สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาปฏิรูปฯ...เหล้าเก่าในขวดเก่า

สภาปฏิรูปฯ...เหล้าเก่าในขวดเก่า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สิ้นเสียงนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเที่ยวล่าสุด เมื่อ 14.30 น.วานนี้

ซึ่งเป็นการเปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ "ฉบับรัฐบาล" บอกตรงๆ ว่ายังไม่เห็นหนทางว่าจะช่วยดับวิกฤติความขัดแย้งที่รุมเร้าประเทศ รุมเร้ารัฐบาลอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร

สรุปง่ายๆ คือ ข้อเสนอของรัฐบาลก็มึนๆ งงๆ ไม่แพ้ "สภาประชาชน" ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และพลพรรค กปปส.

ฟังคำแถลงของนายกฯแล้ว พิมพ์เขียวสภาปฏิรูปประเทศครั้งนี้ดูจะคล้ายๆ พิมพ์เขียวปฏิรูป (ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเรียกชื่ออะไรแน่ สภาปฏิรูป หรือคณะกรรมการปฏิรูป) ที่นายกฯยิ่งลักษณ์ จุดพลุขึ้น (โดยแถลงผ่านทีวีพูลเหมือนกัน) เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดการชุมนุมใหญ่ (ที่ไม่ใหญ่จริง) ของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และได้เชิญนักการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่ายไปประชุมกันนัดแรกเมื่อ 25 ส.ค.

คนในรัฐบาลอ้างว่าจนถึงปัจจุบัน สภาปฏิรูปที่ริเริ่มกันในตอนนั้นก็ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเคลื่อนไหวอะไร ตรงไหน เพราะผู้ประสานงานหลักอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ก็พ้นโทษตัดสิทธิทางการเมือง เตรียมแต่งตัวลงเลือกตั้งเป็นเบอร์ 1 ปาร์ตี้ลิสต์พรรคชาติไทยพัฒนาแล้ว

การเปิดพิมพ์เขียวเมื่อจวนตัวของ นายกฯยิ่งลักษณ์ จึงแทบให้ผลไม่ต่างอะไรกับการตั้งประเด็นปฏิรูปประเทศของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่การแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน กับ หมอประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการและสมัชชาปฏิรูปประเทศ

การแต่งตั้งในครั้งนั้นดูจะดีกว่าพิมพ์เขียวของนายกฯยิ่งลักษณ์ในวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะด้านหนึ่งเป็นการตั้งจากข้างเดียว เห็นชอบอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นฝ่ายหนึ่งของคู่ขัดแย้ง และในกระบวนการทำงานก็มีส่วนร่วมจากฝ่ายที่เห็นต่างน้อย

ส่วนผลสรุปก็ชัดเจนว่าไม่มีใครหยิบมาทำ แน่นอนว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ครองอำนาจต่อจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ซึ่งไม่ได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดนี้ย่อมไม่หยิบมาทำแน่นอน แต่ขนาดพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้แสดงความสนใจกดดันให้รัฐบาลนำไปใช้ หรือนำไปทำเป็นนโยบายของพรรคตนเองสำหรับบริหารประเทศเพื่อมีโอกาส

แม้แต่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ที่ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีความเป็นกลางพอสมควร และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะสานต่องาน คอป. ทว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่หยิบอะไรในรายงานมาทำเลย แม้แต่เยียวยาก็ทำเพื่อหวังผลทางการเมือง

นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อนักการเมืองและพรรคการเมืองในภารกิจปฏิรูปประเทศ และส่วนหนึ่งได้แปรมาเป็นผู้ชุมนุม กปปส.ในวันนี้

และสาเหตุที่ กปปส.มีสมาชิกหนาแน่น ชุมนุมมาร่วม 2 เดือนแรงยังไม่ตก ก็เพราะพลังที่เกิดจากความไม่เชื่อถือรัฐบาลที่พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ใครค้านก็ไม่ฟัง ลงมติผ่านร่างกฎหมายตอนตี 3 นั่นเอง

นี่คือเหตุผลที่ทำให้มวลชนของคุณสุเทพ เรียกร้องให้นายกฯลาออกจากรักษาการด้วย เหตุผลก็เกิดจากความไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อถือเป็นด้านหลัก เผลอไม่ได้เป็นสอดไส้ดันกฎหมายช่วยพี่ชายตัวเอง แม้กระทั่งล้มหลักการสำคัญที่สุดของประเทศและของโลกอย่างเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันก็ยังทำ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้สรุปว่าต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของ กปปส. แต่ในฐานะที่ยังเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าการใช้ยุทธวิธีถอยไปทีละขั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือรักษาอำนาจเอาไว้ในมือให้นานที่สุด แล้วถอยไปทีละขั้นเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันของผู้ชุมนุมและซื้อเวลา

เริ่มตั้งแต่การถอยเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย ด้วยการส่งสัญญาณให้ที่ประชุมวุฒิสภาคว่ำร่าง แต่เมื่อม็อบยังไม่หยุด ก็ถอยด้วยการยุบสภา ตามด้วยการเปิดเวทีระดมความเห็นหาทางออกของประเทศโดยรัฐบาล ทว่าเมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็ถอยไปอีกขั้นด้วยการเปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ

สังเกตได้ว่าการถอยแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการถอยด้วยการแถลง และเป็นการแถลงก่อนหน้าวันนัดชุมนุมใหญ่ทุกรอบ เห็นชัดที่สุดคือการแถลงยุบสภาเมื่อเช้าวันที่ 9 ธ.ค. และการแถลงเปิดพิมพ์เขียวก่อนนัดชุมนุมใหญ่ 22 ธ.ค.เพียง 1 วัน

สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจ และเชื่อว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมได้ เพราะเมื่อใช้วิธีแก้แบบการเมือง ผลที่ได้ย่อมหนีไม่พ้นการเมือง แก้โจทย์แบบเอาตัวรอด โจทย์จะยิ่งเพิ่มและจะยิ่งรัดคอ

หากจะปฏิรูปประเทศจริงๆ ต้องจริงใจ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีต คอป.ก็เคยบอกเอาไว้ เข้าใจว่าได้หารือเป็นการส่วนตัวกับนายกฯด้วย ประเด็นสำคัญคือกระบวนการปฏิรูปต้องไม่มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ต้องมีวิธีการหาคนเข้าร่วมอย่างเป็นกลาง เป็นธรรม และที่สำคัญคือต้องปฏิรูปความปรองดองไปพร้อมกัน

การจะปฏิรูปความปรองดอง แก้ไขปัญหาขัดแย้ง ต้องเริ่มจากผู้มีอำนาจยื่นมือไปจับกับประชาชนและคู่ขัดแย้งก่อน ถามว่าวันนี้คุณทำหรือยัง?

อย่าเอ่ยอ้างถึง เนลสัน แมนเดลา แค่เพียงลมปากหรือเอาเท่ แต่ควรพิจารณาเนื้อหาและความเสียสละที่นักต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธีผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ได้ทำด้วย!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สภาปฏิรูปฯ เหล้าเก่าในขวดเก่า

view