สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจปั่นป่วน เจอปัญหาขาดแคลนผู้สอบบัญชี จริงหรือ(1)

ธุรกิจปั่นป่วน เจอปัญหาขาดแคลนผู้สอบบัญชี (1)

นิพนธ์ กาญจนพิพัฒน์กุล



ธุรกิจปั่นป่วน เจอปัญหาขาดแคลนผู้สอบบัญชี

ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 2 ฉบับที่ลงเรื่องนี้ ในฐานะที่อยู่ในวิชาชีพต้องแสดงความเห็นซักหน่อย

กำลังจะเขียนเรื่องนี้ลงเวปไซต์พอดี เนื่องจากเมื่ออาทิตย์ก่อนเพื่อนผมโทรมาหาผมเรื่องนี้ เรื่องก็คือ หาผู้สอบบัญชีไม่ได้ เพื่อนคนนี้เคยติดต่อผมมาที่หนึ่งแล้วตั้งแต่ผมแนะนำให้เปิดสำนักงานบัญชีใหม่ๆ ปัญหาคือการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐานการบัญชี ในบางเรื่อง ผมปฎิเสธที่จะลงนามแสดงความเห็นให้ไปเพราะมันกระทบกับวิชาชีพ ถ้าทำตามมาตรฐานการบัญชีบางเรื่องไม่ได้ การทำตามมาตรฐานการสอบบัญชีก็เป็นไปได้ยาก สุดท้ายเขาให้มือปืนเซ็นต์ จนสภามีการประกาศเรื่องผู้สอบบัญชีเซ็นต์ได้ปีละ 200 รายเนี่ยแหละ ถึงมีปัญหาเรื่องผู้สอบบัญชี

1.ถ้าเรื่องนี้ออกมาจากแหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ ........ทำไม

     คนที่ทำงานวิชาชีพรุ่นก่อนกว่านี้ซักเล็กน้อย จะมีประกาศลักษณะอย่างนี้ออกมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมัยยังเป็นกรมทะเบียนการค้าเหมือนกัน แต่ให้แค่ 180 รายต่อคนและกำหนดค่าสอบบัญชีขั้นต่ำไว้เป็นแนวทางที่ 7000 บาท เมื่อสิบกว่าปีก่อน เหตุผลคือ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีมีรายได้เพิ่มขึ้นและเข้ามาปฎิบัติงานเต็มเวลามากขึ้น จะทำให้คุณภาพงานสอบบัญชีดีขึ้น ในจำนวน 180 รายนั้นยังมีเงื่อนไขคือ ผู้สอบบัญชีลงนามได้ 30 บริษัทหากต้องการลงนามมากกว่านั้นต้องมีผู้ช่วยอย่างน้อย 1คน ทุกๆการเพิ่มบริษัทที่ลงนาม 15 บริษัท ดังนั้นผู้สอบบัญชี ที่ลงนาม 180 บริษัทต้องมีผู้ช่วยอย่างน้อย 10 คน แต่สุดท้ายต้องเป็นจำนวน 300 ราย และมีแนวทางค่าสอบบัญชีขั้นต่ำไว้ เพราะในวันนั้นจำนวนผู้สอบบัญชีขาดแคลนจริงๆครับ ผลคือมีการพัฒนาด้านการทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิมแม้ไม่มากนัก มือปืนเซ็นต์ได้ลดลง ค่าสอบบัญชีในสำนักงานที่ทำงานจริงๆขยับขึ้น คนมาทำงานเต็มตัวมากขึ้น ดังนั้นคาดว่าเหตุผลของสภาก็คือ การเอาข้อดีที่ได้จากแนวคิดนี้มาปรับใช้โดยคาดว่าจะได้ผลเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงๆสภากำหนดมาเฉพาะจำนวนรายแต่ไม่ได้กำหนดค่าสอบบัญชีขั้นต่ำ ผมเคยเข้าร่วมสัมมนาหลายครั้งได้เคยเสนอในที่ประชุมว่าถ้าจะทำต้องทำเป็น package เหมือนที่กรมพัฒนาธุรกิจเคยเสนอไว้เพื่อลดแรงต้านและสภาต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการด้วย แต่ประธานไม่เห็นด้วยเหตุผลคือทำให้เสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพ ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าการที่สภาให้แนวทางในการกำหนดค่าสอบบัญชีขั้นต่ำมันทำให้เสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพตรงไหน (package ที่ผมเสนอให้ทำคือ กำหนดจำนวนราย ให้แนวทางค่าสอบบัญชีขั้นต่ำ กำหนดมาตรฐานการควบคุมคุณภาพการสอบบัญชี กำหนดบทลงโทษให้ชัดเจนและบังคับใช้ให้จริงจัง รวมถึงการตั้งทีมงานตรวจสอบการคุณภาพทำงานสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งเป็๋นแนวเดียวกับกรมพัฒนาธุรกิจเคยทำสมัย อ.ชนิดา สุวรรณจูทะ ถ้าผมจำไม่ผิดและคนที่เป็นผู้ช่วยคืออธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคนปัจจุบัน .... สำนักงานบัญชีไม่เกี่ยวครับไม่ต้องด่า ....555 ซึ่งจริงๆมันเป็นสิ่งที่ควรทำด้วย) ในวันทำ hearing เรื่องนี้ผมจึงไม่ไปคิดว่าจะเขียนเป็นบทความดีกว่า แต่ไม่ว่างซักที ที่ไม่ไปเพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปเพราะสภามีธงไว้เรียบร้อยแล้ว และเป็นอย่างที่ผมคิดไว้ที่ประชุมค้านจนกรรมการและประธานบนเวทีไปไม่เป็น แต่ยังทุรังประกาศเรื่องนี้ก็ออกมาทั้งที่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ผลที่ได้ผมคาดว่าจะไม่เหมือนเดิมกับที่กรมพัฒนาธุรกิจทำไว้ แต่แย่และสับสนกว่าเดิม แรงต้านมากกว่าเดิม และการที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาให้ข่าวคงเป็นเพราะมีคนไปถาม ไปด่าเขา ทั้งที่เขาได้มอบงานนี้ไปให้สภาแล้ว ตามที่สภาได้เรียกร้องไป

