สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมอินโดนีเซียเอาผิดกับนักการเมืองคอร์รัปชั่นได้

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ

องค์การ ต่อต้านคอร์รัปชั่นที่อินโดนีเซีย มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า KPK ตามชื่อในภาษาอินโดนีเซียว่า Komsit Pemberantasan Korupsi หรือบางทีแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Corruption Eradication Commission of Indonesia


KPK ก่อตั้งขั้นมาเมื่อปี 2545 นี้เอง หลังจากที่รัฐบาลของทหารของประธานาธิปดีซูฮาร์โตล้มไปเมื่อเผชิญกับวิกฤต เศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นสิ่งที่ประชาชนอินโดนีเซียเรียกร้องให้มีการแก้ไขเป็นอย่างมากในช่วง ความยุ่งยากทางการเมืองครั้งนั้น แต่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ขณะนั้นมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น อยู่ใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) และคดีคอร์รัปชั่นดำเนินการโดยสำนักงานอัยการ ที่มีปัญหาว่าไม่โปร่งใส จึงได้มีการจัดตั้งองค์กร KPK ขึ้น โดยใช้ตัวแบบองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ประสบความสำเร็จมาแล้วที่ฮ่องกง ที่ออสเตรเลีย และที่สิงค์โปร์ แต่ KPK มีความต่างหลัก 2 ประการคือ (1) มีอำนาจดำเนินคดี (prosecution power) ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้อัยการเป็นผู้ดำเนินการแทนผ่านศาลปกติ และ (2) ในการปฏิรูปนั้นได้จัดตั้งศาลต่อต้านคอร์รัปชั่นขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อ พิจารณาคดีคอร์รัปชั่นที่ KPK เห็นว่าจะดำเนินการฟ้องร้องได้ นับเป็นประเทศแรกในโลกก็ว่าได้ที่มีศาลเพื่อดำเนินคดีการคอร์รัปชั่นกับข้า ราชการพลเรือนและนักการเมืองเป็นการเฉพาะ ยกเว้นทหารเพราะว่าฝ่ายกองทัพมีศาลเฉพาะของตนเอง กล่าวคือคดีที่ทหารคอร์รัปชั่น แม้จะถูกสืบสวนสอบสวนโดย KPK ได้ แต่การดำเนินการชั้นศาลต้องส่งให้ฝ่ายศาลของทางกองทัพเป็นผู้ดำเนินคดี

หลัง จากที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 11 ปี (2545-2556) KPK มีผลงานน่าทึ่งมาก คือ ชนะคดีที่ส่งศาลทั้งหมด 236 คดีด้วยกัน จับกุมผู้กระทำความผิดเกือบ 400 ราย และครึ่งหนึ่งเป็นนักการเมือง ผู้ที่ถูกลงโทษจำคุก ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงหลายหน่วยงานที่รวมทั้งผู้พิพากษา นายตำรวจระดับสูง ส.ส. รัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชาติอินโดนีเซีย นายกเทศมนตรีรายหนึ่งเป็นลูกเขยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และยังมีนางงามที่ต่อมาสมัครได้เป็น ส.ส.เพิ่งถูกจำคุกไป ฯลฯ

มีบาง กรณีที่เป็นภัยกับ KPK ด้วย เช่น ปี 2552 KPK จับกุมนายตำรวจระดับสูงคนหนึ่งในข้อหาว่ารับเงินสินบน แล้วสะสมความมั่นคั่งเป็นที่ดิน รถราคาแพงหลายคัน คฤหาสน์และเงินสดจำนวนมาก เมื่อเขาถูกจับกุมตัวไปสอบสวน มีตำรวจ 12 นายบุกเข้าไปที่สำนักงาน KPK เพื่อขอตัวพนักงาน KPK ที่สอบสวนนายตำรวจใหญ่นั้น แต่เมื่อข่าวกระจายไป ประชาชนจำนวนมากรวมทั้งนักกฎหมาย นักเคลื่อนไหว และนักหนังสือพิมพ์แห่กันมาช่วยปิดล้อมสำนักงาน KPK ไม่ให้ตำรวจเข้าไปได้ โดยเจ้าพนักงานของ KPK เองส่งข่าวไปให้พันธมิตรที่สนับสนุน KPK นั่นเองให้มาช่วย 

หนึ่งปีต่อมา นายตำรวจใหญ่ที่ถูกกล่าวหาก็ถูกดำเนินคดีชั้นศาลและถูกลงโทษ จำคุก 10 ปี และศาลยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ประมาณ 330.4 ล้านบาท

เนื่องจาก KPK ประสบความสำเร็จสูงมากเช่นนี้ได้ทำให้นายตำรวจและอัยการชั้นผู้ใหญ่สองคน ร่วมมือกันสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อเอาผิดกับพนักงานสอบสวนคนเก่งของ KPK แต่ในท้ายที่สุด ทั้งสองนั้นก็ถูกดำเนินคดีเข้าคุกไป เพราะว่าประธานาธิบดี ให้การสนับสนุนและอยู่ข้าง KPK

คณะกรรมการ KPK เองที่เป็นปัญหาก็มีเหมือนกัน เช่น คณะกรรมการระดับสูงคนหนึ่ง (อดีตเป็นตำรวจ) ถูกข้อกล่าวหาร้ายแรงกรณีฆาตกรรม และปฏิเสธทุกข้อหา แต่ในท้ายที่สุดก็ถูกดำเนินคดีและติดคุกไปเหมือนกัน

