สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สืบสาแหรก กฤดากร-ภิรมย์ภักดี ในวันที่ ตั๊น จิตภัสร์ เปลี่ยนนามสกุล

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
“ตั๊น” น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ณ อยุธยา แนวร่วม "กบฎนกหวีด" แห่งปี 2556
       ASTVผู้จัดการ – ย้อนดูประวัติ “สกุลกฤดากร” และ “สกุลภิรมย์ภักดี” ในวันที่ทายาท “ตั๊น” จิตภัสร์ ต้องเปลี่ยนจากนามสกุลพ่อกลับไปใช้นามสกุลฝั่งแม่ พบเรื่องราวในอดีตที่เชื่อมโยงกับปัจจุบันอย่างเหลือเชื่อระหว่าง “กบฏนกหวีด 2556” กับ “กบฏบวรเดช 2476” และพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับ “เบียร์สิงห์”
       
       การประกาศเปลี่ยนนามสกุล “ภิรมย์ภักดี” ของฝั่งพ่อ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เป็น “กฤดากร” ของฝั่งแม่ ม.ล.ปิยาภัสร์ (กฤดากร) ภิรมย์ภักดี ของ “ตั๊น” น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หนึ่งในแกนนำของแนวร่วมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อ “ตระกูลภิรมย์ภักดี” เจ้าของ “ผลิตภัณฑ์ตราสิงห์” บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
พ่อ-แม่-ลูก
       ด้วยสาเหตุดังกล่าวทีมงาน ASTVผู้จัดการ จึงดำเนินการสืบค้นข้อมูลของ “สกุลกฤดากร” และ “สกุลภิรมย์ภักดี” และพบว่ามีเรื่องราวน่าสนใจดังนี้
       
       สกุลกฤดากร
       
       ต้นสกุล “กฤดากร” คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร พระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดากลิ่น
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ หรือ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร ต้นสกุลกฤดากร
       กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์มีพระโอรส-ธิดา ทั้งสิ้น 14 พระองค์ โดยหนึ่งในพระโอรส คือ ม.จ.เสริมสวาสดิ์ กฤดากร ซึ่งมีโอรสกับม.ล.แส สนิทวงศ์ คือ ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กฤดากร บิดาของ ม.ล.ปิยาภัสร์ กฤดากร มารดาของ “ตั๊น จิตภัสร์”
       
       อนึ่ง ม.ล.แส สนิทวงศ์ นั้นถือเป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากับ ม.ล.บัว กิติยากร พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
       
       ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สมรสกับ ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ผู้ตามเสด็จฯตกที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2540 โดยบุตรสาวคนโตระหว่าง ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กับ ท่านผู้หญิงวิยะฎา คือ ม.ล.ต้น ปิยาภัสร์ ซึ่งเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
ภาพท่านผู้หญิงวิยะ ฎา กฤดากร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มารดาของ ม.ล.ต้น ปิยาภัสร์ และคุณยายของ ตั๊น จิตภัสร์ ก่อนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ผู้ตามเสด็จตกที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2540
       ม.ล.ปิยาภัสร์ กฤดากร สมรสกับ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ทายาทของนายจำนงค์ ภิรมย์ภักดี และคุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี มีบุตร 3 คนคือ “ตั๊น” จิตภัสร์, “ตุ๊ย” นันทญา และ “ต่อย” ณัยณัพ
       
       บุคคลในราชสกุลกฤดากร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปก็คือ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ซึ่งได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่” เจ้าของวาทกรรม “เงินทองของมายา...ข้าวปลาสิของจริง” โดยทรงริเริ่มทดลองปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ณ สถานีทดลองเกษตรแม่โจ้ ซึ่งบ่มด้วยความร้อนจนเป็นผลสำเร็จ ต่อมาได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้มากให้แก่เกษตรกรทางภาคเหนือ ทั้งยัง ม.จ.สิทธิพร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อปี พ.ศ.2490 และ พ.ศ. 2491 ในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ทั้งได้รับรางวัลแมกไซไซ ด้านบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. 2510
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
ม.จ.สิทธิพร กฤดากร (ซ้าย) และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (ขวา) ผู้ร่วมก่อการและแกนนำ “กบฏบวรเดช” ที่พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2476
       ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏผู้ร่วมก่อการกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระเชษฐา ใน “กบฏบวรเดช” เมื่อ พ.ศ. 2476 ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต คุมขังที่เรือนจำบางขวาง แล้วย้ายไปคุมขังที่ทัณฑนิคม เกาะตะรุเตา ก่อนย้ายมาเกาะเต่า ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ.2487
       
       สายเลือดและสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลสำคัญในสกุลกฤดากร อย่าง “พระองค์เจ้าบวรเดช-ม.จ.สิทธิพร” ผู้นำกบฏบวรเดชพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร กับ “จิตภัสร์ กฤดากร ณ อยุธยา” จึงกลายเป็นความบังเอิญในรอบ 80 ปี ที่ใครหลายคนถึงกับอุทานว่า “เหลือเชื่อ” ดังที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เคยกล่าวไว้ว่า
       
       “ก่อนหน้านี้ นักวิชาการสายแดงเรื่อๆ ก็ประณามกระบวนการประชาภิวัฒน์ของมวลมหาประชาชนภายใต้การนำของลุงกำนันว่า เป็น “กบฏอนุรักษ์นิยมครั้งที่ 2” ต่อจากครั้งแรกคือกบฏบวรเดชเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 อยู่แล้ว พอ “ตั๊น” จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี มีอันต้องเปลี่ยนนามสกุลเป็น “กฤดากร ณ อยุธยา” ก็เลยเข้าทางเสื้อแดงบางพวกบางเหล่าทันที พากันชี้นิ้วว่าเห็นมั้ยๆ นี่คือสายตระกูลของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช (พระนามเดิมคือ ม.จ.บวรเดช กฤดากร) ผู้ก่อกบฏอนุรักษ์นิยมครั้งแรกเมื่อปี 2476 ไง
       
       “ผู้หญิงคนนี้เลยตกเป็นเหยื่อของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง แห่งยุคสมัยไปอีก หลังจากเพิ่งตกเป็นเหยื่อการรักษาธุรกิจของสายตระกูลข้างพ่อไปก่อนแล้ว
       
       “ที่จริง เธอก็แค่เพียงเป็นหลานตาทวดคนหนึ่งของ ม.จ.เสริมสวาสดิ์ กฤดากร ผู้เป็นโอรสร่วมบิดาเดียวกับ ม.จ.บวรเดช กฤดากร เท่านั้น”
ส.ว.คำนูณ ระบุ

       
       

       
       สกุลภิรมย์ภักดี
       
       ต้นสกุลภิรมย์ภักดี คือ บุญรอด เศรษฐบุตร หรือ พระยาภิรมย์ภักดี (พ.ศ.2415-2493) เป็นบุตรของพระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) กับนางมา เศรษฐบุตร เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ที่ย่านจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
บุญรอด เศรษฐบุตร หรือ พระยาภิรมย์ภักดี (พ.ศ.2415-2493) ต้นสกุลภิรมย์ภักดี
       ข้อมูลจาก “ภิรมย์ภักดี...จากตระกูลขุนนางสู่เส้นทางธุรกิจ" โดย วิมล อุดมพงษ์สุข ระบุว่า “นายบุญรอด เศรษฐบุตร มุ่งที่จะเจริญรอยตามบิดาในเส้นทางราชการ ด้วยความเฉลียวฉลาดและใฝ่รู้ทางการศึกษาพระยาภิรมย์ภักดีจึงได้รับคัดเลือก ให้เป็นครู หากแต่เมื่อสอบเข้าเป็นเลขานุการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ได้กลับถูกยับยั้งไม่ให้ออก พระยาภิรมย์ภักดีจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูไปทำงานเป็นเสมียนโต้ตอบ จดหมายภาษาอังกฤษที่โรงเลื่อยของห้างกิมเซ่งหลี และห้างเด็นนิมอตแอนด์ดิกซัน การเลือกเส้นทางธุรกิจแทนการรับราชการของคนไทยแท้ๆ อย่างพระยาภิรมย์ภักดี จึงเป็นการแหวกกฎเกณฑ์ค่านิยมของสังคมไทยในยุคนั้น
       
       “ประสบการณ์ ทักษะและความจัดเจนทางธุรกิจได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการสะสมทุน พระยาภิรมย์ภักดีจึงตัดสินใจพลิกชีวิตของตนมาเป็นเจ้าของกิจการ จากกิจการค้าไม้ การเดินเรือโดยสาร และริเริ่มความคิดที่จะก่อตั้งโรงงานผลิตเบียร์แห่งแรกขึ้นในประเทศ ในขณะที่มีอายุ 57 ปี”
       
       ทั้งนี้ นายบุญรอด เศรษฐบุตร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อตอนจะก่อตั้งโรงเบียร์ โดยมีบันทึกไว้ในสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย โดยระบุไว้โดยสรุปได้ดังนี้
       
