สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเทศชาติต้อง-รอมชอม-ครั้งยิ่งใหญ่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

สถานการณ์บ้านเมืองกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อทางแยกข้างหน้าทางหนึ่งกำลังจะเดินไปสู่ “เลือกตั้ง” ที่เต็มไปด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระสุนจริง จากที่มวลชนบางส่วนมองว่าไม่อาจเป็น “ทางออก” ที่จะพาประเทศหลุดพ้นวังวนปัญหา ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่งคือการเดินหน้าสู่ “ปฏิรูป” เพื่อจัดวางระบบโครงสร้างกันใหม่โดยสภาประชาชน ที่ยังเป็นหนทางที่ตีบตันเพราะมีตัวบทกฎหมายขวางจนยากจะก้าวข้าม

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ผู้ที่เคยคลุกคลีอยู่ทั้งในแวดวงการเมืองไทยและระดับนานาชาติ ประเมินสถานการณ์เมืองไทยขณะนี้ที่มีมวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมเวลานี้ ว่า เป็นเพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรู้สึก “Lonely In The Cowd” คือ เหงาเปล่าเปลี่ยวเดียวดายท่ามกลางฝูงชน คับอกคับใจ เครียด กลัว เหงา แต่ไม่รู้จะไปพูดกับใคร เพราะไม่รู้ว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวคิดอย่างไร

ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนบนถนนราชดำเนินทำสำเร็จ คือเอาแต่ละปัจเจกชนที่รู้สึกอึดอัดเปล่าเปลี่ยวมาตลอด มาต่อเชื่อมกันได้เหมือนกับไฟลามทุ่งไปทั่วประเทศ มากกว่าการแสดงออกในลักษณะนี้ในอดีต เข้าใจว่ามากกว่าหลายประเทศ ซึ่งทุกสังคมจะถึงจุดนี้ อย่างสหรัฐตอนที่ มาธิน ลูเธอร์ คิง นำคนเดินขบวน ที่วอชิงตัน ดี.ซี. หลายแสนคน ตูนีเซีย อียิปต์ ยูเครน ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวของคนที่มีความรู้สึกว่า ทิศทางของสังคม เป็นทิศทางที่ผิดจึงต้องดึงกลับและหาทิศทางใหม่

อย่างไรก็ตาม ทางออกที่เรามีมันอาจจะใช้ไม่ได้ในขณะนี้ เพราะทางออกนั้นคือทางออกที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ 12-13 ปีที่ผ่านมา กระบวนการรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ วิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหาในกรอบเดิม เพราะฉะนั้นอาจจะต้องตั้งคำถามใหญ่กว่านั้น กว้างกว่านั้น ไกลกว่านั้น คนส่วนหนึ่งมองว่ากรอบวิธีการมาตรการเดิมๆ เพียงแต่สะสมความกดดันมากขึ้น สั่งสมปัญหา ความผิดพลาดมากขึ้น

หนึ่งกระบวนการเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก มีสิทธิในการบริหารจัดการประเทศ แต่ว่าสิทธินั้นไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด ไม่ใช่ “ประทานบัตร” ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการเบ็ดเสร็จ ในโครงการที่เราได้ประทานบัตรมาเป็นเวลา 4 ปี 10 ปี 20 ปี แล้วแต่อายุประทานบัตร มันไม่ใช่ แต่ที่เป็นอยู่เหมือนกับได้เสียงข้างมากแล้วใช้ได้เต็มที่ไม่ต้องฟังอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าจะนำหลักประชาธิปไตยมาวิเคราะห์ อำนาจในระบอบประชาธิปไตยเป็นอำนาจที่จำกัด ทั้งโดยกรอบของเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่เกิน 4 ปี กำหนดโดยกระบวนการและวิธีการของรัฐธรรมนูญ กำหนดโดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดด้วยกลไกถ่วงดุล แม้แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีค่านิยมของสังคม