2.ผู้สอบบัญชีขาด .......... จริงหรือเปล่า
     ปัจจุบันมีห้างหุ้นส่วน บริษัท จำกัด เปิดดำเนินกิจการทั่วประเทศ 562,485 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 10.74 ล้านล้านบาท แยกเป็นบริษัท จำกัด 382,759 ราย บริษัทมหาชน จำกัด 1,036 ราย และห้างหุ้นส่วน จำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 178,690 ราย ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เรื่องกระทบอย่างไรก็ต้องกระทบ มันเป็นเรื่องที่เปลี่ยนไปจากเดิมจะไม่กระทบได้อย่างไร
     บริษัทมีทั้งหมดเกือบ 6 แสนราย เป็น บริษัทจำกัด เกือบ 4 แสนราย เป็นหจก/หสน เกือบ 2 แสนราย ผู้สอบบัญชีมี 10000 กว่าคน ที่ทำงานจริง 5000 กว่าคน ผมว่าตัวเลขแค่นี้ คนที่รู้เรื่องบ้างก็บอกได้ว่าผู้สอบบัญชีขาดหรือเปล่า เอาเป็นว่าไม่รู้เรื่องแล้วกันจะได้อธิบาย
     ทุกวันนี้ผู้สอบบัญชีแยกเป็นสองส่วน ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต กับผู้สอบบัญชีภาษีอากร ผู้สอบบัญชีภาษีอากรมีมาทีหลังเกิดเนื่องจาก การอ้างว่าขาดแคลนผู้สอบบัญชีเนี่ยแหละ ทำให้มีการพิจารณาจากหน่่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าให้มีการลงนามแสดงความเห็นต่องบการเงินเฉพาะบริษัทจำกัด และ หจกที่มีส่วนของหุ้นส่วนที่เกินกว่า 30 ล้าน ทำให้ หจกและหสนไม่มีคนลงนามแสดงความเห็น ผลกระทบเกิดกับกรมสรรพากรซึ่งไม่มีคนมาสกรีนงานในขั้นต้น กรมสรรพากรจึงให้มีการตั้งผู้สอบบัญชีภาษีอากรมาตรวจสอบกิจการต่างๆเหล่านี้ โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดสอบและออกใบอนุญาตเอง แต่ก็ยังให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรโดยปริยาย การที่บอกว่าผู้สอบบัญชีขาด ต้องแยกเป็น 2 ส่วน
     บริษัทจำกัด ที่มีเกือบ 4 แสนรายต้องให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตลงนาม ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมี 10000 กว่าคน ทำงานจริง 5000 คน กว่าคนหนึ่งเฉลี่ย 80 บริษัท ดังนั้นที่สภากำหนดไว้ 200 รายนั้นเหลือเฝือ ผู้สอบบัญชีที่ลงนาม หจก หรืออื่นๆที่ไม่ใช่ บจ.,บมจ.(มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ ฯลฯ) ไม่นับรวมใน 200 บริษัท .......... ส่วนนี้ที่บอกว่าขาด อย่างนี้ผู้สอบบัญชีขาดไหมครับ ถ้าขาดทำไม เดี๋ยวรอข้อถัดไป
     หจก/หสน ที่มีเกือบ 2 แสนราย ผู้สอบบัญชีภาษีอากรมีอยู่คาดว่า(ผมไมได้ตามเรื่อง)น่าจะเป็นหมื่น ทำงานจริงเท่าไหร่ไม่รู้ แต่รู้ว่ายังเซ็นต์ได้ 300 ราย และยังมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตบางส่วนอีก ปัญหานี้คงไม่เกิดเพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
     ดังนั้นถ้าจะบอกว่าผู้สอบบัญชีรับอนุญาตขาดแคลน......ไม่จริงแน่ๆ

