สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อีลอน มัสก์ และ สตีฟ จ็อบส์

อีลอน มัสก์ และ สตีฟ จ็อบส์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ไสว บุญมา

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สตีฟ จ็อบส์เป็นอัจฉริยะในด้านการนำเทคโนโลยีร่วมสมัยกับการประกอบการชั้นยอดมา ผสมผสานกัน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีตลาดขนาดใหญ่มาก

ตัวชี้ วัดในอัจฉริยภาพของเขาได้แก่ บริษัทแอปเปิล ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก หลังจากสตีฟ จ็อบส์ จากโลกไปสองปี มีผู้เสนอว่า ณ วันนี้ มีนักธุรกิจอัจฉริยะเท่าเทียมกับเขาปรากฏตัวออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อย่างแจ้งชัดแล้ว ชื่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้เสนอได้เล่าเรื่องราวของเขาไว้ในนิตยสาร Fortune ฉบับประจำวันที่ 9 ธันวาคม ซึ่งยกย่องเขาให้เป็น นักธุรกิจแห่งปี 2013

ผู้ต้องการทราบ เรื่องราวของ อีลอน มัสก์และเข้าไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตจะได้ข้อมูลมากมาย จากประวัติส่วนตัวของเขาซึ่งเกิดในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี 1971 จากแม่ชาวแคนาดาและพ่อชาวแอฟริกาใต้ การเล่าเรียนและการเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน จนถึงการทำธุรกิจหลายอย่างจากอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลเหล่านั้นไม่มีการเปรียบเทียบระหว่างเขากับสตีฟ จ็อบส์ในแนวที่มีอยู่ในนิตยสารดังกล่าว จึงขอนำบางส่วนมาเล่าสู่กัน

ในปัจจุบัน อีลอน มัสก์ มีธุรกิจ 3 อย่างซึ่งต่างกับของบริษัทแอปเปิลโดยสิ้นเชิงนั่น คือ ผลิตยานอวกาศ โดยบริษัท Space Exploration Technologies หรือ SpaceX ผลิตรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันเป็นพลังงานขับเคลื่อนโดยบริษัท Tesla Motorsและผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยบริษัท SolarCity

ธุรกิจทั้ง สามนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกันในด้านของการมองโลกระยะยาวของเขาว่า มนุษยชาติจะอยู่รอดได้จะต้องใช้ยุทธศาสตร์สองด้านร่วมกัน นั่นคือ (1) จะต้องลดการใช้พลังงานที่ทำลายโลกอยู่ในปัจจุบัน ด้านนี้มีกิจการ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อน (2) จะต้องออกไปตั้งอาณานิคมอยู่นอกโลกใบนี้ โดยเฉพาะที่ดาวอังคารเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับวันที่โลกไม่มีทรัพยากรเหลือ อยู่มากพออีกต่อไป ด้านนี้มีกิจการผลิตยานอวกาศเป็นตัวขับเคลื่อน

ผู้เล่าเรื่องราวของสองอัจฉริยะสรุปว่า มรดกตกทอดของสตีฟ จ็อบส์ มิใช่บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก หากเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้นักคิดนอกกรอบรุ่นต่อ ๆ มากล้าทำนวัตกรรมจำพวกเปลี่ยนโลกและการพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีชั้นดีอาจ มีความงดงามได้ ส่วนของอีลอน มัสก์ จะมิใช่ทรัพย์สินที่เขากำลังสร้างขึ้น ซึ่งภายในสิบปีอาจทำให้เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก (ตอนนี้เขามีทรัพย์สินราว 9 พันล้านดอลลาร์) หากเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความคงอยู่ของมนุษยชาติ

ผู้เล่ามองว่า สองคนนี้มีสองอย่างร่วมกันที่ผลักดันให้ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง นั่นคือ การคิดที่ครอบคลุมระบบต่าง ๆ จำนวนมากได้ภายในกรอบเดียวกัน และการยึดมั่นในวิสัยทัศน์ของตนแบบหัวชนฝา

ทั้งคู่ไม่ใช่นักประดิษฐ์ที่คิดค้นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง หากมีความสามารถชั้นยอดในการมองเห็นภาพว่าจะนำสิ่งต่าง ๆ มารวมกันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมกับสร้างแรงจูงใจให้เกิดตลาดขนาดยักษ์ได้อย่างไร

ความสามารถนั้นเกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการทำงานของเทคโนโลยีที่ตนเอง ไม่มีความเชี่ยวชาญ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะจูงใจให้เกิดความรู้สึกต้องการในหมู่ผู้อาจต้องการ ใช้ โดยเฉพาะในด้านจิตวิทยาพื้นฐานของการบริโภค และการสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

จริงอยู่ ผู้อื่นก็มีความสามารถชั้นยอดในด้านการนำสิ่งต่าง ๆ มารวมกันให้เป็นภาพใหญ่ขึ้นในหัวสมองของตนจนอาจเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่ทำให้สตีฟ จ็อบส์ และอีลอน มัสก์ ต่างจากเขาเหล่านั้น ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ตนมองเห็นนั้นเป็นไปได้ และพร้อมที่จะทุ่มเททุกอย่าง

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้มันเกิดขึ้น ความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นแบบหัวชนฝานั้นมีพลังมากพอที่จะจูงใจให้ผู้อื่น เข้าร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาด้วย

ผู้เล่า เรื่องราวของทั้งสองมองว่า ผู้ที่ต้องการทำงานให้มีผลใหญ่หลวงต่ออนาคตอาจนำแนวคิดในชีวิตการงานของสอง คนนั้นไปใช้ ได้แก่ (1) ฝันให้ใหญ่เข้าไว้ (2) ไม่มุ่งเน้นการแสวงหาความร่ำรวย (3) ทำตามความคิดที่ใหญ่กว่าระดับของตนเองในปัจจุบัน (4) ขยายจิตใจของตนให้กว้างขึ้น (5) คิดจากนอกกรอบของหลักวิชา (6) พยายามสัมผัสแบบต่าง ๆ ที่สร้างแรงจูงใจได้สูงที่สุดในโลก (7) ทำสิ่งต่าง ๆให้ เรียบง่ายที่สุดจนมันเรียบง่ายกว่านั้นไม่ได้อีกแล้ว (8) ศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำสมัยให้แตกฉาน (9) อย่าจำกัดตนเองให้อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และ (10) แสวงหาความเป็นไปได้ในอนาคตแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งพบบางอย่างที่มีขนาดยักษ์จริง ๆ และตนศรัทธาว่าเกิดขึ้นได้

แนว คิดเหล่านั้นเป็นเสมือนบัญญัติ 10 ประการ ที่ผู้เล่ากลั่นออกมาจากการศึกษาชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ และอีลอน มัสก์ จริงอยู่ในช่วงชีวิตของสองคนนี้มีผู้คิดว่า พวกเขาบ้าไปแล้ว แต่ผู้เล่านำหลักปรัชญาของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์มาแก้ต่างให้

ครั้งหนึ่งปราชญ์ชั้นแนวหน้าผู้นั้นพูดว่า "มนุษย์ธรรมดาปรับตนให้เข้ากับโลก ส่วน มนุษย์ไม่ธรรมดาพยายามอย่างไม่หยุดยั้งครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะปรับโลกให้ เข้ากับตน ความก้าวหน้าทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะมนุษย์ไม่ธรรมดา" จากมุมมองของผู้เล่า สตีฟ จ็อบส์ และอีลอน มัสก์ ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เขาทั้งสองทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อีลอน มัสก์ สตีฟ จ็อบส์

view