สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัดผลงาน2ปีกสทช-ทำงานอืด-ล็อกสเปก-ส่อทุจริต

จาก โพสต์ทูเดย์

เวทีเสวนาสื่อไทยจวกยับผลงาน 2 ปี กสทช. นักวิชาการชี้กระบวนการทำงานล่าช้า-เข้าข่ายล็อกสเปก-ส่อใช้งบไม่โปร่งใส

เวทีเสวนาสื่อไทย (Thai Media Forum) หัวข้อ “2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้อภิปรายได้จำแนกข้อบกพร่องในการทำงานของ กสทช. ในหลายประเด็น

สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ “กสทช.กับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลื่นอย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน” ตอนหนึ่งว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัดซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อคนในสังคม ไม่เช่นนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่กับคนบางกลุ่มและสร้างปัญหาขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

สำหรับปัญหาของ กสทช. ขณะนี้ ประกอบด้วย 1.การออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะยังไม่มีความชัดเจน ทราบเพียงว่าจะใช้วิธีคัดเลือกคุณสมบัติหรือบิวตี้คอนเทสต์ แต่ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ 2.กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กทปส.) มีเป้าหมายคือสนับสนุนงานชุมชน แต่ปัจจุบันพบว่ายังไม่มีวิทยุชุมชนใดได้รับการสนับสนุนจาก กทปส.

3.กิจการโทรคมนาคมยังมีปัญหาการจัดสรรคลื่น โดยเฉพาะบริการโทรศัพท์คลื่น 1,800 ที่สัญญาหมดอายุแล้ว แต่ กสทช.กลับไม่เรียกคืนคลื่นมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูล 4.การจัดสรรคลื่นกิจการโทรคมนาคมในกิจการดาวเทียม โดยกฎหมายระบุชัดว่ากสทช.ต้องจัดให้มีการประมูลคลื่นแต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อ้างเพียงแต่ไม่สามารถจัดสรรคลื่นผู้ประกอบการภาคอวกาศ (ดาวเทียม) ได้ เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจอธิปไตย ทำได้เพียงจัดสรรภาคพื้นดินซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง

“ที่ผ่านมาผมเคยเป็นคณะกรรมการ กสทช.ด้วย แต่ทนไม่ไหวจึงต้องลาออกมา เนื่องจากคณะกรรมการที่เหลือไม่รับฟังข้อทักท้วง หรือรับฟังแต่เมื่อประชุมครั้งต่อไปกลับมีพฤติกรรมกลับหลักเกณฑ์ไปๆ มาๆ”ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว

จากนั้นเวทีเสวนาเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะและพื้นที่ภาคประชาชน” โดย จีรนุช เปรมชัยพร มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน กล่าวว่า มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ มี 24 กลุ่มก้อนธุรกิจเข้าร่วม ซึ่งเท่ากับ 24 ช่องทีวีสำหรับจัดสรร คำถามคือมีความพยายามจะทำให้วิน-วิน หรือไม่อย่างไร

จีรนุช กล่าวอีกว่า น่าแปลกใจที่ต้องมาเรียกร้องให้ กสทช. ออกหลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์สำหรับทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ และแม้มีการออกมาบ้างแล้วบางส่วนแต่หลักเกณฑ์ที่กำหนดออกมานั้นกลับตั้งคุณสมบัติไว้อย่างเฉพาะ ผู้ที่จะเข้ามาได้เป็นเพียงบางกลุ่มเข้าข่ายล็อกสเปก นอกจากนี้กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20% ที่เปิดให้ภาคประชาชนร่วมเป็นเจ้าของ แต่ กสทช.กลับจัดสรรไว้โดยคิดบนพื้นฐาน 20% ของ 12 ช่อง (ชุมชน) ไม่ได้จัดสรรจากช่องทั้งหมด

ขณะที่ประเด็น “กองทุน กทปส. : ล็อคสเปกหรือเท่าเทียม” วิชาญ อุ่นอก สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนตื่นตัวเรื่องแนวคิดการเป็นเจ้าของสื่อแต่ปัญหาคือไม่มีงบประมาณ โดยปัจจุบันสถานการณ์วิทยุชุมชน (รับโฆษณาไม่ได้) ปัจจุบันทั่วประเทศมีประมาณ 700 สถานี ได้รับใบอนุญาตทดลองออกอากาศประมาณ 400 สถานี

ปัจจุบันกองทุน กทปส. มีเงินอยู่ 3,100 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 บัญชี โดยบัญชีที่เกี่ยวข้องกับภาคชุมชนถูกจัดสรรไว้เพียง 400 ล้านบาท ในจำนวนนี้ กสทช. จะพิจารณาสนับสนุนเพียง 150 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตามประกาศผลการจัดสรรกองทุนปี 2556 จากจำนวนผู้ขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 225 โครงการ มีโครงการที่ได้รับเงินเพียง 10 โครงการ

