สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สัมปทานปิโตรเลียมไทย บนอาคารชินวัตร!

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      เมื่อ สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีข่าวปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับรวมทั้งสื่อออ นไลน์ในทำนองว่า “บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด ซึ่งประธานบริษัทเป็นเพื่อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมของไทย ที่แหล่ง “นงเยาว์” ในอ่าวไทย”
       
        แม้ในเวลาต่อมา ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องได้ออกมาปฏิเสธว่าเรื่องนี้ “ไม่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ” พร้อมกับชี้แจงในบางประเด็นแล้วก็ตาม ผมในฐานะที่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องพลังงานมาพอสมควร มีความเห็นว่าข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยทุกคนควรให้ความสนใจให้ ถูกต้อง สำหรับเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ผมคาดว่าหลังจากได้อ่านบทความนี้จนจบแล้ว ผู้อ่านคงจะตัดสินใจได้เอง
       
        เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอลำดับเรื่องเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้ โดยใช้ข้อมูลจาก รายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และข้อมูลอื่นๆ ที่จะอ้างถึงต่อไป
       
        หนึ่ง เดิมทีเดียว แหล่งปิโตรเลียมที่เป็นข่าวได้ถูกสัมปทานให้กับ บริษัท เพิร์ล ออย (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีบริษัทในเครือจำนวน 12 บริษัท โดยที่ทุกบริษัทเคยมีสำนักงานอยู่ที่อาคาร SCB Park Plaza แต่ทั้งหมดได้ย้ายสำนักงานอยู่ที่อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ซึ่งผมได้ตัดมาจากรายงาน ในกล่องข้อความข้างล่าง
สัมปทานปิโตรเลียมไทย บนอาคารชินวัตร!
       ผมไม่แน่ใจว่า ทำไมบริษัทนี้จึงได้แตกออกไปมากมายถึงขนาดนี้ แต่หน้าที่ของแต่ละบริษัทคงสามารถคาดหมายได้จากชื่อในวงเล็บ เช่น “ออฟชอร์” คงหมายถึงกิจการในทะเล “ออนชอร์” เป็นกิจการบนบก ในขณะที่ “จี (G)” หมายถึงกิจการในแหล่งอ่าวไทย (Gulf) ซึ่งเป็นรหัสของทางราชการไทย เป็นต้น
       
        สอง ต่อมาแหล่งสัมปทานดังกล่าวทั้งหมดได้ถูกขายไปให้กับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคำว่า “มูบาดาลา” เป็นภาษาอารบิกแปลว่า “แลกเปลี่ยน (Exchange)” โดยที่บริษัทนี้เป็นบริษัทลูกของ Mubadala Development ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลประเทศสหรัฐเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งมีเมืองดูไบเป็นเมืองสำคัญ เท่าที่ผมค้นเจอ พบว่า บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ 2542 โดยสำนักงานยังคงอยู่ที่เดิมคืออาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3 แต่คราวนี้ไม่ใช่ชั้น 31 ชั้นเดียว แต่เป็น 3 ชั้นคือ 29 ถึง 31
       
        จากเว็บไซต์ของ เอเอสทีวีผู้จัดการ และ Bloomberg Businessweek ระบุตรงกันว่า ผู้บริหารสูงสุดของ Mubadala Development และสโมสรฟุตบอลแมนซิตี้ ยูไนเต็ต (ทีมเรือใบสีฟ้า) เป็นคนเดียวกัน คือ Khaldoon Khalifa Al Mubarak
       
        และเราคงจำกันได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เคยขายสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ให้กับ Khaldoon Khalifa Al Mubarak ในราคาเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่ซื้อมาประมาณ 5 พันล้านบาทในช่วงเวลาน่าจะไม่ถึง 2 ปี
       
        ดังนั้น เรื่องที่เป็นข่าวนี้จะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ก็แล้วแต่จะคิดกัน
       
        สาม ตำแหน่งของแหล่งปิโตรเลียมของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับสิทธิ์ไปนั้นปรากฏในแผนที่ของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ข้างล่างครับ
       
        โปรดสังเกตว่า นอกจากจะมีพื้นที่ในอ่าวไทย (G) แล้ว ยังมีแหล่งบนบก (Land) จำนวน 3 แหล่งด้วย คือ L21/50 สัมปทานเลขที่ 8/2551/99 มีพื้นที่ 3,921 ตารางกิโลเมตร (เช็กจากแผนที่คร่าวๆ น่าจะอยู่แถวๆ จังหวัดชัยภูมิและเพชรบูรณ์)
       
        ภาคใต้อีก 2 แหล่ง น่าจะอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช คือ L52/50 สัมปทานเลขที่ 2/2553/104 มีพื้นที่ 2,837 ตารางกิโลเมตร และ L53/50 สัมปทานเลขที่ 3/2553/105 มีพื้นที่ 3,067 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่สุราษฎร์ธานีเท่ากับ 12,892 ตารางกิโลเมตร หรือ 8.1 ล้านไร่)
       