       ในปี พ.ศ.2473 พระยาภิรมย์ภักดี ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีพระยาโกมารกุลมนตรี เป็นเสนาบดี พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยเห็นว่า เบียร์เป็นสินค้าที่ชาวต่างประเทศได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศสยามนานแล้ว ทำให้มีเงินออกนอกประเทศมาก ถ้าสามารถผลิตขึ้นได้เองก็จะป้องกันเงินออกนอกประเทศ และประหยัด รวมทั้งได้ประโยชน์ที่จะสามารถขายได้ราคาถูกกว่า สามารถใช้ปลายข้าวแทนข้าวมอลต์ ทำให้กรรมกรไทยมีงานทำ
       
       ความคิดที่จะผลิตเบียร์ขึ้นเองของพระยาภิรมย์ภักดีนั้น เนื่องมาจากท่านมีกิจการเดินเรือเมล์ระหว่างตลาดพลูกับท่าเรือราชวงศ์โดยใช้ ชื่อว่าบริษัท บางหลวง จำกัด ต่อมารัฐบาลได้เริ่มสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและตัดถนนเชื่อมตลาดพลูและประตู น้ำภาษีเจริญ ทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้ จึงต้องหาทางขยับขยายกิจการไปทำกิจการค้าอย่างอื่นเพื่อรองรับ เมื่อศึกษาเห็นว่าเบียร์สามารถผลิตในประเทศเขตร้อนได้ จึงได้เริ่มโครงการที่จะตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
       
       เมื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีการพิจารณากันอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลยังไม่เคยมีนโยบายมาก่อน
       
       ระหว่างที่รอการอนุญาตจากทางรัฐบาล พระยาภิรมย์ภักดีได้เดินทางไปเมืองไซ่ง่อน ประเทศอินโดจีน ในปี 2474 เพื่อศึกษาแบบแปลนเครื่องจักร ตลอดจนวิธีผลิตเบียร์ หลังจากรัฐบาลพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์และการเก็บภาษี เบียร์ผ่านไปประมาณ 1 ปี จึงได้อนุญาตให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ได้ แต่ห้ามการผูกขาด และให้คิดภาษีเบียร์ในปีแรกลิตรละ 1 สตางค์ ปีที่สองลิตรละ 3 สตางค์ ปีที่สามลิตรละ 5 สตางค์ ส่วนปีต่อๆ ไปจะพิจารณาตามที่เห็นสมควร
       
       ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม 2475 กระทรวงมุรธาธร โดยพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า ได้รับรายงานจากกรมสรรพสามิตว่า นายลักกับนายเปกคัง ยี่ห้อ “ทีเคียว” ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ขึ้นจำหน่ายในพระราชอาณาเขต โดยรับรองว่า จะผลิตเบียร์ชนิดที่ทำด้วยฮ็อพและมอลต์ชนิดเดียวกับเบียร์ต่างประเทศ โดยจะผลิตประมาณ 10,000 เฮกโตลิตรต่อปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชกระแสว่า...
       
       “เป็นเรื่องแย่งกับพระยาภิรมย์ และถ้าให้ทำก็คงทำสำเร็จก่อนพระยาภิรมย์ภักดี เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มคิดก่อนและเป็นพ่อค้าไทยกลับจะต้องฉิบหายและทำไม่ สำเร็จ”
       
       ทรงเห็นว่าไม่ควรอนุญาต
       
       “พระยาภิรมย์ขอทำก่อน ได้อนุญาตไปแล้ว เวลานี้ยังไม่ควรอนุญาตให้ใครทำอีกเพราะจะมีผล 2 อย่าง คือ 1. คนไทยกินเบียร์กันท้องแตกตายหมดเพราะจะแย่งกันขายลดราคาแข่งกัน 2. คงมีใครฉิบหายคนหนึ่ง ถ้าหากไม่ฉิบหายกันหลายคน”

       
       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนว่า “ไม่ควรอนุญาตให้ผลิตในเวลานี้ ควรรอดูว่า พระยาภิรมย์จะทำสำเร็จหรือไม่ และคอยสังเกตเรื่องการบริโภคก่อน นอกจากนั้นผู้ขออนุญาตรายนี้เป็นคนต่างด้าว จึงสามารถที่จะอ้างได้ว่า ต้องอุดหนุนคนไทยและอุตสาหกรรมที่มีทุนไทยก่อน” จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังตอบว่า
       
       “ยังไม่ให้อนุญาต รัฐบาลได้อนุญาตไปรายหนึ่งแล้ว ต้องรอดูก่อนว่าจะได้ผลอย่างไร เพราะเรื่องนี้สำคัญสำหรับความสุขของราษฎร และฝ่ายพระยาภิรมย์จะใช้ข้าว และผลพลอยได้ (Byproduct) ของข้าวด้วยฝ่ายรายที่ขออนุญาตใหม่ไม่ใช้ข้าวเลย”
       
