สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (2)

ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเสนอว่าจะพูดถึงด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่เพราะผมมีความแตกฉานในด้านนี้มากกว่าด้านอื่น

แต่ก็เน้นว่า ถ้าลดความฉ้อฉลอันเป็นปัญหาร้ายแรงของสังคมไทยไม่ได้อย่างมีนัยสำคัญ การปฏิรูปจะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายแม้แต่เสี้ยวเดียว บนสมมติฐานที่ว่า การปฏิรูปจะลดความฉ้อฉลได้ ขอเสนอข้อคิดทางด้านเศรษฐกิจไว้ให้ช่วยกันพิจารณา

ก่อนเขียนต่อไป ขอทำความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจที่เมืองไทยใช้อยู่ว่า เราใช้ระบบตลาดเสรีซึ่งมีระบบสังคมนิยมผสมอยู่บ้าง ชาวโลกโดยทั่วไปใช้ระบบนี้ยกเว้นเกาหลีเหนือและคิวบาซึ่งใช้สังคมนิยมแบบสุดขั้ว หรือคอมมิวนิสต์ ระบบตลาดเสรีกับระบบคอมมิวนิสต์อยู่ขั้วตรงข้ามกัน นระบบตลาดเสรี เอกชนเป็นเจ้าของทรัพยากรและทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นที่ดิน โรงงาน หรือร้านค้า และมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร หรือทำงานกับใคร ส่วนในระบบคอมมิวนิสต์ รัฐเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นและเป็นผู้สั่งจะให้ผลิตอะไรและใครจะนำไปปฏิบัติ ในระบบตลาดเสรีแบบผสม เอกชนมักเป็นเจ้าของทรัพยากรและทรัพย์สินเป็นส่วนใหญ่ในขณะที่รัฐเป็นเจ้าของมากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะเห็นว่าเหมาะสมกับสภาพสังคมของตน

อนึ่ง มักมีความเข้าใจผิดคิดกันว่าระบบตลาดเสรีมีขึ้นหลัง อดัม สมิธ เขียนหนังสือซึ่งมักรู้จักกันตามชื่อ The Wealth of Nations ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ. ศ. 2319 แต่สิ่งที่ อดัม สมิธ ทำคือ วิเคราะห์และสังเคราะห์แนวคิดและการปฏิบัติซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ในตอนนั้นแล้วรวมเข้าด้วยกันเป็นกรอบที่ครอบคลุมและเสนอแนวนโยบายที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มนุษยชาติยึดปฏิบัติแนวตลาดเสรีมาตั้งแต่วันที่เริ่มมีมนุษย์บนผิวโลก การปฏิบัติพื้นฐานได้แก่การแลกเปลี่ยนสิ่งของกันซึ่งมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่ทำ การแลกเปลี่ยนเป็นหัวใจของตลาด เนื่องจากการแลกเปลี่ยนนั้น มนุษย์เราต้องการทำอย่างเสรี ระบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเกิดขึ้น ระบบตลาดเสรีอยู่มาได้นานเพราะมันสะท้อนสัญชาตญานพื้นฐานสองอย่างของเรา ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปไม่ว่าจะทำอะไรบ้างจะต้องวางอยู่บนฐานและยึดหลักการของตลาดเสรี อย่างไรก็ดี เราจะต้องตระหนักว่า ณ วันนี้ ระบบตลาดเสรีมีปัญหาอยู่บ้าง เราจะทำอย่างไรให้มันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งจะเป็นทางนำไปสู่ความยั่งยืนจึงเป็นโจทย์พื้นฐานของการปฏิรูปเศรษฐกิจ

ในปัจจุบันนี้ ระบบตลาดเสรีมีปัญหาพื้นฐานอยู่ 3 ด้านด้วยกันคือ การใช้การบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นหัวจักรขับเคลื่อน ผู้บริหารบ้านเมืองเข้าไปก้าวก่ายพร้อมกับมีส่วนได้ส่วนเสียในภาวะที่ประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้และข้อมูลทัดเทียมกัน และการผูกขาด