อดีตเลขาธิการอาเซียน วิเคราะห์ว่า ในระยะหลังนี้มีการใช้เสียงข้างมากที่ไม่ใช่ภายในกรอบกระบวนการของประชาธิปไตย เกิดเป็นคำใหม่ขึ้นว่าลัทธิเสียงข้างมาก “Majoritarianism” มีหลายที่ในโลกทั้ง รัสเซีย เวเนซุเอลา อียิปต์ โดยเอาเสียงข้างมากไปเป็นตัวตั้ง เป็นใบอนุญาตที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่ฟังเสียงข้างน้อย ไม่ฟังความถูกต้องเป็นธรรม ค่านิยมดีๆ ของสังคม สถาบันองค์กรตรวจสอบ

ทั้งนี้ วาระทางการเมืองขัดแย้งสูงมาก มีผลกระทบมาก และอาจไม่ได้คิดอย่างทะลุปรุโปร่ง ว่าจะมีผลกระทบตามมาอย่างไร ทั้งเรื่องนโยบายข้าว รถยนต์ บ้าน เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เรื่องการนิรโทษกรรม เต็มไปด้วยสภาพของความขัดแย้ง อันตรายอยู่ข้างหน้า โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทรัพยากรที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาหนักหน่วงของประเทศชาติ แต่ศาลปกครองบอกว่าคุณไม่ได้ทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ดูแลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถามประชาชนเชิงประชาพิจารณ์ สะท้อนให้เห็นว่ากำลังใช้ “Majoritarianism” มากกว่าใช้อำนาจ ที่จำกัดในกรอบของรัฐธรรมนูญ

“อันนี้คือสิ่งที่ผมตั้งคำถามหนักว่า แล้วจะหันไปสู่กรอบเดิมวิธีคิดเดิม มาตรการเดิมที่เรามีจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อล่อแหลม ข้างหน้าเต็มไปด้วยหน้าผาที่ก้าวพลาดเดินตกหน้าผาเลย น่ากลัวมากๆ ถึงเวลาที่ต้องหยุดคิดและถอดหัวใจระดมความคิด ประชาชนฉลาดขึ้นเยอะอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น เกิดองค์กรหน่วยงานที่ทำงานอย่างอิสระขึ้นมาหลากหลาย การมีตัวแทนทางการเมืองผ่านกระบวนการทางการเมือง 4 ปีครั้ง มันอาจจะไม่พอแล้วสำหรับสังคมไทย มันซับซ้อนขึ้นกว่านั้นเยอะ มีตัวแสดงเพิ่มขึ้นเยอะ มีตัวละครที่อยากขึ้นเวที ร่วมแสดง ร่วมมีส่วนในการชี้นำ กำหนด แก้ปัญหามากขึ้น”

สุรินทร์ อธิบายว่า สิบกว่าปีที่แล้วคนในต่างจังหวัดมีความรู้สึกว่า ตัวเองได้มีโอกาสมีสิทธิที่จะเข้ามาอยู่ในกระบวนการ เขารู้ตระหนักว่าเสียงของเขาสามารถที่จะประกาศทิศทางทางการเมืองได้ แต่ 10-12 ปีที่ผ่านมาอีกฟากหนึ่ง ที่กำลังตื่นตัวที่เห็นอยู่บนถนนขณะนี้ก็ตื่นเหมือนกันว่า ที่ตื่นและนำไปสู่นโยบายที่ผิดพลาดหลายอย่าง นำไปสู่หนี้สิน ความอ่อนเปลี้ยของสังคม นำไปสู่ปัญหาที่สั่งสมเพิ่มขึ้น นำไปสู่กลไกที่ล้มเหลวในการตรวจสอบ นำไปสู่อำนาจที่ล่อแหลมที่จะใช้ผิด ตำรวจ อัยการ ระบบข้าราชการทั้งหมด องค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบอ่อนเปลี้ยไปหมด

ระบบราชการกลายเป็นระบบครอบครัวเครือญาติที่ขยายวง รัฐวิสาหกิจเป็นเน็ตเวิร์กส่วนตัว การแต่งตั้ง โยกย้าย ให้ตำแหน่ง เป็นไปบนพื้นฐานของเหตุผลส่วนตัวผลประโยชน์ทับซ้อน “Cronyism” พรรคพวกนิยม ในวงราชการธุรกิจ ทำให้ระบบทั้งระบบ ขณะที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แทนที่ องคาพยพ ของไทย ระบบราชการไทย องค์กรต่างๆ ของไทย ภาคประชาชนไทย การศึกษาไทย แทนที่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เวทีการแข่งขันเรากลับถอยหลัง

