สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โจทย์ใหญ่นโยบายการเงินรับปีม้าศึก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



หลายคนคงตั้งความหวังไว้ว่า “เศรษฐกิจไทย” ปี 2557 จะโลดแล่นโพ้นทะยานสมกับชื่อ “ปีม้าศึก”

...แต่เท่าที่ผมได้พูดคุยสอบถามความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คนแล้ว บอกได้คำเดียวว่า ควรเตรียมใจเอาไว้แต่เนิ่นๆ เพราะเอาเข้าจริง เศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาเลย

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.บัณฑิต นิจถาวร” อดีตรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ซึ่งได้แง่คิดมุมมองทางเศรษฐกิจในอีกมิติหนึ่ง จึงขอนำมาแชร์ในบทความนี้ ..ต้องบอกก่อนว่าสมัยที่ ดร.บัณฑิต ยังนั่งเป็นรองผู้ว่าการแบงก์ชาติอยู่ ท่านถือเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งในการร่วมกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ

ดร.บัณฑิต เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 อาจไม่ได้ดีอย่างที่หลายคนคาดหวังเอาไว้ เพราะ “เครื่องยนต์หลัก” ทางเศรษฐกิจทั้ง 4 เครื่องยังคงมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงการลงทุนภาครัฐ หรือแม้แต่การส่งออก

บางคนอาจมองว่า “การส่งออก” จะเป็น “พระเอก” ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะจากตัวเลขเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีวันดีคืน น่าจะช่วยพยุงการส่งออกไทยให้ฟื้นขึ้นมาได้ ..แต่ ดร.บัณฑิต กลับไม่ได้มองเช่นนั้นซะทีเดียว โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ถ้าการส่งออกจะดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้น เราก็ควรจะดีขึ้นตั้งแต่ตอนนี้แล้ว!

ดร.บัณฑิต บอกว่า การจะผลักดันให้ ภาคส่งออกไทยฟื้นตัวได้ตามเศรษฐกิจโลกนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องหันมามองตัวเองก่อนว่า สินค้าเรามีปัญหาอะไรหรือไม่ หมวดสินค้าใดมีปัญหามากที่สุด และปรับปรุงซะ เพราะเป็นไปได้ว่า สินค้าเราอาจไม่ใช่สินค้าที่โลกกำลังต้องการอยู่ในขณะนี้ ...แต่อย่างไรซะ เขายังคงเชื่อว่า การส่งออกของไทยในปี 2557 จะดีขึ้นได้บ้าง แต่คงไม่ดีถึงขึ้นที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโลดทะยาน

ส่วนประเด็นที่ ดร.บัณฑิต แสดงความเป็นห่วงมากสุด คือ นโยบายการเงินของแบงก์ชาติ พร้อมกับยอมรับว่าปี 2557 ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ทำนโยบาย โดยเขามองว่า การทำนโยบายการเงินในปีนี้ ควรต้องให้ความสำคัญกับการหา “จุดสมดุล” ระหว่าง การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจกับผลกระทบที่เกิดจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออก

สำหรับ “จุดยืน” ของ ดร.บัณฑิต นั้น ยังคงยืนยันว่า นโยบายการเงินของแบงก์ชาติ ควรไปในทิศทางที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แล้วปล่อยให้นโยบายการคลัง ทำหน้าที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไป

นอกจากนี้ ในปี 2557 ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกด้วย เพราะการที่ เฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มต้นทำ QE Tapering มีผลให้ต้นทุนการเงินของนักลงทุนเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมา คือ เงินที่เคยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หากนักลงทุนดูแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่ม ก็คงจะลดน้ำหนักเทขายออกไป

ดังนั้นอีกประเด็นที่ “แบงก์ชาติ” ควรต้องตระหนักถึงในมุมมองของ ดร.บัณฑิต คือ ความสามารถในการบริหารจัดการกับเงินทุนที่เป็นภาวะไหลออก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ “ค่าเงินบาท” และ “ดอกเบี้ยระยะยาว” ..เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แบงก์ชาติต้องดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนจนผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

ดร.บัณฑิต ยังบอกด้วยว่า ในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นโยบายการเงินก็มีส่วนสำคัญ ถ้านโยบายที่ออกมาทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ก็อาจทำให้นักลงทุนเหล่านี้ยิ่งดึงเงินกลับออกไปมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญสุดของการทำนโยบายการเงินจึงอยู่ที่ “การรักษาความเชื่อมั่น” ..ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นโจทย์ท้ายการทำงานของแบงก์ชาติในปีม้าศึก!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โจทย์ใหญ่ นโยบายการเงิน รับปีม้าศึก

view