       มีข้อที่น่าสังเกตที่พระยาวิษณุบันทึกไว้ว่า
       
       1. ที่จะอนุญาตให้พระยาภิรมย์นั้น ดูมีพระราชประสงค์จะอุดหนุนการตั้งโรงงานของไทย
       2. อัตราภาษี รายพระยาภิรมย์ภักดีนั้นเป็นทำนองรัฐบาลให้เป็นพิเศษแก่ผู้เริ่มคิด ให้ได้ตั้งต้นได้โดยใช้อัตราทั่วไป
       3. รายใหม่นี้ในเงื่อนไขไม่ได้กำหนดภาษีลงไป แต่คลังรายงานเป็นทำนองว่า จะเก็บภาษีอัตราเดียวกับที่จะเก็บจากพระยาภิรมย์
       4. แม้ตกลงไม่ให้โมโนโปลี (Monopoly) แก่พระยาภิรมย์ภักดี แต่ก็เคยมีพระราชดำริอยู่ว่าชั้นนี้ควรอนุญาตให้พระยาภิรมย์ทำคนเดียวก่อน ถ้าให้หลายคนก็เป็น อิคอนอมิก ซูอิไซด์ (Economic suicide)
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
โฆษณาเบียร์ตราว่าวปักเป้า และตราสิงห์ พ.ศ.2479
       เบียร์ไทยที่ผลิตออกมาครั้งแรกในปี 2477 นั้นได้นำไปทดลองดื่มกันในงานสโมสรคณะราษฎรเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงเปิดป้ายบริษัทเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2477 เบียร์รุ่นแรกที่ผลิตออกมาและวางจำหน่ายในราคาขวดละ 32 สตางค์นั้นมีเครื่องหมายการค้าอยู่หลายตรา รวมทั้งตราสิงห์
       
       ความเติบโตทางธุรกิจมาจนถึงรุ่นเหลนพระยาภิรมย์ภักดีในวันนี้ ในมุมมองของจึงแยกไม่ออกจากพระมหากรุณาธิคุณในสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีต แต่อย่างใด
       
       สำหรับ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี บิดาของ “ตั๊น จิตภัสร์” ก็ถือว่าเป็นหลาน “พระยาภิรมย์ภักดี” และถือเป็น “สิงห์” รุ่นที่ 3 โดยนายจุตินันท์เป็นบุตรของ นายจำนงค์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และคุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
นายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เจ้าของเครื่องดื่มตราสิงห์ ทายาทสิงห์รุ่นที่ 3
       ขณะที่นายใหญ่แห่งสิงห์ คอร์เปอเรชั่น คนปัจจุบัน นายสันติ ภิรมย์ภักดี นั้นเป็นบุตรชายของ นายประจวบ ภิรมย์ภักดี บุตรคนที่ 2 ของ “พระยาภิรมย์ภักดี” โดยนายประจวบถือเป็นหัวใหญ่ของบุญรอดในรุ่นที่ 2 ร่วมกับ วิทย์ และจำนงค์ โดยประจวบมีโอกาสไปเรียนวิชาผลิตเบียร์ที่มิวนิก ประเทศเยอรมนี จนสำเร็จเป็นบริวมาสเตอร์คนแรกของเมืองไทย ซึ่งเมื่อพระยาภิรมย์ภักดีเสียชีวิตในปี พ.ศ.2493 ประจวบได้ขึ้นมารับตำแหน่งประธานบริษัท โดยมีวิทย์เป็นรองประธาน รับผิดชอบทางด้านการตลาด ส่วนจำนงค์เป็นกรรมการ รับผิดชอบด้านบัญชี
       
       ขณะที่ทายาทสิงห์รุ่นที่ 3 ประกอบไปด้วย ปิยะ ภิรมย์ภักดี บุตรชายคนโตของประจวบซึ่งจบการศึกษาเรื่องเบียร์มาจากที่เดียวกับบิดา และได้ชื่อว่าเป็นบริวมาสเตอร์คนที่ 2 ของประเทศไทย และ นายสันติ ภิรมย์ภักดี บุตรชายคนรอง ส่วนสาย วิทย์ ภิรมย์ภักดี มีบุตรชาย 2 คน คือ วุฒา และ วาปี ภิรมย์ภักดี ขณะที่ จำนงค์ ภิรมย์ภักดี มีบุตรชายเพียงคนเดียว คือ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี บิดาของ “ตั๊น จิตภัสร์”
สืบสาแหรก “กฤดากร-ภิรมย์ภักดี” ในวันที่ “ตั๊น จิตภัสร์” เปลี่ยนนามสกุล
นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี สิงห์รุ่นที่ 3 กับ บุตรสาว น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ที่วันนี้ต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลกฤดากร ณ อยุธยา

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สืบสาแหรก กฤดากร ภิรมย์ภักดี ตั๊น จิตภัสร์ เปลี่ยนนามสกุล

view