต็มไปหมด แต่เลือกใช้วิธีแถลงอย่างละเอียดต่อสาธารณชนแทน โดยเครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชนไม่ใช่ คนกลาง แต่เป็นผู้จัดเวทีความคิดเพื่อแสวงหาทางออก

กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้อิงฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ชุมนุม เพราะหากสังคมไทยเห็นดีด้วยจนเป็นฉันทามติ ก็จะกดดันให้คู่ขัดแย้งหลักทั้ง กปปส.และรัฐบาลหันมาร่วมด้วยเอง


ฟ้าเปิด!โอกาสการเมืองภาคประชาชน

ภาวะประชาธิปไตยระบบตัวแทนทรุดต่ำ โอกาสปฏิรูป-เพิ่มอำนาจประชาชน

องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายสื่อมวลชน ประกอบด้วย สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการเสวนา เรื่อง "พลังภาคประชาชน ทางออกประเทศไทย ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" โดยมีตัวแทนขององค์กรร่วมจัดร่วมแสดงความคิดเห็น

นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ กรรมการสถาบันออกแบบประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปการเมืองนั้น ทางสถาบันฯ มองว่าควรมีกลไกเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรม และก่อให้เกิดระบบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายต่างๆ ได้จริง สำหรับทางออกของวิกฤติการเมืองในขณะนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมต่ออนาคตประเทศอย่างแท้จริง เห็นว่าต้องใช้ใจและสามัญสำนึก รวมถึงยอมรับการเป็นตัวแทนของประชาชน แม้จะมาจากคนอีกฝั่ง หรือมีความคิดไม่เหมือนตนก็ตาม

นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ควรมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะหากมาพูดกันหลังเลือกตั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกมองข้าม สิ่งที่ต้องเร่งปฏิรูปคือกฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะหลังจากที่ประเทศไทยมีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชัน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความพยายามร่างกฎหมายเพื่อประกอบอนุสัญญาจำนวน 3 ฉบับ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชันให้ครอบคลุมและเข้มแข็งขึ้น

เช่น ยืดอายุความของคดีคอร์รัปชัน การทวงคืนทรัพย์สินในคดีคอร์รัปชันที่โอนไปต่างประเทศ การเอาผิดบุคคลต่างชาติที่มีส่วนร่วมกับการทุจริตคอร์รัปชัน การกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในคดีคอร์รัปชัน รวมถึงการกำหนดให้คดีคอร์รัปชันเป็นภัยต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

กฎหมายดังกล่าวถูกตั้งเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีแล้ว 2 ครั้ง แต่ถูกตีกลับทั้งหมด รวมถึงร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเลย สำหรับทางออกของวิกฤติการเมืองตอนนี้ ส่วนตัวมองว่าต้องยกประเด็นการปฏิรูปให้เป็น "วาระของประชาชน" โดยไม่ต้องรอนักการเมือง

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมานักการเมืองพยายามบอกกับประชาชนว่าเมื่อได้รับเลือกตั้งถือได้รับสิทธิ์ขาดที่จะดำเนินการอย่างไรก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมองว่ามีอยู่ในทุกพรรคการเมือง

ดังนั้นสิ่งที่ต้องปฏิรูป คือ นอกจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแล้ว สำคัญที่สุดต้องมีระบบควบคุมให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้อย่างแท้จริง หากมีความเห็นต่างต้องมีกลไกในการพูดคุย

"ผมสนับสนุนและยืนยันว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนต้องมี แต่ต้องไม่ให้เข้าไปใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จหรือรวมศูนย์ รวมถึงต้องให้เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ขณะนี้มีการรวมตัวกันของประชาชนเกิดเป็นพลังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อกำกับการดำเนินการของรัฐและประชาธิปไตยตัวแทนแล้ว ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้พัฒนาต่อไป จะช่วยแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้" นพ.อำพล ระบุ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการสมาคมไอโอดี กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นนักการเมือง มองว่าจังหวะที่เกิดขึ้นปัจจุบันทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตกต่ำที่สุดทางวัฒนธรรม สังคม และถูกลดความน่านับถือ ทั้งนี้ในมุมมองของต่างชาติอยู่ในภาวะสงสัยกับปรากฏการณ์ของการเมืองไทย เช่น เถียงกันเรื่องอะไร จะปกป้องรัฐธรรมนูญหรือทำลายรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

"ผมมองว่าตอนนี้ถือเป็นจังหวะของการปฏิรูปของผู้มีอำนาจและประชาชนทั่วไป ไม่เช่นนั้นประชาชนจะออกมาขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ สิ่งที่ต้องย้ำให้ชัดเจนคือ เนื้อหา หากสื่อสารเรื่องเนื้อหาไม่ชัด จะทำให้มีปัญหาได้ ส่วนตัวมองว่าประชาธิปไตยขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุด ดังนั้นต้องเลือกใช้ยาหรือกระบวนการที่จะรักษาให้เหมาะสม หัวใจคือการทำเวทีให้มีความยืดหยุ่นทั้งระดับและขนาด เพราะความขัดแย้งที่มีนั้น โจทย์มีความหลากหลาย ทั้งทางกฎหมายที่ต้องใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติ และการแก้ปัญหาในแง่มุมอื่นๆ สิ่งสำคัญคือต้องรักษาผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในทางการเมือง"

นายจักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อมวลชนไม่ได้ระมัดระวัง คือ การส่งวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังออกไปต่อสาธารณะ ดังนั้นต้องเลือกรับสื่อโดยมีความเข้าใจ หากมองทางออกในแง่ของสื่อมวลชน ส่วนตัวมองว่า 1.สื่อในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญส่งสารไปสู่ประชาชนต้องมีความสมดุลทุกขั้นและทุกฝ่ายให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านเพื่อให้ใช้ประกอบการตัดสินใจ และ 2.การให้สติกับสังคมว่าสิ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่ารีบเร่ง เพราะสติเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้บ้านเมืองผ่านวิกฤติไปได้

ขณะที่ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทของสื่อกับการมีส่วนร่วม หากเข้าใจคำว่าผู้ประกอบการธุรกิจกับผู้มีวิชาชีพสื่อก็จะลดปัญหาได้ พื้นที่ของสื่อที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสาธารณะลดลงหลังปี 2540 เพราะก่อนหน้านั้นสามารถขุดคุ้ยได้ แต่หลังจากนั้นจิตวิญญาณของสื่อหายไปเพราะการถูกแทรกแซง คำถามคือจะจัดการภาวะใหม่อย่างไร

"ขณะนี้เราได้ให้ความไว้วางใจกับ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ดำเนินการในการจัดสรรคลื่นความถี่และกฎหมายควบคุมสื่อ แต่การดำเนินการของ กสทช. ไม่เป็นที่น่าพอใจ ผมสนับสนุนการร่วมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปต่อไป และส่วนตัวจะเข้าร่วมขบวนการเป่านกหวีดต่อไปด้วย นั่นคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปโดยภาคประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมือง"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โมเดล ปฏิรูปประเทศ เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน

view