        ถ้ารวมพื้นที่สัมปทานบนบกทั้ง 3 แหล่งประมาณ 6.16 ล้านไร่ มันใหญ่โตขนาดไหนก็คงพอจะนึกกันออกนะครับ การขุดน้ำมันในพื้นที่บนบกจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้
สัมปทานปิโตรเลียมไทย บนอาคารชินวัตร!
       สี่ บริษัท เพิร์ล ออย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานครั้งแรกในปี 2532 (เลขที่สัมปทานในแหล่ง B5/27 บนพื้นที่ 75.89 ตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่สงวนไว้อีกประมาณ 1,855 ตารางกิโลเมตร จากนั้นก็ได้รับสัมปทานเพิ่มอีก 2 แหล่งในปี 2549 และต่อมาอีก 7 แหล่งในปี 2550-2551 ดังตาราง
สัมปทานปิโตรเลียมไทย บนอาคารชินวัตร!
       การให้สัมปทานในแต่ละปีตรงกับรัฐบาลใดก็คิดเอาเองนะครับ
       
        เฉพาะในแหล่ง B5/27 ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมทั้งๆ ที่ได้รับสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2532 แต่ปรากฏว่าเพิ่งได้มีการขุดเจาะเพื่อสำรวจปี 2554 นี้เอง ก่อนหน้านี้ทำไมจึงไม่มีการสำรวจ และจากการเจาะจำนวน 11 หลุม ผลปรากฏว่า พบน้ำมันดิบ 10 หลุม โดยไม่พบปิโตรเลียมเพียง 1 หลุมเท่านั้น (หน้า 64)
       
        อนึ่ง ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องของไทยมักจะกล่าวเสมอว่า “การเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในบ้านเรา โอกาสจะพบมีน้อย 10 หลุมอาจจะเจอสัก 1 หลุมเท่านั้น” ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมในแหล่ง B5/27 จึงได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม
       
        จากรายงานฉบับดังกล่าว ในแหล่ง B5/27 นี้มีแหล่ง จัสมิน 6 หลุม (ได้รับการอนุมัติให้ผลิต กันยายน 2545) และบานเย็น 4 หลุม (ได้รับการอนุมัติให้ผลิต มีนาคม 2550 หน้า 75 แต่ในหน้า 64 บอกว่าเพิ่งสำรวจ)
       
        รายงานนี้ระบุว่าทั้งสองแหล่งนี้ได้มีการผลิตน้ำมันดิบสะสมไปแล้ว (นับถึงปี 2554) จำนวน 40.23 ล้านบาร์เรล โดยมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วจำนวน 10.94 ล้านบาร์เรล (ไม่มีก๊าซธรรมชาติ)
       
        ห้า ถ้าดูรายละเอียดจากแผนที่ในข้อสาม กับรายการในข้อสี่ พบว่าบริษัท เพิร์ล ออย จำกัด ได้ขายสัมปทานของตนไปทั้งหมด ยกเว้นแหล่ง G2/50 ดังนั้น เราน่าจะสรุปได้ว่าเป็นแค่บริษัทนายหน้าเท่านั้นเอง
       
        หก แหล่งปิโตรเลียมที่ตกเป็นข่าวคือ “นงเยาว์” และ “มโนราห์” ซึ่งอยู่ในแปลงสัมปทาน G11/48 (แหล่งล่างสุดในแผนที่ข้อสาม) อยู่ห่างจากชายฝั่ง 165 กิโลเมตร บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ลงทุน 75% ที่เหลืออีก 25% เป็นบริษัท Kris Energy ซึ่งจดทะเบียนในสิงคโปร์
       
        จากรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า แหล่ง G11/48 ได้ให้สัมปทานในปี 2549 แต่เว็บไซต์ของบริษัทมูบาดาลาระบุว่า “แหล่งนงเยาว์ถูกค้นพบในปี 2552 แต่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการให้พัฒนาในเดือนสิงหาคม 2556 มีทั้งหมด 23 หลุม คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในครึ่งปีแรกของ 2558 โดยมีอัตราการผลิตสูงสุด 10,000 บาร์เรลต่อวัน” นอกจากน้ำมันดิบแล้วยังมี “30,000 barrels of fluids per day” ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันคืออะไร คอนเดนเสท?
       