“ห้าปีที่ผมอยู่ที่อาเซียนชัดเลยว่า “นักกีฬา” ที่เราส่งขึ้นเวทีไปแข่งขันในเวทีอาเซียนสู้เขาไม่ได้ คุณภาพลดลง ผมพูดทีเล่นทีจริงว่า นั่งอยู่ 10 คน ดูรู้ว่าคนไหนคนไทยโดยไม่ต้องมีป้ายอยู่ข้างหน้า คือคนที่เงียบที่สุด เพราะหนึ่งไม่ต่อเนื่อง สองไม่ได้เตรียมตัวมา สามไม่ได้ขึ้นมาเพราะความรู้ความสามารถ แต่ขึ้นมาเพราะ Cronyism จะให้ประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ อิงก์ ไปแข่งขันกับคนอื่นเขาในขณะที่อ่อนเปลี้ยไปทุกเรื่องทุกด้านนี่ไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จึงต้องคิดว่าหัวเลี้ยวหัวต่อตรงนี้เราจะเอาอย่างไร เดินหน้าเข้าซอกเข้ามุมที่แคบลง ดูแล้วอึดอัดหันซ้ายหันขวาติดหล่มไปหมด หรือจะหยุดแล้วคิดหาทางออก”

สุรินทร์ มองต่อไปว่า ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนที่ตระหนัก ตื่นตัวเวลานี้ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ 5 วินาที 4 ปีครั้งในคูหาเลือกตั้ง แต่ต้องทำให้ยั่งยืน ต้องทำให้ทุกคนสามารถที่จะนำไปสู่จุดการสร้างสติร่วม เจตนารมณ์ร่วม (General Will) เท่าที่เห็น ทุกฝ่ายขณะนี้สุดโต่งกันทั้งนั้น สุดโต่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เพื่อสถานภาพของตัว เพื่อสภาวะปัจจุบันของตัวเอง แต่ความสุดโต่งนั้นมันแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่มีการต่อรองไหนที่ทุกฝ่ายจะได้ 100% เหมือนกันหมด มันต้องมีรอมชอม “Give and Take”

อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ประเทศชาติต้องการการรอมชอมครั้งยิ่งใหญ่ “Grand Compromise” เพื่อสร้างสติร่วม เจตนารมณ์ร่วม จากนั้นจึงเดินหน้าไปสู่ การผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่ “Grand Coalition” เหมือนอย่างประเทศเยอรมนี ที่เร็วๆ นี้ สองพรรคใหญ่ คือ คริสเตียนเดโมแครต กับ โซเชียลเดโมแครต หันหน้าเข้าหากัน แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้หลายปีที่แล้วก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นอีกครั้งเพราะเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่น ปัญหาของยุโรปหนักหน่วง ถ้ายังมาแบ่งกันอยู่อย่างนี้ แก้ปัญหาไม่ได้ พรรคใหญ่ 2 พรรคจึงมาร่วมมือกัน

"คิดต่อไปข้างหน้าคือหลังการเลือกตั้ง ผลจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ มีรัฐบาลแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นการเดินหน้าถือเป็น Grand Compromise” ให้มันเกิดเงื่อนไขทุกคนพอใจมั่นใจ หลังจากนั้นจึงเป็น Grand Coalition ที่จะต้องช่วยกันคิดต่อไป ซึ่งไม่อยากบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทยจะต้องมาร่วมกันคิด แต่จะต้องเป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่จะต้องหันหน้าเข้าหากัน คือ Grand Compromise ก่อนเลือกตั้ง และ Grand Coalition หลังการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคการเมือง แต่ต้องเป็นภาคองค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรมต้องมีส่วน ภาคเอกชนต้องมีส่วน ภาคประชาสังคมต้องมีส่วน สื่อมวลชน ต้องมีส่วน ภาคการศึกษา สถาบันต้องมีส่วน"