3.ทำไมสภาถึงทำเรื่องนี้
    ถ้าถามผมว่าทำไมสภาถึงทำเรื่องนี้ ผมคงตอบว่าก็เหมือนกับที่กรมพัฒนาธรกิจการค้าเคยทำ ต้องการพัฒนาคุณภาพงานสอบบัญชีและแก้ปัญหามือปืนที่ลงนามโดยไม่ได้ปฎิบัติงานจริง ถ้าถามต่อว่าจำเป็นแค่ไหน ผมว่าจำเป็นทุกวันนี้เรื่องคุณภาพงานสอบบัญชี ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และจริยธรรมธุรกิจ มันพันกันจนแยกกันไม่ออก ผมเคยได้รับจดหมายจากนายหน้าหาผู้สอบบัญชีทุกปีเรื่อง ค่าสอบบัญชีของมือปืน ผมเอาจดหมายนี้ไปส่งให้กับหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องนี้ ตั้งแต่สมัยยังเป็นกรมทะเบียนการค้าประมาณซัก 20 ปีก่อน ส่งไป 3-4 ปีติดกัน ได้รับคำตอบเหมือนกันคือ "เดี๋ยวผมดูให้" แต่เจ้าหน้าที่แทนที่จะไปจัดการกับคนจัดหา กลับไปจัดการถอดถอนตัวผู้สอบบัญชีอย่างเดียว ปัญหาจึงไม่จบ ครั้งสุดท้ายผมส่งไปให้สภาวิชาชีพบัญชี ไม่รู้ว่าเรืองนี้ไปได้แค่ไหน แต่คิดว่าคงเหมือนเดิม ไม่มีการดำเนินการอะไรจากคนที่เกี่ยวข้อง ผมไม่ทราบว่าทำไม

          3.1 ผมตั้งข้อสงสัยจากข่าวลือว่า สมัยก่อนมีการส่งงบเข้าไปที่กรมทะเบียนการค้า เป็นเข่งๆ ปีละหลายสิบเข่ง จนตอนหลังมาเจอกับตัวเพราะมีผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ถามว่าเอาไหม เงินดีนะ เซ็นต์เสร็จปีสองปี มีปัญหาก็เก็บตังค์หลายสิบล้านบินไปเรียนต่อเมืองนอกแล้วกลับมาทำงานต่อเมืองไทย ยังมีเงินเหลือ ด้วยความอยากรู้ว่าจริงตามที่ได้ลือมาหรือเปล่าผมจึงไปดูแล้วปฎิเสธไป เพราะไม่อยากโกงแล้วรวย

          3.2ทุกวันนี้ผมยังมีคำถามคาใจที่ไม่มีใครตอบได้คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษกับผู้ปฎิบัติงานสอบบัญชี ยังสามารถลงนามในงบการเงินได้ สมควรหรือเปล่า สมัยก่อนผมเรียน ปส.ที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่มาจากกรมทะเบียนการค้าได้บอกว่า เจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าสามารถลงนามในงบการเงินได้เพราะไม่เกี่ยวกับการถอดถอนหรือเตือนผู้สอบบัญชีเพราะคนที่ถอดถอนสมัยก่อนคืออธิบดีกรมทะเบียนการค้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่

ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงสามารถปฎิบัติงานได้ วันนี้สภาก็เป็นเหมือนกัน กรรมการสภาก็ยังทำเรืองพวกนี้อยู่ หรือไม่ก็เป็นกรรมการบริหารในสำนักงานที่มีส่วนในการกำหนดทิศทางความอยู่รอดทางธุรกิจ มันควรหรือไม่ ถ้าเป็นผม ผมจะไม่ทำเพราะผู้รู้ว่ามันมีอีกสารพัดวิธีที่ทำได้ ถ้าจะให้ถามก็คงต้องให้กับไปดูข้อ 3.1

          จริงครับมันไม่ผิดเพราะมันไม่มีเขียนเรื่องอย่างนั้นไว้ในกระดาษ แต่ผมสงสัยว่า ตั้งแต่เล็กจนโตไม่มีใครช่วยเขียนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในหัวใจบ้างเลยหรือ

    ทุกวันนี้ ถ้าถามผู้ประกอบการมักจะได้คำตอบว่า คนทำบัญชีไม่ดี มีปัญหาทำงานไม่ได้มาตรฐาน แต่ถ้ามองกลับไปก็เนื่องจากการดำเนินธุรกิจ การทำสำนักงานบัญชีเป็นธุรกิจไม่ใช่มูลนิธิ ทุกครั้งที่ไปรับงานมักจะได้ยินคำว่า ช่วยหน่อยเถอะ ผมเพิ่งตั้งใหม่ ถ้าอยู่ได้ค่อยมาคุยเรื่องค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชีกันใหม่ แต่พอทำไปได้จนบริษัทเริ่มโต เปลี่ยนสำนักงานอ้างว่าแพง ( ถ้าอยากทราบว่าทำไมต้องแพงไปอ่านบทความเก่าๆของผมดู ) เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ปัญหาโลกแตกไม่มีใครอยากจ่ายแพง แต่สภาต้องกำหนดเข้ามาเกี่ยวข้องสร้างกติกาของคนในกลุ่มในวิชาชีพตัวเองว่าถ้าจะให้ไปด้วยกันได้ควรทำอย่างไร

     ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพงาน กับ ปัญหามือปืน ต้องแก้ไปพร้อมกันกล่าวคือ ต้องกำหนดสิ่งต่างๆเป็น package พร้อมกันทีเดียว คือ
    - กำหนดจำนวนราย ตามที่สภาทำไว้ 200 ก็ได้ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขการทำงานด้วยว่า ผู้สอบบัญชีคนเดียวควรทำได้เท่าไหร่ ถ้าเกินไปควรจะมีผู้ช่วย ผู้ช่วยทำได้เท่าไหร่ เหมือนที่กรมทะเบียนการค้าเคยทำไว้
    - กำหนดแนวทางค่าสอบบัญชีขั้นต่ำ ที่ต้องทำเพื่อให้ผู้สอบบัญชีที่เคยลงนาม 300 ได้รับค่าตอบแทนใกล้เคียงกับเดิม เพื่อลดแรงต้านด้านผลตอบแทน ในที่สัมมนามีผู้กล่าวว่า ไม่มีใครในโลกทำกัน ผมไม่เข้าใจทำไมต้องไปอิงในโลกมันทุกเรื่อง เพราะงานวิจัยของต่างประเทศบางงาน กล่าวว่ามีปัญหาเรื่องนี้ทั่วโลก ถ้าเราทำอย่างต่างประเทศเราก็ต้องมีปัญหาเหมือนเขา แต่ในทางกลับกันสมาคมที่อยู่ข้างสภาวิชาชีพบัญชีคือสถาปนิกสมาคมกลับมีการกำหนดค่าออกแบบขั้นต่ำไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามฝรั่งทุกเรื่องแต่ถ้าของสมาคมไหนดีก็ควรเอามาปรับใช้ ต่อไปประเทศไทยอาจเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็ได้ (ไหนๆก็ไหนๆแล้ว คนเขาเอาไทยเป็นต้นแบบเรื่องประท้วงตั้งหลายเรื่อง ตั้งแต่สีเสื้อเหลืองแดง เรื่องมวลมหาประชาชน เรื่องนี้อีกซักเรื่องจะเป็นไรไป นอกจากสภาไม่กล้าแก้ปัญหา เพราะ ....?)
    - เรื่องที่จะตามมาในระยะเวลาอันใกล้ คุ่มือการปฎิบัติงานตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ (TSQC1) ในมาตรฐานการทำงานได้มีการกำหนดให้ทำเรื่องการควบคุมคุณภาพไว้ เป็นมาตรฐาน เป็นอันว่ามีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ต้องโดนทำ สำนักงานที่มีการปฎิบัติงานจริงเหมือนเพื่อนๆหรือน้องๆ ที่บังเอิญได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นอาสาสมัครในการทำคู่มือสำหรับผู้สอบบัญชีปฎิบัติงานคนเดียว คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แม้มีความแตกต่างในเรื่องแนวคิดการทำงาน แต่ความเข้มข้นในจรรยาบรรณไม่ต่างกัน ผมเชื่อว่าใครเห็นก็รับได้สบายๆ แต่ในคณะทำงานทุกคนกังวลอยู่คือ ผู้ปฎิบัติงานอื่นทำให้คณะทำงานต้องระวังในการกำหนดอะไรที่มากจนเกินไปจนอีดอัด และน้อยเกินไปจนไม่ได้ความ สุดท้ายได้มีการนำเสนอไปให้กับสภาเพื่อปรับใช้ แต่คู่มือจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ พวกที่เขาไปทำงานด้วยกันส่วนหนึ่งกังวลว่า หน้าตาอาจออกมาไม่คล้ายกับที่อาสาสมัครทำกันไว้ แต่ขอใช้ชื่อว่า ร่างโดยคณะทำงานอาสาสมัคร

