สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (2)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากระแสการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งซึ่งปรับเปลี่ยนมาเป็นการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเรียกร้อง

ให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ โดยปัจจุบันประเด็นถกเถียงคือจะปฏิรูปก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง ซึ่งในความเห็นของผมนั้นควรต้องดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญคือจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์เพื่อดำรงเอาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยซึ่งอิงกับเสียงของประชาชน การปฏิรูปก็จะต้องดำเนินการพร้อมกันไปอย่างรีบเร่งและเป็นขั้นตอน หมายความว่าพรรคการเมืองก็ควรนำเสนอรูปแบบและกระบวนการของการปฏิรูปการเมืองให้เป็นนโยบายเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นประเด็นเพื่อเลือกพรรคการเมืองดังกล่าวเข้าสู่อำนาจด้วย ผมเชื่อว่าการปฏิรูปการเมืองนั้นคงจะต้องรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่ายรวมทั้งนักการเมืองซึ่งเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมด้วยคงจะไม่ใช่การให้ “คนกลาง” และ “คนดี” ปฏิรูปการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะเราต้องการให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่มีความสมบูรณ์และนำไปสู่ความปรองดอง ซึ่งหมายความว่าจะต้องรับรู้และเข้าใจท่าทีและผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยรวมทั้งนักการเมืองไทยด้วย

ข้อเสนอของผมคือการจัดตั้งผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมา 1 คณะ ประมาณ 15-20 คน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ทางวิชาการ มีความ “เป็นกลาง” (ซึ่งหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ) กล่าวคือพร้อมรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายและมีประสบการณ์ในการเมืองระดับสูงที่ปัจจุบันมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งอาจยิ่งยากกว่าการหา “คนกลาง” เสียอีก) โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นผู้ที่วางกรอบและช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูป “การเมือง” ใน 3 เรื่องซึ่งจะทำโดยคณะกรรมอนุกรรมการ 3 คณะคือ

1. อนุกรรมการเพื่อลดคอร์รัปชัน

2. อนุกรรมการปฏิรูประบบการเลือกตั้งและการกระจายอำนาจ

3. อนุกรรมการกำหนดกรอบนโยบายประชานิยม

ทั้งนี้ให้อนุกรรมการทั้ง 3 ใช้เวลา 1 ปีเพื่อนำเสนอประเด็นดังต่อไปนี้

1. วิเคราะห์ปัญหาอย่างถ่องแท้และมีข้อมูลทางวิชาการยืนยันข้อสรุปต่างๆ

2. นำเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน

3. เสนอร่างแก้ไขกฎเกณฑ์และกฎหมายและหากจำเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาดังที่กล่าวในข้อ 2

เมื่อได้ข้อเสนอดังกล่าวแล้วให้คณะกรรมการนำข้อเสนอดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึงและหากจำเป็นให้แก้ไขข้อเสนอในประเด็นปลีกย่อยได้ ทั้งนี้เพื่อให้นำไปสู่การลงประชามติในทั้ง 3 เรื่องภายใน 6 เดือนหลังจากคณะอนุกรรมการเสนอรายงานต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้รัฐบาลต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีอาวุโสหรือนายกรัฐมนตรีเองให้เป็นผู้ประสานงานในการสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการอย่างเต็มที่และอาจเสนอความเห็นก็ได้ แต่จะไม่สามารถชี้นำหรือสั่งการคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการได้ แต่รัฐบาลจะต้องร่วมรับผิดชอบกับความสำเร็จของคณะกรรมการโดยการสนับสนุนให้ทั้ง 3 ข้อเสนอของคณะกรรมการได้รับความเห็นชอบโดยประชามติทั้ง 3 ข้อ หากข้อใดข้อหนึ่งไม่ผ่านประชามติ รัฐมนตรีผู้ประสานงานจะต้องลาออกจากตำแหน่งและนายกรัฐมนตรีจะต้องมาประสานงานเองเพื่อให้การปฏิรูปทั้ง 3 เรื่องผ่านประชามติภายใน 2 ปี หลังจากนั้นก็ให้ดำเนินการแก้ไขกฎเกณฑ์กฎหมายและรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอที่ผ่านประชามติแล้ว ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้โดยอยากให้ผ่านประชามติทั้ง 3 เรื่อง แต่หากผ่านเพียง 1 หรือ 2 เรื่องก็จะต้องนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เช่นกัน กล่าวคือ รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งจะอยู่ในตำแหน่งประมาณ 2 ปีเศษเท่านั้น

แนวทางข้างต้นย่อมมีข้อเสียคือ มีความเสี่ยงในระดับหนึ่งที่การดำเนินการจะไม่ราบรื่นตั้งแต่การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปซึ่งจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยอาจเกิดการฟ้องร้องต่อองค์กรอิสระได้ ที่สำคัญคือ การปฏิรูปดังกล่าวจะต้องพึ่งพาความจริงใจ ความทุ่มเทและความเป็นกลางของรัฐบาลซึ่งจะต้องยึดถือผลประโยชน์ของส่วนรวมในระยะยาวที่ต้องการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานอย่างเบ็ดเสร็จที่สุด จึงสมควรที่พรรคการเมืองต่างๆ ควรจะแสดงจุดยืนและ/หรือทำสัญญาประชาคมที่จะยึดถือกรอบและกระบวนการในการปฏิรูปการเมืองที่มีความชัดเจนมากที่สุดก่อนการเลือกตั้งและเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็จะได้ทำตามกรอบที่ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้โดยทันที

แน่นอนว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปดังกล่าวจะต้องใช้ทรัพยากรและความเอาใจใส่ของภาครัฐและทุกภาคส่วนของประเทศอย่างจริงจังและเต็มความสามารถ ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ กล่าวคือ เรื่องเศรษฐกิจจะต้องเป็นเรื่องรองและการปฏิรูปการเมืองจะเป็นเรื่องหลัก นอกจากนั้น นักการเมืองก็จะต้องสำนึกว่าทั้งเรื่องคอร์รัปชันและนโยบายประชานิยมเป็นเรื่องที่มีปัญหาสร้างความขัดแย้งสูง ดังนั้น จึงสมควรที่จะยับยั้งการกระทำใดๆ ที่จะทำให้ถูกโจมตีและตำหนิในเรื่องดังกล่าว หมายความว่านักการเมืองจะต้องแสดงความยับยั้งชั่งใจด้วย เพื่อเป็นการแสดง “ความรับผิดชอบ” และ “ความจริงใจ” ที่จะแก้ปัญหาและนำมาซึ่งความสมานฉันท์ หากยังหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมแบบสุดกู่หรือมีข่าวออกมาว่ายังมีพฤติกรรมด้านโกงกินไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่กำลังดำเนินกระบวนการปฏิรูปการเมือง ก็จะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในนักการเมือง แต่สำหรับผมนั้นสิ่งที่สำคัญคือการรักษาศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการเมืองที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากของประเทศครับ

ในตอนต่อไปผมจะขอนำเสนอแนวทางในเรื่องของการปราบคอร์รัปชัน การตีกรอบนโยบายประชานิยมและการปฏิรูประบบการเลือกตั้งและการกระจายอำนาจครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หาทางออกให้กับประเทศไทย (2)

view