“กทปส.ไม่มีการกำหนดเป้าหมายการทำงานโดยพิจารณาโดยไม่สนใจว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องเร่งด่วน นอกจากนี้ กทปส.ควรจะปรับโครงสร้างกรรมการให้มีคณะทำงานที่เอื้อให้กับภาคชุมชนจริงๆ เพราะชุมชนๆ ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อแย่งชิงเงินสนับสนุนได้” วิชาญ ระบุ

ส่วนประเด็น “ธรรมาภิบาล กสทช.” วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ชำแหละว่า เท่าที่ติดตามการทำงานของ กสทช. พบปัญหา 4 ข้อ 1.การเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือล่าช้าทั้งรายงานการประชุม การจัดซื้อจัดจ้าง และไม่พบว่าเคยเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ 2.การคัดเลือกบุคลากรยังเน้นไปที่โควตามากกว่าคุณสมบัติ

3.การรับฟังความเห็นร่างกฎหมายหรือประกาศต่างๆ ไม่รอบด้าน ทำเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น 4.กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนล่าช้าและยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดพบเรื่องค้างกว่า 1,000 เรื่อง 5.การใช้งบประมาณไม่โปร่งใส

“ผมได้รายงานการตรวจสอบภายใน กสทช. ที่ระบุว่าการใช้วิธีพิเศษจัดซื้อจัดจ้างมีปัญหาอย่างไรบ้าง เช่น การจัดงาน Mobile Expo งบ 16 ล้านบาท ที่เอกชนมายื่นเพียงรายเดียว และเสนอวงเงินที่ใกล้เคียงกับงบที่ตั้งไว้มาก และงบใช้เดินทางไปต่างประเทศก็สูงถึง 206 ล้านบาท ใช้งบพีอาร์ 113 ล้านบาท” วรพจน์ เปิดข้อมูล

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันว่า กสทช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ สตง.ต้องเข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะบัญชีการเงินและการตั้งงบประมาณซึ่ง สตง.จะพิจารณาว่าอยู่ในขอบข่ายงานของ กสทช. หรือไม่ และวิธีที่การจัดซื้อจัดจ้างเหตุใดต้องใช้วิธีพิเศษ เพราะเงินที่ กสทช.ใช้ ถือเป็นเงินของแผ่นดิน

สำหรับประเด็นสุดท้ายของการเสวนาคือ “การกำกับดูแลเนื้อหาอย่างไม่ละเมิดเสรีภาพและสิทธิการกำกับดูแลกันเองของสื่อ” ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตของช่องว่างในมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเฉพาะความไม่เหมาะสมต่อการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ

ทั้งนี้ มาตรา 37 ของกฎหมาย กสทช. ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าข่ายลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง และยังกำหนดมาตรการเน้นควบคุมรายการเชิงข่าวอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นคือร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นการเซ็นเซอร์สื่อก่อนการออกอากาศและมีเนื้อหาที่ใช้คำที่กว้างและกำกวม เช่น ความมั่นคงแห่งรัฐ หรือศีลธรรมอันดีงาม นั่นหมายความว่าขึ้นอยู่กับการตีความของ กสทช. เท่านั้น คำถามคือเหตุใดจึงปล่อยให้ กสทช. องค์กรเดียวเป็นทั้งผู้ที่จัดสรรคลื่น เป็นทั้งผู้กำกับสื่อ และมีอำนาจะถอนใบอนุญาตสื่อ

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการออกร่างประกาศฉบับดังกล่าว และร่างดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนใดๆ นอกจากนี้แม้ว่า กสทช. จะไม่มีร่างประกาศก็ยังคงสามารถทำงานต่อไปได้


2ปี'กสทช.'ส่อแววล้มเหลว ขาดธรรมาภิบาล

นักวิชาการวิพากษ์ "2 ปีกสทช." ส่อแววล้มเหลว-ขาดธรรมาภิบาล

นักวิชาการ ภาคประชาชน เปิดเวทีวิพากษ์การทำงาน 2 ขวบปี คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในงานเสวนาเวทีสื่อไทย(ไทย มีเดีย ฟอร์รั่ม) หัวข้อ "2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม" จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทและมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การมีกสทช.ถือเป็นความก้าวหน้าระบบการกำกับดูแล สกัดไม่ให้ไปข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ฝ่ายการเมือง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ

แต่ทั้งนี้ที่ยังไม่อาจปลดล็อกได้ คือ เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ โปร่งใส พร้อมสร้างกลไกการติดตามตรวจสอบการทำงานที่เห็นผล เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

เขากล่าวว่า คลื่นความถี่มีอยู่จำกัด สวนทางกับความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประเด็นคือแม้เทคโนโลยีเอื้อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทว่าไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมดไปได้

ดังนั้นจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ จัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน มิเช่นนั้นถูกผ่องถ่ายไปยังผู้ประกอบการจำนวนน้อย ยิ่งปัจจุบันมูลค่าคลื่นมีมากขึ้น ยิ่งต้องทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง

พร้อมยกตัวอย่างว่า ปัญหาการจัดสรรคลื่นยังมีอยู่ชัดเจนเช่นกรณีคลื่น 1800 ทั้งที่หากสัญญาสัมปทานหมดอายุต้องคืนและนำไปประมูลใหม่ และทั้งที่ทราบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว และควรต้องเตรียมการ แต่น่าเสียดาย กสทช. กลับไม่ได้ทำหน้าที่อย่างดีพอ

ล้มเหลว-ไม่โปร่งใส

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการภายใต้คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NTBC Policy Watch) กล่าวเสริมว่า จากการติดตามตรวจสอบธรรมมาภิบาลภายในกสทช.ได้พบถึงความล้มเหลว 5 ประเด็นได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เช่นรายงานการประชุมและรายงานผลการศึกษาล่าช้าและไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

2. ด้านกระบวนการจัดทำและกำหนดนโยบายยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร โดยพบว่า การคัดเลือกอนุกรรมการในการนำเสนอชุดนโยบายทำผ่านระบบโควตามากกว่าคุณสมบัติ มีการหลีกเลี่ยงการออกประกาศหรือคำสั่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการใช้ดุลยพินิจของกสทช.

3.กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่มีการรับฟังให้รอบด้านก่อนออกประกาศ บางกรณีใช้ทรัพยากรไปกับการรับฟังภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม ขณะที่ 4.การรับและจัดการเรื่องร้องเรียนของประชาชนมีกระบวนการหลายขั้นตอนทำให้ใช้เวลาแก้ไขเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

และ 5.การใช้งบประมาณ เห็นได้ว่า บางรายการไม่มีการแจกแจงให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น งบประชาสัมพันธ์ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีรายการที่จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ทั้งที่ควรสอบหรือประกวดราคา ที่ใช้สูงมากยังมีงบไปต่างประเทศและมีแนวโน้มว่าต่อไปจะสูงขึ้นไปอีก

ทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้น

นายเอนก นาคะบุตร มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา แสดงความคิดเห็นในมุมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ว่า ควรมีการทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งปลายน้ำ ทั้งด้านเนื้อหา ช่องทาง และตัวกฎหมายอย่างพ.ร.บ.กสทช.

พร้อมระบุให้ชัดเจนว่าใครที่ควรได้ใช้ทรัพยากรที่มี อีกทางหนึ่งขอให้ภาคประชาชนมีอำนาจ กระบวนการทำงานได้รับการตรวจสอบจากนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ สำคัญก่อให้เกิดการกระจายอำนาจ ขอเสนอว่าหากต้องการปฏิรูปจริงจังต้องทำให้ครอบคลุมตั้งแต่เจตนารมณ์ทางกฎหมายสอดคล้องไปกับการทำงานของภาคประชาชน

ขณะที่ นางสาวจิรนุช เปรมชัยพร มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน กล่าวถึงบทบาทกสทช.ต่อการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและอื่นๆ ว่า ขอให้ทำงานด้วยความชัดเจน ขณะเดียวกันคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นธรรมในการแข่งขัน ความเป็นเจ้าของสำหรับภาคประชาชน มีการตรวจสอบโครงสร้างการบริหารซึ่งจะสะท้อนความเป็นอิสระจากการเมืองและธุรกิจ มากกว่านั้นควรมีแผนการจัดสรรและที่มาของงบประมาณที่ชัดเจน รวมถึงพิจารณาออกใบอนุญาตในลักษณะร่วมกันประกอบกิจการ

พร้อมระบุว่า จาก 2 ปีมานี้ที่ได้ติดตามการทำงานโดยมีประเด็นยิบย่อยที่ต้องไล่ตามจำนวนมาก จากวันนี้อาจต้องลองตั้งหลักกันใหม่ โดยช่วยกันวางบทบาทให้มีความชัดเจน รวมทั้งติดตามไม่ให้ใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลงาน2ปี กสทช ทำงานอืด ล็อกสเปก ส่อทุจริต

view