ทั้งนี้ จะถือเป็น Grand Coalition ของประเทศทั้งหมด เพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดเท่าที่ประเทศที่เคยประสบ 81 ปีประชาธิปไตยไม่เคยหนักหน่วงเหมือนตอนนี้ ขณะนี้ เราเอาตัวรอดมาได้ แต่ละขั้นแต่ละตอนทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ มาถึงเหตุการณ์ปี 2553 เราไม่ได้แก้ปัญหา เพียงแต่หักมุมนิดๆ หน่อยๆ ลดความกดดัน แล้วก็เดินหน้าต่อ แต่เราไม่ได้แก้ปัญหา ในเชิงเจตนารมณ์ร่วม สติร่วม ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อ มี Grand Coalition

“ต้องลดทิฐิกันบ้างต้องมูฟมาสู่ตรงกลางกันบ้าง ตรงกลางคือผลประโยชน์ประเทศชาติ แต่เอกซ์ตรีมคือเรื่องส่วนตัวของทุกฝ่าย เฉพาะพวก เฉพาะฝ่าย เฉพาะกลุ่ม แต่ส่วนที่อยู่ตรงกลางมันกว้าง ซ้ายสุดขวาสุดมันแคบ ส่วนตรงกลางคือทางเดิน ทางเลือกของประเทศ เจตนารมณ์ร่วม อยู่ตรงนั้น สติร่วมอยู่ตรงนั้น”สุรินทร์ กล่าว

สปิริตรัฐธรรมนูญ สำคัญเท่ากับตัวอักษร

สุรินทร์ อธิบายว่า สถานการณ์ขณะนี้คือ สถานการณ์พิเศษ และรัฐธรรมนูญกระบวนการประชาธิปไตยเป็นแนวทางที่ดี แน่นอนเป็นเรื่องที่เราต้องยึดมั่นแต่เราต้องดูทั้งตัวอักษรรายมาตรา และต้องดูสปิริตของรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่ไปอ้างว่ารัฐธรรมนูญทำไม่ได้ รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพื่อให้มันทำได้มันมีช่องทางทั้งมาตรา 3,7, 68, 69, 70 มันมีช่องทาง ที่พูดมาทั้งหมดนี้เพื่อที่จะบอกว่าสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ "ยูนิค" มาก และเป็นสถานการณ์ที่ก้าวพลาดเดินพลาดตกเหวกันทั้งหมด

"สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยจะเลี่ยงได้ ความปรองดองในสังคมไทยจะเกิดขึ้นได้มันต้องเดินในหนทางของประชาธิปไตย ต้องเดินในกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่อย่าไปจำกัดตัวเองว่ารัฐธรรมนูญรายมาตรากำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ เลือกอ้างรายมาตรา เลือกอ้างกฎหมาย ผมคิดว่า สปิริตก็สำคัญ เท่าๆกับตัวกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องดูในกรอบว่าทางออกมันอยู่ตรงไหน รอมชอมกันได้อย่างไร ลู่ทางที่ชี้ไว้ ในทั้งรายลักษณ์อักษรและในรูปของสปิริต ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการหาทางออกในภาวะคับขันฉุกเฉินค่อนข้างอับจน

การชิงไหวชิงพริบกัน แก้เกมกันวันต่อวัน มันยืดเยื้อไม่ได้เพราะประเทศรอไม่ได้ ถึงจุดที่ต้องปรับโครงสร้าง วิธีคิด หาทางเลือกใหม่ให้กับสังคมไม่ใช่กรอบคิดเดิมวิธีเดิม ประชาธิปไตยเยส กรอบรัฐธรรมนูญเยส หลักการของรัฐธรรมนูญเยส นิติธรรมเยส แต่ไม่ใช่เฉพาะตัวบทหรือ ตัวอักษร แต่ต้องเป็นสปิริต และวิญญาณของประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ เพราะ ที่ผ่านมาเราค่อนข้างจะจำกัดตัว รัดตัวเองผูกมัดตัวเอง เลือกเอาวลี แนวคิดคอนเซปต์ ตัวบทที่เป็นประโยชน์สำหรับเรา บี้อีกฝ่ายหนึ่งด้วยตัวบทนั้น แต่อีกฝ่ายพอเขาสู้ไม่ถอย ถอยไม่ได้ต้องยันกัน จะปล่อยให้ประเทศชาติอยู่อย่างนี้ อับจนอยู่อย่างนี้ไม่มีทางออกไม่มีทางคิด ข้างหน้าคือเหว"

