สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มิตรเก่า-มิตรใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ก่อนการเลือกตั้งปี 2554 อเมริกาวางแผนที่จะให้ มร.ที. กลับขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งผ่านหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ ในปลายเดือน มิ.ย. 2554 มีคนอเมริกันที่เป็นบุคคลสำคัญในวงการต่างๆ สุมหัวระดมความเห็นกัน ทั้งสมาชิกสภาคองเกรส เจ้าหน้าที่ชั้นสูงในกระทรวงการต่างประเทศที่รับผิดชอบกิจการเอเชียแปซิฟิกที่คลุมประเทศไทยด้วย นักวิชาการหลายคนจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือซีเอฟอาร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อดีตเจ้าหน้าที่ยูซีสประจำประเทศไทย บริษัท บีอาร์จี กรุ๊ป ซึ่งเป็นล็อบบี้ยิสต์และประชาสัมพันธ์ บริษัทน้ำมันเชฟรอน กลุ่มสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเฮอริเทจ อเมริกาสนใจการเลือกตั้งในไทยเพราะอเมริกามีผลประโยชน์โดยตรง

การประชุมครั้งนั้น ทุกฝ่ายสรุปตรงกันโดยคาดว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดี บางคนอ้างว่า “สถาบันเก่าแก่” ซึ่งหวาดกลัวบทบาทของ มร.ที.ที่ท้าทายสถาบัน จะขัดขวางไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยผลักดันให้มีการรัฐประหารอีก เพื่อตอบโต้การนี้ พวกเขาได้เรียกร้องให้กระทรวงต่างประเทศอเมริกันรีบประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยทันที เพื่อผูกมัดให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น

ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามคาด และทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีสถาบันเก่าแก่หรือใครก็ตามขัดขวางผลการเลือกตั้ง ไม่มีทหารเข้าแทรกแซง ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นทัศนะของคนกลุ่มนี้ต่อสถาบันสูงสุดของไทย โจเซฟ วาย. หยุ่น เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงต่างประเทศอเมริกันอธิบายชัดเจนว่า ที่รัฐบาลอเมริกันสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ เพราะ มร.ที.เป็นคนพูดง่าย อะไรก็ได้ ง่ายสำหรับอเมริกันที่จะทำงานด้วย ก่อนหน้านี้ เขาเคยให้ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย การบุกอัฟกานิสถานมาแล้ว สหรัฐอ้างว่า ได้คัดค้านการยึดอำนาจรัฐบาล มร.ที. ในปี 2549 อย่างรุนแรงที่สุดในประชาคมระหว่างประเทศ

วิธีคิดของกลุ่มอิทธิพลต่อการตัดสินของอเมริกันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในไทยปี 2557 กลุ่มคนดังกล่าวคงประชุมสัมมนากันเรียบร้อยแล้ว แต่ครั้งนี้พวกเขาคงไม่กังวลเท่าไร เพราะพรรคเพื่อไทยคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เพียงแต่ทำอย่างไรจะให้คนเข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ชอบธรรม บริษัทล็อบบี้ยิสต์และบริษัทประชาสัมพันธ์อเมริกันที่ มร.ที.จ้างไว้ทำงานอย่างได้ผล ผลิตชุดความคิดออกมาอย่างต่อเนื่องเผยแพร่ กระจายให้สื่อมวลชนอเมริกัน ให้ สส.และ สว. บริษัทประชาสัมพันธ์สามารถส่งความคิดนี้เข้าทำเนียบขาว และส่งไปถึงประธานาธิบดีได้โดยตรง ล่าสุด ไมเคิล อาร์. เทอร์เนอร์ สส.รัฐโอไฮโอ ทำหนังสือถึงประธานาธิบดี บารัก โอบามา ให้ประณามการชุมนุมของมวลมหาประชาชนไทยว่าเป็นการใช้กำลังทำลายระบอบประชาธิปไตย ก่อนนั้น สื่ออเมริกันทั้งซีเอ็นเอ็น นิวยอร์กไทมส์ รอยเตอร์ส ฯลฯ ดาหน้าออกมากล่าวหาว่า กลุ่ม กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง เป็นการทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังเข้าคลอง เป็นต้น

ให้สังเกตว่า การเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไทยของวอชิงตัน ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่อย่างใด ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งได้รับการประกันโดยรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่มีกลุ่มใช้ความรุนแรงซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลมีส่วนรู้เห็น กระทำต่อผู้ชุมนุมตลอดมา ล่าสุดคือการใช้ระเบิดสังหารขว้างใส่ผู้ชุมนุมจนผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน มีการข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและทรัพย์สินของฝ่ายค้าน สื่อมวลชนที่เห็นต่าง

