สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (1)

ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังจากปรากฏมากว่าสิบปี คอลัมน์นี้ขาดหายไปเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กราบขออภัยในความผิดพลาดซึ่งเป็นของผมเพียงผู้เดียว

ในช่วงนี้ บรรณาธิการเสนอให้ผู้เขียนคอลัมน์มาระดมสมองกันโดยเน้นในด้านการชี้แนะว่าประเทศของเราน่าจะปฏิรูปอย่างไร ตามความเข้าใจของผม คำว่าปฏิรูปนั้นกว้างมากและเนื่องจากเมืองไทยมีปัญหาพื้นฐานหลายด้าน ฉะนั้น การปฏิรูปจึงต้องครอบคลุมทุกด้านที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นในด้านใดรวมทั้งในด้านเศรษฐกิจซึ่งผมมีความแตกฉานมากกว่าด้านอื่นและจะมุ่งเน้นต่อไปในสัปดาห์หน้า

ผมเข้าใจว่า เป้าหมายของการปฏิรูปได้แก่การเปิดทางให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคงและชาวไทยโดยทั่วไปดำเนินชีวิตได้อย่างสงบสุข ประสบการณ์อันยาวนานในด้านการพัฒนาชี้ชัดว่า อุปสรรคหมายเลขหนึ่งของการพัฒนาได้แก่ปัญหาเรื่องความฉ้อฉล โดยทั่วไป ประเทศที่พัฒนาได้ก้าวหน้ามีระดับความฉ้อฉลต่ำกว่าประเทศล้าหลัง ประเด็นนี้ผมได้นำมาชี้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วเมื่อปี 2543 ในหนังสือชื่อ “ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ” ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของคลังเอกสารสาธารณะ www.OpenBase.in.th การละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมทุกอย่างเป็นความฉ้อฉลไม่ว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมาย หรือการละเมิดศีลธรรมจรรยา

เรื่องความฉ้อฉลร้ายแรงอันเป็นปัญหาสังคมของไทยในเชิงเปรียบเทียบกับสังคมอื่นโดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ความฉ้อฉลในด้านการเมืองของไทยที่แพร่หลายและสร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในปัจจุบันได้แก่การซื้อสิทธิ์ขายเสียงและการใช้อิทธิพลในกระบวนการเลือกตั้งซึ่งหลายฝ่ายคลั่งนักคลั่งหนาว่าต้องทำเพราะมันเป็นครรลองของระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาดูจะลืมไปอย่างง่ายดาย หรือแกล้งลืมไปก็ได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยจะต้องไม่มีการใช้ความฉ้อฉลเช่นนั้น หรือพวกเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งทุกครั้งบริสุทธิ์ผุดผ่องตามครรลองของประชาธิปไตย? ถ้าพวกเขามองเห็นเช่นนั้น ผมเห็นว่าพวกเขาตาบอด หรือถูกปิดตาด้วยอวิชชา หรือไม่ก็ด้วยอามิส ฉะนั้น ถ้าจะมีการเลือกตั้งในกระบวนการเมือง เรื่องความฉ้อฉลผ่านการใช้อิทธิพลและการซื้อสิทธิ์ขายเสียงต้องไม่มี

มองจากทางด้านเศรษฐกิจ ความฉ้อฉลเป็นการเพิ่มต้นทุนของการผลิต หรือลดระดับประสิทธิภาพของสังคม ยกตัวอย่างเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะ 30% ของราคาโครงการรัฐบาลซึ่งองค์กรเอกชนตีแผ่ออกมาแล้วว่าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจนแทบไม่มีกรณียกเว้น เงินใต้โต๊ะนั้นเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่โครงการอย่างแจ้งชัดอยู่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ ความฉ้อฉลยังครอบคลุมไปถึงการทำงานซึ่งขาดมาตรฐานแต่รัฐบาลรับว่าใช้ได้อีกด้วย อาทิเช่น การสร้างถนนและสนามบิน การก่อสร้างที่มีมาตรฐานต่ำกว่าที่น่าจะเป็นนำไปสู่ความชำรุดทรุดโทรมเร็วกว่าปกติส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณซ่อมแซมก่อนกำหนดเวลา ยิ่งกว่านั้น ผู้รับเหมาซ่อมแซมยังต้องจ่ายใต้โต๊ะอีก 30% ของราคางานอีกขั้นหนึ่งด้วย ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเวลาที่ผู้รับเหมาทั้งหลายต้องใช้ไปในการวิ่งเต้น หรือในการหาทางฮั้วกันในโครงการรัฐบาลแทนที่จะใช้เวลานั้นทำงานตามปกติ ฉะนั้น การปฏิรูปประเทศจะต้องมุ่งไปที่จะทำอย่างไรจึงจะลดระดับความฉ้อฉลของคนไทยลงได้อย่างมีนัยสำคัญเป็นอันดับแรก