อดีตเลขาธิการอาเซียน วิเคราะห์ว่าการจะเดินหน้าต่อไปได้จะต้องมีจุดเริ่มต้น"Trigger Point" ต้องมีกลไกเปิดช่องให้เดินไปได้อาจจะเป็นสุญญากาศ อาจจะเป็นการลาออก อาจจะมีการตั้งรัฐบาลชั่วคราว "Interim" เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาซึ่งจะต้องเป็นที่ไว้ใจที่จะหาช่องทางที่จะเดินหน้าร่วมกัน อาจะต้องคิดในกรอบของสปิริตรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะนอกกรอบของตัวบทบ้างแต่เป็นเรื่องจำเป็นแต่เวลานี้กลับไปติดยึดกับตัวบท อ้างตัวบทที่เป็นประโยชน์ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่นรัฐธรรมนูญบอกว่าคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกฝ่ายแต่กลับสามารถประกาศออกมาได้ว่าไม่รับ ตรงนี้ทำให้บั่นทอนความเชื่อมั่นเหมือนกันว่าตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่

ส่วนคำถามว่าใครหรือหน่วยงานไหนจะมาเป็นแกนกลางเดินหน้าปฏิรูปนั้น ถ้ามี Trigger Point เชื่อว่าหาได้แต่ปัญหาตรงนี้คือ นั่งทับไว้ไม่ปล่อยให้เกิดสุญญากาศ ถ้าไม่เกิดสุญญากาศอันอื่นก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะประเทศไม่สามารถร้างรัฐบาลต้องมีรัฐบาล ส่วนจะหายังไงก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการประชาธิปไตย และสปิริตของรัฐธรรมนูญเพราะฉะนั้นทุกองค์กร ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาที่ทำหน้าที่รัฐสภา ไปจนถึงองค์กรอื่นใดก็ตามรวมทั้งสื่อมวลชนจะต้องตระหนักรู้ร่วมกัน "Common Awareness" ว่าเราถึงจุดวิกฤตจริงๆ เราต้องปล่อยวางส่วนซึ่งเป็นส่วนตัว ผลประโยชน์ความเห็น ความเกี่ยวพัน ความผูกพันส่วนตัว แล้วมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยเหตุด้วยผล โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติ อนาคตประเทศชาติ ซึ่งคนที่จะเข้ามาเป็นคนนำ จะต้องมีบารมีพอ ที่จะไประดมความคิดสร้างความรู้สึกว่าต้องร่วมมือกันจริง

ประเทศไทยรอไม่ได้"ปฏิรูป"บางส่วนก่อนเลือกตั้ง

ภาวะที่บ้านเมืองถูกดันมาจนถึงขอบหน้าผาสูงชันและยักแย่ยักยันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรระหว่าง “ปฏิรูป” และ “เลือกตั้ง” ในมุมมองของ สุรินทร์ มองว่า “ประเทศไทยรอไม่ได้” เพราะยิ่งหากปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไปยิ่งกระทบต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันนั้น ส่วนหนึ่งสามารถทำได้ก่อนการเลือกตั้ง การพัฒนาส่วนอื่นที่จะไปแข่งกับคนอื่นรอไม่ได้โดยทุกฝ่ายจะต้องมานั่งคิดกันว่าจะปฏิรูปอย่างไร ขณะนี้วุฒิสภายังทำหน้าที่เป็นรัฐสภาอยู่ ซึ่งเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญผูกพันระยะยาวอาจจะทำไม่ได้ แต่เรื่องเฉพาะหน้าฉุกเฉินเขายังทำหน้าที่เป็นรัฐสภา แต่ต้องมีจุดเริ่มต้น หรือ Trigger Point

อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งแน่นอนต้องรอหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายหลายฉบับที่ต้องแก้ไข ประเด็นเหล่านี้ “ฉันทามติ” ต้องมาจากประชาชน ซึ่งแต่ละฝ่ายที่ผูกมัดตัวเองเข้าสู่สนามเลือกตั้งว่าเข้ามาแล้วจะต้องมีการปฏิรูปเหมือนกับปี 2540 ที่ทุกคนลงไปหาเสียงว่าจะเข้ามาเพื่อปฏิรูป ครั้งนี้ก็เหมือนกัน อาจจะมีสัญญาประชาคมจับมือกันว่าหลังการเลือกตั้งจะต้องมีการปฏิรูป

สุรินทร์ อธิบายว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแข่งขันกับคนอื่น การจัดระบบระเบียบ นโยบายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล เพื่อเตรียมตัวแข่งขันกับคนอื่น รอไม่ได้ ยิ่งยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไหร่ยิ่งบั่นทอนความสามารถและความพร้อมของประเทศไทยที่จะออกไปแข่งขัน โลกเขาไม่รอ ภูมิภาคเขาไม่รอ ที่สำคัญคือเราไปดึงคนอื่นเขาด้วย มีบทความพูดเรื่องน้ำเรื่องโครงการโครงสร้างพื้นฐาน พูดถึงว่าถ้าประเทศไทยล้มเหลวเพราะคอร์รัปชั่น อาเซียนทั้งหมดจะล้มเหลว เพราะการเชื่อมต่อไทยอยู่ตรงกลาง เป็นไข่แดง ทั้งนี้ถ้าประเทศไทยล้มเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพราะปัญหาคอร์รัปชั่นจะกระทบอาเซียนทั้งหมด กระทบภูมิภาคด้วย

สำหรับประเด็นที่ต้องเร่งปฏิรูปเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น “สุรินทร์” มองว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือ “ระบบราชการ” ที่จะต้องเป็นตัวของตัวเอง มีศักดิ์ศรี จะต้องไม่เป็นส่วนต่อเนื่องของครอบครัวหรือการเมือง จะต้องสามารถเซย์โนกับฝ่ายการเมืองได้ ไม่ใช่เยสตลอดไป ไม่ใช่เยสจนกระทั่งพร้อมจะติดคุกติดตารางด้วย อันนี้ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของระบบราชการ ระบบราชการคือองค์กรที่มีความเป็นเลิศของตัวเอง ทางด้านเทคนิค ความรู้ความสามารถ ทักษะพิเศษเฉพาะเรื่องนั้น ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ เขารู้กฎหมายเพราะเขาคือคนที่บังคับใช้กฎหมาย บางกรณีมีส่วนในการเขียนกฎหมาย

“แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี กลายเป็นส่วนต่อเนื่องของครอบครัว ส่วนต่อเนื่องของการเมือง ผมจึงใช้คำว่า Bureaucracy คือ Extended Family กฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ สเปซที่เคยมีก็หมด ศักดิ์ศรีที่เคยมีก็หมด คนที่จะเลือกย้ายให้ตำแหน่ง กลายเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง ครอบครัวทั้งนั้น มันจะเกิดอะไรขึ้น หนึ่ง คุณไม่ได้คนดีเข้ามา สอง คุณจ่ายเงินเปล่า เพราะไม่สามารถยกเลิกได้ เหมือนที่ผมเห็นในเวทีอาเซียน ร้ายไปกว่านั้น ทั้งกรมทั้งกระทรวงกลายเป็นเดดวูดหมด เช้าชามเย็นชามไม่กระตือรือร้น เพราะไม่รู้จะกระตือรือร้นไปทำไม ไม่รู้จะเอาความรู้ความสามารถดึงออกมาใช้ทำไม ไม่รู้จะเซย์โนไปทำไม ในเมื่อคนที่ได้ดีในองคาพยพของเขาคือคนที่เซย์เยสทั้งนั้น เป็นคนที่ต้องไปขอตำแหน่งด้วยตัวเองทั้งนั้น คนที่มีจดหมายน้อย มีนามบัตรมาให้ โทรศัพท์มาให้ทั้งนั้น ประเทศชาติพังหมด การแก้ไขปัญหานี้เป็นสิ่งท้าทาย การจะแก้กฎหมายใหม่คงลำบากเพราะไม่มีรัฐสภา”