วันที่ มร.ที.ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนขึ้นสู่อำนาจในปี 2552-2553 และรักษาอำนาจไว้ในปี 2557 อเมริกาซึ่งถือว่าเป็น “แชมเปี้ยนแห่งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” ไม่เคยออกมาประณามการกระทำดังกล่าวเลย เพราะถือว่าคนคนนี้จะให้ผลประโยชน์สหรัฐได้ ลัทธิประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองที่สหรัฐจะใช้ข่มขู่กดดันประเทศที่ขัดผลประโยชน์ตนเท่านั้น

นโยบายของสหรัฐต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องผลประโยชน์โดยตรง หนึ่ง ต้องการกลับมาใช้สนามบินอู่ตะเภาอีกครั้งเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ สอง ต้องการผลประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอเมริกัน-ไทย สาม ต้องการแสวงประโยชน์จากน้ำมันในอ่าวไทย ที่เวลานี้บริษัท เชฟรอน ของอเมริกันได้รับสัมปทานอยู่หลายแห่งแล้ว หากไทยและกัมพูชาอ้างตกลงกันได้ในพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับกันอยู่ บริษัท เชฟรอน พร้อมที่จะเข้าไปทันที ดังนั้น ฝ่ายไหนให้ประโยชน์กับเขาได้ เขาเอาทั้งนั้น

รัฐบาลสหรัฐมองสถาบันสูงสุดในมุมมองที่แตกต่างกันไป ในขณะที่สถาบันสูงสุดของไทยเน้นถึงความดีความชั่ว ความถูกความผิด อย่าให้คนไม่ดีมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง แต่อเมริกามองผลประโยชน์เป็นสำคัญ เขาไม่สนใจเรื่องความดีความชั่ว สถาบันสูงสุดเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ให้คนไทยดำรงชีวิตแบบพอประมาณ เดินสายกลาง สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่อเมริกันมองว่านี่คือวิธีคิดแบบสังคมนิยม ขัดกับลัทธิทุนนิยมของอเมริกันที่ต้องสร้างกำไรให้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ประเทศพัฒนา กลุ่มทุนสามานย์ไทยจึงจับมือกับกลุ่มทุนสามานย์อเมริกัน เพื่อร่วมกันกอบโกยทรัพยากรของไทย และยืนอยู่ข้างเดียวกันทางการเมือง

ทุนสามานย์ไทยสร้างชุดความคิดเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อว่า สถาบันเป็นของเก่า ขัดขวางการพัฒนา ทุนเก่าจะถูกกำจัดออกไปตามทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน ทุนสามานย์กำลังคิดหาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบเนปาล เขมร ญี่ปุ่น อังกฤษ ที่ให้กษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้นหากขจัดยังไม่ได้ กลุ่มทุนสามานย์อเมริกันมาจากการต่อสู้ปลดแอกจากระบบกษัตริย์อังกฤษ ดังนั้น คนอเมริกันจึงไม่ซาบซึ้งในระบบกษัตริย์แต่อย่างใด และคงยินดีหากมีการเปลี่ยนแปลงในไทยให้เป็นแบบประธานาธิบดีอเมริกัน

ในขณะที่วิธีคิดของไทยค่อนข้างจะคล้ายกับมหาอำนาจแห่งเอเชียตะวันออก คือ จีน ที่มีอารยธรรมหลายพันปีก่อนอเมริกา คนไทยและคนจีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งทางประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศิลปวัฒนธรรม การค้า จีนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อสถาบันสูงสุดของประเทศ คนจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และรู้สึกถึงบุญคุณของแผ่นดินไทย จึงไม่แปลกใจที่ว่า ทำไมคนจีนในไทยจึงออกมาร่วมกับมวลมหาประชาชนปกป้องแผ่นดินที่บรรพบุรุษของพวกเขามาอาศัยร่มโพธิ์ทำมาหากินจนร่ำรวย อยู่เย็นเป็นสุขและเป็นแผ่นดินที่พวกเขาเกิดมาในรุ่นหลัง คนไทยเป็นมิตรกับจีนมากที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคนี้ที่มีคนจีนอาศัยอยู่ ที่สำคัญคือ คนจีนมีความจริงใจมากกว่าอเมริกัน

นโยบายการสร้าง “ดุลแห่งอำนาจ” ยังใช้ได้เสมอ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มิตรเก่า มิตรใหม่

view