สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (4)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (4)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ครั้งนี้ผมขอนำเสนอเกี่ยวกับการกำหนดกรอบของนโยบายประชานิยมผมเห็นว่าเป็นนโยบายที่กระจายรายได้จากคนรวย(โดยการเก็บภาษี)ไปช่วยผู้ที่มีรายได้น้อย

ซึ่งไม่ได้เสียหายอะไรเพราะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แต่ทั้งนี้ควรจะมีการกำหนดหลักการและกรอบของนโยบายให้ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ให้น้อยที่สุด โดยอาจมีหลักการและกรอบการดำเนินนโยบาย ดังนี้

1. ความเสมอภาค : นโยบายประชานิยมนั้นควรมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยทุกคนในประเทศไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ชาวนา หรือข้าราชการผู้น้อย เพราะเป็นการนำเอาทรัพยากรของรัฐมาช่วยจุนเจือให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานทุกคนให้มีความเป็นอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับกำลังเงินที่รัฐสามารถจัดสรรให้ เช่น ปัจจุบันจีดีพีต่อหัวของไทยอยู่ที่ 13,000 บาทต่อเดือน รัฐบาลอาจกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าคนไทยควรมีรายได้ขั้นต่ำเท่ากับ 40% ของจีดีพีต่อหัว คือ 5,200 บาทต่อเดือน เป็นต้น และหากผู้ใดมีรายได้ต่ำกว่านั้นรัฐบาลจะหางบประมาณมาเพิ่มเติมให้มีรายได้เท่ากับมาตรฐานเช่นครอบครัว 4 คน (สามี+ภรรยา+ลูก 2 คน) มีรายได้รวม 18,000 บาทต่อเดือนก็จะต่ำกว่าเกณฑ์ 2,800 บาท (5,200x4=20,800) ดังนั้น รัฐบาลก็จะจ่ายเงินมาสมทบให้ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยยกระดับรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย เป็นการสร้างความเสมอภาคในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำก็จะต้องคำนึงถึงรายได้ของรัฐที่มีอยู่ด้วยโดยต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและปรึกษาหารือกันว่ารายได้ขั้นต่ำควรเป็นเท่าไหร่ เพราะจะกระทบกับงบประมาณที่ต้องใช้ ซึ่งนโยบายประชานิยมเช่นว่านี้น่าจะมีความเป็นกลางทางการเมืองมากที่สุด แม้ว่าจะมีข้อเสียคือ

1.1 นักการเมืองจะไม่ชอบเพราะใช้หาเสียงได้ยากและบางคนอาจติงว่าเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

1.2 นักการเมืองน่าจะโกงกินอย่างเป็นกอบเป็นกำได้ยาก แม้อาจมีคนพยายามกินหัวคิว แต่หากมีระบบข้อมูลที่รัดกุมก็จะกำจัดการทุจริตได้มากและสามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับได้โดยตรง

1.3 ข้าราชการต้องทำงานหนักเพื่อหาข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งจะต้องปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา

1.4 ค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างสูงเพราะน่าจะต้องจ่ายเงินให้กับประชาชนประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งหากต้องจ่ายคนละ 20,000 บาทต่อปี ก็จะต้องใช้เงินปีละเป็นแสนล้านบาท โดยจะดูเสมือนว่าไม่ให้ผลตอบแทนกับประเทศโดยรวมเลย แต่นี่คือลักษณะที่แท้จริงของนโยบายประชานิยม

2. หลีกเลี่ยงผลกระทบข้างเคียง : ควรกำหนดหลักการว่านโยบายประชานิยมจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยการบิดเบือนกลไกตลาด เช่น นโยบายจำนำข้าวที่กำหนดราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก ทำให้รัฐต้องขาดทุนและนำภาษีมาชดเชยซึ่งนับเป็นนโยบายประชานิยมที่มีต้นทุนสูงและผิดในหลักการเพราะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (ส่งเสริมให้มีการผลิตข้าวเกินกว่าความต้องการของตลาด เป็นภาระในการเก็บรักษาและระบายข้าว) และก่อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามาตรการประชานิยมทุกมาตรการนั้นมีผลกระทบข้างเคียงต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น แม้กระทั่งการโอนเงินให้ผู้มีรายได้ต่ำก็อาจทำให้คนที่มีรายได้น้อยไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงานให้มีรายได้เพิ่มหากเขาได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นย่อมจะทำให้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลถูกตัดทอนลง แต่หลักการคือ การให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและความพยายามที่จะลดผลกระทบดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

3. ประชานิยมเฉพาะทาง : แนวทางที่น่าจะเป็นการประนีประนอมในเชิงหลักการและความเป็นจริงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดน่าจะเป็นการทำประชานิยมเฉพาะทาง เช่น แจกคูปองการศึกษาให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ ครอบครัวละ 20,000 บาทต่อบุตร 1 คน โดยจำกัดให้ไม่เกิน 3 คน เป็นการสนับสนุนให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาโดยตรง เป็นการสร้างโอกาสให้หลุดออกจากวัฏจักรของความยากจนได้ในที่สุดหรือการออกบัตรโดยสารรถประจำทางให้กับเด็กนักเรียนทุกคนในราคาถูก ทั้งนี้เพราะนักเรียนที่ต้องขึ้นรถประจำน่าจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เป็นต้น

4. การควบคุมขอบเขตของนโยบายประชานิยม : ประเทศไทยโชคดีที่ยังไม่มีนักการเมืองคนใดนำเสนอนโยบายประชานิยมสุดโต่ง เช่น ยึดสัมปทานการผลิตของเอกชน (ส่วนใหญ่จะเป็นสัมปทานต่างชาติ) มาเป็นของรัฐบาลและผลิตสินค้าออกมาในราคาต่ำเพื่อเอาใจประชาชน (เช่นที่เกิดขึ้นที่เวเนซุเอลา) ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีดังปรากฏในมาตรา 84 (1) นั้นน่าจะครอบคลุมประเด็นนี้แล้วในอีกด้านหนึ่งก็อาจมีความต้องการจำกัดนโยบายประชานิยมมิให้ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการคลัง ซึ่งก็ได้มีการกำกับอย่างละเอียดแล้วในหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นเมื่อใดที่สถานะทางการคลังเริ่มจะมีปัญหา ก็จะถูกทักท้วงและเสี่ยงต่อการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอีกด้วย ดังนั้น ในความเห็นของผมหากจะอาศัยข้อ 1, 2 และ 3 เป็นการตีกรอบนโยบายประชานิยมก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ทั้งนี้ ผมต้องขอย้ำในเรื่อง การเปิดเผยข้อมูลให้มีความโปร่งใสเพื่อให้ประชาชนสามารถวิจารณ์นโยบายและมาตรการของรัฐได้ตลอดเวลาครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หาทางออกให้กับประเทศไทย (4)

view