อดีตเลขาธิการอาเซียน อธิบายว่า ในส่วนของผู้ว่าราชการ ตำรวจ ที่จะดูแลเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะเป็นมือไม้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นกลาง ไม่ใช่ได้รับการปูนบำเหน็จเพราะการเมือง บางพื้นที่นักกิจกรรมทางการเมืองพูดออกมาชัดเจนว่า เป็นคนขอ เป็นคนตั้ง เป็นคนกำหนด แล้วเช่นนี้จะไม่เละหรือ ประชาชนอยู่ตรงไหน จะหวังความถูกต้องเป็นธรรมเสมอภาคโปร่งใสอย่างไร ในเมื่อทุกอย่างเป็นเรื่องสีการเมือง เป็นเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว สัมพันธ์การเมือง

ประเด็นที่ 2 กฎหมายที่มีอยู่เรื่องการเลือกตั้งและองค์กรที่มีอยู่ของการเลือกตั้ง ทำอย่างไรจะขันนอตให้ใช้ได้อย่างเต็มที่ 100% สมัยก่อนที่มหาดไทยยังรับผิดชอบอยู่ ได้นำเอาบุคลากรจากต่างอำเภอมาดูเรื่องการเลือกตั้งในคูหา ระยะหลังไม่ทราบว่าเขาทำอย่างไรเพื่อประกันความโปร่งใส ถูกต้อง องค์กรทางด้านการศึกษา องค์กรเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นกลไกที่จะควบคุมดูแลเลือกตั้ง สามารถทำได้ ในกฎหมายที่มีอยู่ แต่ต้องการความร่วมมือช่วยเหลือจากภาคประชาชน เอกชน วิชาการ ภาคจิตอาสาทั้งหลาย โดยองค์กรที่จะทำได้จะต้องเป็นองค์กรใหม่ที่จะดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะเข้ามาเพื่อจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ใช่จัดการเลือกตั้งเพราะเพียงแต่เป็นพิธีกรรมทางการเมือง

ประเด็นที่ 3 เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนตื่นตัวมากตอนนี้ เพราะกระทบเขาจริงๆ กระทบกับค่าโสหุ้ยในการผลิตสินค้า บริการ ออกไปแข่งขัน จึงออกมาเรียกร้องให้แก้ไขความไม่โปร่งใส คอร์รัปชั่น ที่จะต้องเป็นวาระสำคัญที่ต้องปลุกระดมให้เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังเตรียมการเลือกตั้ง แม้จะยืดเยื้อแค่ไหน แต่ก็ต้องปลุกกันขึ้นมาอย่างรีบเร่ง เพราะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างไขว้เขวหมด

“น่ากลัวมากยิ่งกว่ามะเร็งร้าย ถือเป็นหลุมดำที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศ ลดความสามารถในการแข่งขันทุกด้าน ท้ายที่สุดก็จะทำลายสิ่งที่ดีงาม มะเร็งยังรักษาได้ ตัดชิ้นส่วนทิ้งได้ ฉีดคีโมได้ แต่ว่าคอร์รัปชั่นมันดูดไปทั้งระบบ ทำลายทั้งระบบ สูญหายไปทั้งระบบ ยิ่งกว่าตกเหว กฎหมายหลายอย่างที่เขาพูดกันในขณะนี้มันเรื่องอะไรให้คอร์รัปชั่นมีอายุความ มันก็คืออาชญากรรมไม่ควรมีอายุความและโทษต้องหนัก กลไกอื่นที่จะตรวจสอบต้องมุ่งมั่นแข็งขัน ประกันคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม กลไก ป.ป.ช. ศาล ต้องทำให้ได้”สุรินทร์ กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประเทศชาติ รอมชอม ครั้งยิ่งใหญ่

view