สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปการเมืองไทย-ต้องปฏิรูปการซื้อเสียง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

หลังจากการประกาศยุบสภาของรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการเมืองของไทยกลับยิ่งติดล็อกเข้าไปมากกว่าเดิม โดยแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ยังคงกดดันให้รัฐบาลลาออก และใช้แนวทางการจัดตั้ง “สภาประชาชน” ให้เป็นองค์กรในการแก้ปัญหา

พร้อมทั้งให้มีการตั้ง “คนกลาง” เข้ามาจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารประเทศใหม่ แล้วจึงค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 จะสามารถมีการเลือกตั้งได้หรือไม่ และหากเลือกตั้งไม่ได้ จะทำให้เกิดช่องว่าง หรือสุญญากาศของการบริหารประเทศ และหรือ “คนกลาง” ที่กล่าวถึงจะเข้ามาบริหารประเทศภายใต้บทบัญญัติหรือกฎหมายฉบับใด ส่งผลต่อความสับสนของประชาชน รวมทั้งความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเดินไปทางใด

เนื่องจากขณะนี้กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งจากโครงการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชน ต่างอยู่ในสภาวะหยุดนิ่งรอความชัดเจนของการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าหลายองค์กรทั้งจากข้าราชการ และองค์กรเอกชนได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหาทางออกของประเทศในช่วงที่กลไกกฎหมายดูเหมือนไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา และสถาบันผู้แทนราษฎรไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้กระแสค่อนข้างออกมาตรงกันว่า ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งซึ่งเรื้อรังมากว่า 10 ปี โดยจะต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย สะท้อนจากภาคเอกชน ประกอบด้วยเครือข่าย 7 องค์กร เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย และองค์กรที่เกี่ยวกับตลาดทุน

ข้อเสนอจาก 7 องค์กรเอกชน คือ ให้มีการตั้ง “องค์การเพื่อการปฏิรูปประเทศ” ก่อนการเลือกตั้ง โดยวางกรอบให้กลุ่มที่มีความขัดแย้ง รวมถึงพรรคการเมืองต้องมีการทำสัตยาบันร่วมกัน เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ทำหน้าที่เฉพาะการปฏิรูป และเมื่อสามารถตกลงแนวทางร่วมกันได้ จึงให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำได้หรือไม่ อีกทั้งหากพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงข้างมากก็จัดตั้งรัฐบาล แล้วถ่วงเวลาบริหารประเทศไปเรื่อยๆ ปัญหาความขัดแย้งก็กลับมาอีก

ทางด้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มข้าราชการเกี่ยวกับประเด็นขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก โดยระดับปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงได้มีการแสดงจุดยืน โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่อาจสำเร็จด้วยการเลือกตั้งแต่เพียงลำพัง โดยให้ทุกฝ่ายหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องทำสัญญากับประชาคม ไม่ใช่กับพรรคการเมือง”

ขณะเดียวกัน ทางซีกรัฐบาลดูเหมือนว่าเห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปประเทศ เพียงแต่ต้องการดำเนินการหลังจากการเลือกตั้งซึ่งดูเหมือนว่าค่อนข้างขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน ว่าต้องการให้มีการหาแนวทางออกด้วยการปฏิรูประบบการเมืองไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวทางแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกระแสของประชาชนส่วนใหญ่ล้วนแต่ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองไทยที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการปรองดองยุติความขัดแย้งของประเทศ ซึ่งมีความเปราะบางที่จะทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นอาจเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

อีกทั้งส่งผลต่อความเสียหายของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการปฏิรูปการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลามาก เพราะต่างฝ่ายก็เชื่อมั่นแนวคิดของตนเอง มีการปักธงไว้ในใจเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะทำได้เร็วที่สุด จะต้องให้มีระบบปฏิรูปการซื้อสิทธิ ขายเสียง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการคอร์รัปชั่นในระดับนโยบาย ทำให้ระบบผู้แทนราษฎรของไทยขาดความน่าเชื่อถือ กลายเป็นรัฐสภาแบบทุนนิยมติดยึดอยู่กับบุคคลซึ่งให้ผลประโยชน์ มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์หรือความเสียหายของประเทศ

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งปฏิรูปให้ได้ก่อนวันที่จะมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 2 ก.พ.ที่จะถึงนี้ หรือจะวันไหนก็แล้วแต่ ที่สุดแล้วระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูปการเมืองไทย ปฏิรูปการซื้อเสียง

view