ปัจจัยที่ส่งผล ต่อความสำเร็จมีหลายประการ ที่สำคัญคือ KPK เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร มีพนักงานสืบสวนสอบสวนที่มีคุณภาพ ใช้บริษัทเอกชนเป็นผู้จัดหาคัดเลือกมา มีการเทสต์ (test) ต่างๆ ทั้งด้านจิตวิทยา ความโปร่งใส ความซื่อตรง และการสอบประวัติอย่างละเอียด ในระยะแรกๆ ได้เปิดให้พนักงานจากสำนักงานตำรวจและอัยการ เข้าสมัครได้ และอาจกลับไปทำงานที่เดิมได้เมื่อสัญญาหมด เพราะแก้ปัญหาพนักงานสอบสวนสืบสวนขาดแคลน มีศาลต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ตัดสินคดีคอร์รัปชั่นเป็นการเฉพาะ (ของไทยก็มีศาลที่ตัดสินคดีอาญาของนักการเมือง) และมีแผนกอัยการภายในสำนักงานเดียวกับ KPK 

มีกระบวนการประเมินผลการ ทำงานชัดเจนมุ่งเน้นไปที่อัตราการดำเนินคดีในชั้นศาลได้สำเร็จ ทำงานได้ผลดีมากจนได้รับความไว้วางใจจากภาคประชาชน ประชาสังคม สื่อ เข้าช่วยเหลือ และช่วยหาเงินสนับสนุนด้านงบประมาณเมื่อ KPK ถูกปฏิเสธงบที่ขอไปเพื่อขยายสำนักงาน และด้วยเหตุนี้รัฐบาลโดยประธานาธิบดี ต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงานของ KPK อย่างเต็มที่ และไม่กล้าแทรกแซง (แม้ในกรณีลูกเขยถูกดำเนินคดี) เพราะรัฐบาลจะหมดความชอบธรรมทันที ผลงานเด่นทำให้ KPK มีชื่อเสียงมาก คนอยากมาทำงานด้วย คนทำงานระดับสูง ที่มาจากตระกูลมีฐานะทางสังคมดี ช่วยได้มาก มีพนักงานสืบสวนสอบสวนคนหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จทำให้นายกเทศมนตรีรายหนึ่งต้องถูกลงโทษติดคุก มาจากตระกูลฐานะดี เคยเป็นตำรวจ แล้วตัดสินใจสมัครทำงานกับ KPK เพื่อปราบคอร์รัปชั่น ทำความดีให้สังคม

ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ KPK จะทำคดีที่เกี่ยวข้องกับวงเงินสูงกว่า 2.7 ล้านบาทขึ้นไป กรณีย่อยๆ จะให้หน่วยต้นสังกัดจัดการเอง

ประสบการณ์ ของ KPK ที่อินโดนีเซียน่าทึ่งมาก ที่ทำให้เห็นว่า ประเทศที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชั่นมาก ติดอันดับที่แย่กว่าเมืองไทย ยังแก้ปัญหาได้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ป.ป.ช. ที่เมืองไทยได้ หลังจากมี KPK อันดับการคอร์รัปชั่นของอินโดนีเซียดีขึ้น

บทเรียนบาง ประการสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ในเมืองไทย (ป.ป.ช.) ซึ่งก็มีอำนาจในการดำเนินคดีชั้นศาลด้วยตัวเองในกรณีนักการเมือง ก็มี เช่น น่าจะมุ่งทำคดีที่ประชาชนสนใจและมีวงเงินเกี่ยวข้องสูง เพื่อสร้างชื่อเสียงของสถาบันให้เป็นที่ชื่นชอบของสาธารณชนให้ได้ เพื่อให้ช่วยเป็นเกราะป้องกันจากภัยที่จะมาจากสถาบันสำคัญที่ไม่ต้องการให้ ป.ป.ช.ทำงานได้ผล เพราะขัดผลประโยชน์ ในขณะนี้ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียนทุกประเภททุกระดับ โดยไม่กำหนดความสำคัญในแง่ของวงเงินหรือในแง่ความสนใจชองประชาชน จึงมีแนวโน้มที่ต้องดูแลเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกินไปและมีเรื่องที่รอ การดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก

คณะกรรมการและคนทำงานในองกรค์ เช่น ป.ป.ช.ต้องมีคุณภาพและต้องไม่เป็นคนของใคร

บทเรียนสำคัญอีกประการ ก็คือเรื่องการได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาล และการไม่เข้าแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากฝ่ายการเมือง 

นอก จากนั้น สื่อต้องเสรีและช่วยการทำงานของ ป.ป.ช. ประสบการณ์ของหลายประเทศบอกว่า กรอบการเมืองในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะเอื้อให้สื่อมีเสรีภาพ ป.ป.ช. เป็นอิสระและขบวนการภาคประชาชนมีขบวนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่ได้ผล

แม้ ว่าการป้องกันการคอร์รัปชั่นก็เป็นเรื่องดีและจำเป็น แต่การปราบปรามเอาคนผิดลงโทษได้ก็จำเป็นและต้องทำควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มต้นทุนแก่ผู้หวังได้จากการการคอร์รัปชั่น มิฉะนั้นจะกลายเป็นประเพณีไปและในท้ายที่สุดจะเอาผิดกับใครไม่ได้เลย และประชาชนก็จะขาดความเชื่อถือรัฐบาล

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 10 มกราคม 2557)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อินโดนีเซีย เอาผิด นักการเมืองคอร์รัปชั่น

view