        คาดว่าแหล่งนี้จะมีน้ำมันดิบสำรอง 12.4 ล้านบาร์เรล โดยจะสิ้นสุดโครงการในเจ็ดปี
       
        สำหรับแหล่ง “มโนราห์” นั้น “ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการให้พัฒนาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 คาดว่าจะผลิตได้ในกลางปี 2557 ในอัตราสูงสุด 15,000 บาร์เรลต่อวัน”
       
        โดยสรุป แหล่งปิโตรเลียมที่เป็นข่าวดังกล่าว เป็นแหล่งสัมปทานเก่าที่ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือกันมา จนมาอยู่ในมือของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม แต่ได้รับการอนุมัติให้ผลิตอย่างเป็นทางการในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
       
        เจ็ด นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจว่า บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียมได้ขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยไปแล้วจำนวนเท่าใด และแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร
       
        จากเว็บไซต์ของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียมระบุพอสรุปได้ว่า “นับตั้งแต่ได้ซื้อสัมปทานมาจากบริษัทเพิร์ล ออย เมื่อปี 2547 เราได้เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานมากเป็นอันดับสามในประเทศไทย บริษัทได้ดำเนินการใน 8 สัมปทาน รวมทั้งแหล่งที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในแหล่ง B5/27”
       
        “เราได้มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้จ่ายภาษีเงินได้รวมทั้งค่าภาคหลวงนับถึงสิ้นปี 2555 ไปแล้วกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในสิ้นปี 2555 บริษัทได้ผลิตน้ำมันดิบไปแล้วถึง 45 ล้านบาร์เรล โดยผลิตในแหล่งจัสมินและบานเย็น”
       
        ประเด็นที่คนไทยอยากรู้ก็คือ บริษัทได้กำไรไปเท่าใด เป็นธรรมหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่เว็บไซต์นี้ไม่ได้บอกครับ
       
        ด้วยความอยากรู้ดังกล่าว ผมจึงตรวจสอบกับข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ผมไล่ไปทีละเดือน ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2555 พบว่า
       
        มีผลผลิตรวม 42.6 ล้านบาร์เรล (เฉพาะแหล่งจัสมิน แต่ไม่มีข้อมูลของแหล่งบานเย็น) มูลค่าคิดเป็นเงินบาท 105,838 ล้านบาท เฉลี่ยบาร์เรลละ 2,486 บาท เสียดายที่ผมไม่มีเวลาค้นหาอัตราแลกเปลี่ยน แต่ถ้าคิดอัตราคงที่คือ 30 บาทต่อเหรียญ จะได้ว่า ราคาน้ำมันดิบนี้เท่ากับ 82.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
       
        ถ้าเราเปลี่ยน 105,838 ล้านบาท ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท/ดอลลาร์ ก็จะได้ว่ามูลค่าปิโตรเลียมที่บริษัทมูบาดาลาขุดได้จำนวน 3,528 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
        เมื่อหักค่าใช้จ่าย 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าภาคหลวงและภาษี 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะได้ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิประมาณ 828 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 24,840 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของเงินลงทุน นี่เป็นเพียงการคิดเบื้องต้นเท่านั้นครับ
       
        แปด ถ้าพูดถึงการปฏิรูปการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของไทย ผมขอตั้งข้อสังเกตสั้นๆ ดังนี้
       
        (1) ปัจจุบันมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยที่ผู้รับสัมปทานได้กำไรสุทธิ (โดยข้อมูลจริง) เฉลี่ยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ปีละ 60% ของเงินลงทุน ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หมายเหตุ กรณีบริษัทมูบาดาลาที่กำไร 46% นั้น เป็นการคิดคร่าวๆ)
       
        (2) การให้สัมปทานในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุว่า ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ แต่ทันทีที่ขุดขึ้นมาแล้วจะกลายเป็นของบริษัทรับสัมปทาน การผลิตมากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นกับความต้องการใช้ภายในประเทศ แต่ขึ้นกับโอกาสในการทำกำไรสูงสุดของบริษัท ข้อมูลในอดีตพบว่า น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในปัจจุบันมีการส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 25% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี
       
        (3) การพิจารณาให้สัมปทานกับบริษัทใด ไม่ได้มีการประมูลหรือแข่งขันให้ประเทศได้ผลประโยชน์สูงสุด แต่ใช้ลักษณะเดียวกับการประกวดนางงาม จริงๆ ครับ ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการโดยการพิจารณาจากแบบฟอร์มที่กรอกกันมา ซึ่งในแบบฟอร์มนั้นระบุว่าจะให้ทุนการศึกษาจำนวนเท่าใด เป็นต้น
       
        (4) เมื่ออายุสัมปทานหมดลง บริษัทเดิมก็จะได้ต่อสัญญา เพราะเครื่องมือในการขุดเจาะเป็นของบริษัท ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย ถือว่า อุปกรณ์การขุดเจาะทั้งหมดเป็นของรัฐทันทีตั้งแต่วันที่นำเข้ามา
       
        ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมอยากใช้คำว่า “แย่มาก” ครับ

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สัมปทานปิโตรเลียมไทย อาคารชินวัตร!

view