สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปณิธาน-ถวิล วิพากษ์รัฐใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ปณิธาน-ถวิล"วิพากษ์รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมม็อบ กปปส. ยกปี 2553 เทียบปี 2557 เข้าขั้นฉุกเฉินหรือยัง

การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ส่อเค้าวิกฤติมากขึ้นนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย

เหตุผลสำคัญที่หยิบขึ้นมาอธิบายคือ สถานการณ์ขณะนี้เข้าขั้น "ฉุกเฉิน" แล้วหรือยัง

ประเด็นนี้ถ้าจะให้ดี ต้องย้อนถามผู้มีประสบการณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่าง รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างคำสั่งและประกาศข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารออกปฏิบัติงาน ซึ่งผิดกับในยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชนก่อนหน้านั้นที่ฝ่ายทหารปฏิเสธการเป็นกลไกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

"วัตถุประสงค์ของการใช้ เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นแก่เจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ เพราะการออกมาตรการบังคับตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ให้อำนาจแทบไม่ต่างกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) เพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องถูกฟ้องร้อง"

"ที่สำคัญคือหน่วยงานที่เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ไม่ต้องอยู่ในกรอบแบบ พ.ร.บ.ความมั่นคง อย่างเช่น ไม่ต้องเป็นหน่วย กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ไม่ต้องมีอัตราโครงสร้างกำลังที่ชัดเจน และที่สำคัญไม่ต้องเสนอแผนการปฏิบัติที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนเหมือน พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่สามารถเสนอและกำหนดกันเองได้ในกลุ่มคนเล็กๆ ทันที ก็ทำให้เกิดความยืดหยุ่น รวดเร็ว เจ้าหน้าที่จะมีความรู้สึกว่า ทำงานได้คล่องตัวขึ้น ไม่ต้องไปรับผิดชอบต่อการถูกดำเนินคดี ตรงนี้น่าจะเป็นผลให้แง่ของวัตถุประสงค์หลัก"

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่มีประสบการณ์ตรง เขาบอกว่า ในการปฏิบัติงานจริง ขึ้นอยู่กับหน่วยงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ถ้าเป็นหน่วยที่มีขีดความสามารถ มีวินัย ก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเร็ว แต่ประเด็นสำคัญคือว่า ถ้าใช้ในทางการเมือง แล้วกำหนดเจ้าหน้าที่ที่เป็นคู่กรณีกับประชาชนอยู่แล้วเข้าไปปฏิบัติ ก็จะเป็นปัญหา ทำให้เกิดการเผชิญหน้า

"พฤติกรรมของผู้ชุมนุมในขณะนี้หลายคนบอกว่าไม่ได้เข้าตามนิยามของสถานการณ์ฉุกเฉินเท่าไรนัก แตกแต่งจากในอดีต (ปี 2552-2553) ซึ่งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพราะมีการเข้าไปไปปิดการประชุมนานาชาติที่พัทยา จ.ชลบุรี มีการใช้อาวุธ และพยายามทำร้ายนายกรัฐมนตรี แต่ลักษณะในปัจจุบัน ผู้ชุมนุมย่อมไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคงไม่ปฏิบัติตาม อันจะทำให้เกิดการเผชิญหน้ามากขึ้น"

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลหวังน่าจะเป็นเรื่องผลทางจิตวิทยา การป้องปราม คือ คงทำให้ผู้คนกลัวเกรงกฎหมาย การใช้กฎหมายจะเข้มข้นขึ้น ให้เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจ มีความสามารถในการปฏิบัติมากขึ้น เพราะมีความรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรโดยตรง แต่ประเด็นเหล่านี้จะมีผลกระทบในมุมกลับอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะคำถามของหลายคนที่ว่า ถ้าสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วจะเดินไปสู่การเลือกตั้งได้อย่างไร

ขณะที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อกระชับพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯของรัฐบาลในขณะนี้ เป็นการมุ่งแก้ไขสถานการณ์คับขันของรัฐบาลเอง มากกว่าแก้ไขสถานการณ์การชุมนุม

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. ยังไม่มีอะไรที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ มีแต่การคุกคามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงถึงขั้นปาระเบิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องเข้าไปจัดการ ติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ สถานการณ์ที่เกิดในขณะนี้ตรงกันข้ามกับสถานการณ์เมื่อปี 53 อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากในขณะนั้นศาลแพ่งมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมไม่สงบและปราศจากอาวุธตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ มีการใช้อาวุธสงครามกระทำต่อเจ้าหน้าที่ โดยที่ผู้ชุมนุมไม่เคยได้รับอันตราย และมีการก่อเหตุรุนแรงขึ้นหลายรูปแบบ มีกองกำลังติดอาวุธปรากฏตัวอย่างชัดเจน

จึงมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าระงับยับยั้งสถานการณ์!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปณิธาน ถวิล วิพากษ์รัฐ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

view