          ปัญหาที่สำคัญที่คณะทำงานพูดถึงทุกครั้งที่มีการนัดประชุม คือปัญหาของผู้สอบบัญชีที่รับงานผ่านสำนักงานบัญชีโดยที่ไม่เห็นหน้าลูกค้า ค่าตอบแทนการสอบบัญชีสำนักงานบัญชีเป็นคนเสนอให้ พูดง่ายๆก็คือ ดีกว่ามือปืนนิดหนึ่ง ตรงที่ไม่ได้เรียกว่ามือปืน

    -บทกำหนดโทษ เรื่องนี้มีกำหนดไว้ชัดเจนเพียงแต่ควรเอามาบังคับใช้ให้เหมาะสม ส่วนที่ไม่ใช่คนในวิชาชีพแต่ทำตัวเป็นนายหน้าตัวแทนควรหาทางดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญา หรือถ้าไม่ได้ก็ผ่านตำรวจเศรษฐกิจ ก็ควรทำเพื่อไม่ให้วิชาชีพเสื่อมเสียโดยคนนอก ผมว่านี่น่าจะเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพมากกว่าเรื่องกำหนดแนวทางในการคิดค่าสอบบัญชีขั้นต่ำ
    -การตั้งทีมงานตรวจสอบการคุณภาพทำงานสำนักงานสอบบัญชี เรื่องนี้ผมทราบว่ามีการดำเนินการโดยสภาอยู่ ซึ่งต้องดูว่าทีมที่ตรวจจะแยกหรือไม่ระหว่าง สำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ สำนักงานสอบบัญชีขนาด SME และผู้สอบบัญชีปฎิบัติงานคนเดียว(อาจตั้งเป็นสำนักงานก็ได้) ถ้าทีมตรวจไม่แยกอาจจะสับสนได้ไหมที่เอามาตรฐานการทำงานของสำนักงานขนาดใหญ่มาใช้กับผู้สอบบัญชีปฎิบัติงานคนเดียว นอกจากมีการวางแนวการตรวจไว้แต่ต้น

     แนวคิดผมที่คิดไว้อย่างนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพงานและมือปืน มีหลายเรื่องดำเนินการโดยสภาไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามมันเหมือนกินยาไม่ครบ dose จะให้มันได้ผลดังใจคงลำบากหน่อย คุณภาพงานสอบบัญชีอาจไม่พัฒนาทันทีแต่จะมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆเหมือนที่กรมทะเบียนการค้าเคยทำ และจากคำแนะนำจากทีมงานตรวจกำกับซึ่งจะค่อยๆทำความเข้าใจกับผู้สอบบัญชีไปเรื่อยๆ ยังไม่ได้รวมถึงปัญหาของปัญหาการขาดแคลนผู้สอบบัญชี ซึ่งไม่ควรขาดตามที่ได้กล่าวแล้วในข้อ 2


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจปั่นป่วน ปัญหาขาดแคลนผู้สอบบัญชี

view