การลดความฉ้อฉลอาจเกิดได้สองทาง นั่นคือ ทางจิตสำนึกของสมาชิกในสังคมและทางการใช้กฎหมาย ทันทีที่พูดถึงจิตสำนึกมักมีผู้เสนอให้ไปใช้บริการของวัดในพุทธศาสนา ผมมองว่า ข้อเสนอนั้นเป็นการใช้กำปั้นทุบดินโดยไม่ได้มองว่า ตัวเจ้าปัญหาตัวหนึ่งของสังคมไทยได้แก่วัดและกระบวนการทางศาสนานั่นแหละ พระร้อยละเท่าไรที่แตกฉานในด้านแก่นของพระคัมภีร์? พระร้อยละเท่าไรที่ใช้วัดเป็นฐานของการหารายได้? พระร้อยละเท่าไรที่แสวงหาสมณศักดิ์ด้วยการให้สินบน? พระร้อยละเท่าไรที่มุ่งเน้นไปในทางสร้างวัตถุสารพัดอย่างรวมทั้งอาคารและพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในโลก? โดยสรุป ในเมื่อความฉ้อฉลสูงก็มีอยู่ทั่วไปในวงการศาสนา วัดจะช่วยแก้ปัญหาโดยการปลูกจิตสำนึกไม่ได้หากไม่มีการปฏิรูปวัดและกระบวนทางศาสนาด้วย

กฎหมายเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้สมาชิกในสังคมไม่กล้าฉ้อฉล หรือลดความฉ้อฉลลง ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่มีอยู่นานแล้วว่า คดีความฉ้อฉลจะต้องไม่หมดอายุความและความฉ้อฉลขั้นร้ายแรงต้องมีโทษถึงประหาร แต่ ณ วันนี้ ปัจจัยที่ไม่มีการตรากฎหมายเช่นออกมาได้แก่นักการเมืองเป็นหัวเรือใหญ่ในด้านการทำความฉ้อฉลเสียเอง ฉะนั้น กระบวนการปฏิรูปประเทศจะต้องไม่มีนักการเมืองร่วมด้วย นอกจากนั้น ผมยังมีข้อสงสัยหลายอย่าง อาทิเช่น ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะอะไรผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจึงยังลอยนวลอยู่ได้ในสังคมดังกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น? เพราะอะไรผู้ที่ออกมาบอกว่าตนไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความผิดฐานละเมิดศาล? เพราะอะไรผู้ที่ไม่ยอมรับอำนาจของศาลไทยเช่นนักโทษที่หนีคดีไปอยู่ในต่างประเทศจึงยังฟ้องผู้อื่นในศาลไทยได้?

ข้อสงสัยเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างในกระบวนการยุติธรรมของไทยซึ่งทำให้กฎหมายไร้ หรือใกล้ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ รัฐที่กฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์เป็นรัฐล้มเหลว รัฐที่กฎหมายใกล้ไร้ความศักดิ์สิทธิ์เป็นรัฐกึ่งล้มเหลว ผมมองว่า ถ้ากฎหมายไร้บทลงโทษอย่างหนัก ไม่มีการบังคับใช้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย หรือการบังคับใช้เป็นไปแบบไร้มาตรฐานดังที่เห็นๆ กันอยู่ จะพยายามปฏิรูปกันไปสักเท่าไรก็ป่วยการเพราะมันไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้แม้แต่เพียงเสี้ยวเดียว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (1)

view