“การบริโภค” ในที่นี้มิได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่เรารับประทาน หากครอบคลุมไปถึงการใช้สินค้าและบริการทุกชนิด สินค้าและบริการเหล่านั้นผลิตขึ้นมาจากการใช้ทรัพยากร ยิ่งบริโภคมากขึ้นเท่าไร การใช้ทรัพยากรย่อมเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น ยกเว้นในบางกรณีเมื่อเทคโนโลยีทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ในปัจจุบันนี้ โลกของเราค่อยๆ มีทรัพยากรน้อยลงเพราะมนุษย์เราได้เผาผลาญ หรือนำมันมาใช้จนหมดไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน โดยทั่วไปผู้คนส่วนใหญ่ต้องการบริโภค หรือใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง อีกทั้งจำนวนคนบนผิวโลกก็ยังเพิ่มขึ้นจนในวันนี้มีกว่า 7 พันล้านคนแล้ว

การเดินสวนทางกันของทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรเป็นปัจจัยพื้นฐานของปัญหาสารพัดชนิด จริงอยู่เทคโนโลยีที่เราคิดค้นขึ้นมาช่วยเราได้บ้างเป็นครั้งคราวเมื่อมันช่วยให้เราผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด อาทิเช่น การผลิตพืชอาหารที่ได้มาจากการ “ปฏิวัติสีเขียว” (Green Revolution) แต่มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้นและในบางกรณียังมีผลกระทบร้ายแรงตามมาอีกด้วย เพราะเหตุนี้ การปฏิรูปจะต้องตีโจทย์ให้แตก เราต้องลดการบริโภคของแต่ละคนลง หรือไม่ก็ต้องลดจำนวนคนลงให้อยู่ในภาวะสมดุลกับทรัพยากร สำหรับเมืองไทย การที่ป่าไม้เราหมดไปและแผ่นดินถล่มทลายเมื่อฝนตกหนักชี้ชัดว่าเรามีปัญหาใหญ่หลวง แต่นั่นเป็นเพียงด้านเดียว

ระบบตลาดเสรีจะมีประสิทธิภาพสูงตามอุดมการณ์เมื่อผู้อยู่ในสังคมมีปัจจัยหลายๆ อย่างทัดเทียมกันรวมทั้งในด้านข่าวสารข้อมูลและความรู้ความเข้าใจ แต่บนโลกใบนี้ยังไม่มีสังคมไหนที่ประชาชนมีปัจจัยทั้งหลายอย่างทัดเทียมกัน ฉะนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับผู้นำว่าจะทำอย่างไรประชาชนจึงจะมีโอกาสเข้าถึง หรือได้สิ่งเหล่านั้นเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้นำของประเทศที่ใช้ระบบตลาดเสรีเป็นจำนวนมากนอกจากจะไม่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแล้ว ยังเข้าไปก้าวก่ายเพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์อีกด้วย การละเมิดกฎเกณฑ์ข้อนี้มักมีขึ้นในรูปของการทำผิดกฎหมาย หรือไม่ก็ทำผิดศีลธรรมจรรยา เรื่องนี้มีอยู่ทั่วไปในเมืองไทยของเรา

ในโลกของความเป็นจริง ในบางกรณีเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผูกขาดซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ อาทิเช่น ระบบน้ำประชาและระบบไฟฟ้า ระบบเหล่านี้ต้องมีขนาดขั้นต่ำจึงจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหานี้มีวิธีแก้ไขซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน มักมีการผูกขาดซึ่งไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเช่นนั้นอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นในตลาดยา ในตลาดอาหาร หรือในตลาดการโทรคมนาคมและขนส่ง การได้มาซึ่งการผูกขาดเหล่านั้นอาจต่างกันไปตามแต่กรณี อาจมีการละเมิดกฎหมาย การละเมิดจรรยาบรรณ หรือการไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของตลาดเสรี แต่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็ได้ จะแก้ไขภาวะเช่นนี้หรือไม่อย่างไรเป็นโจทย์ที่ต้องมีภาคส่วนอื่นของสังคมไทยนอกจากภาคเศรษฐกิจเข้ามาร่วมพิจารณาหาคำตอบด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (2)

view