สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สื่อนอกจับตาจุดเปลี่ยนไทย-โดมิโน-เขย่าประชาธิปไตยโลก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ยิ่งใกล้ถึงวันเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. เข้าไปทุกขณะ ทุกฝ่ายต่างก็จับจ้องไปที่การปะทะกันของคนสองฝั่งความคิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยังปักหลักยึดที่มั่นกับคำว่า “ต้องเลือกตั้ง” ทว่าบรรดาสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ต่างชาติที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองไทยมาอย่างใกล้ชิด ต่างก็เริ่มส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่าความรุนแรงที่คาดว่าจะยิ่งบานปลายหลังจากนี้จะส่งผลให้กำหนดเลือกตั้งเดิมต้องเป็นหมันไป

ไม่ว่าจะมองจากมุมของสื่อไทยหรือนักวิเคราะห์นอก สถานการณ์ดังกล่าวซึ่งเมื่อรวมกับการไล่บี้ขององค์กรอิสระแล้ว ก็ยิ่งสะท้อนถึงความเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลรักษาการเข้าไปทุกขณะ เรียกได้ว่าหากไม่แพ้ก็มีแต่การยื้อให้เสมอตัวบนความย่อยยับของชาติบ้านเมืองเท่านั้น

ทว่าในความเพลี่ยงพล้ำของไทยครั้งนี้ ยังอาจนับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่บ่งชี้ถึงความเพลี่ยงพล้ำของ “ประชาธิปไตยโลก” ไปพร้อมกันด้วย

หนังสือพิมพ์เทเลกราฟในอังกฤษ ได้รายงานบทความเชิงสะท้อนความเห็นของคอลัมนิสต์ ฌอน โธมัส ว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยอาจสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยโลก ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกได้

บทความในสื่อกระแสหลักของอังกฤษฉบับนี้ ระบุว่า ใครก็ตามที่เปรียบเทียบการเมืองไทยกับบริบทของฝรั่งอย่างง่ายๆ ว่าเป็นเหมือนกับกบฏชาวนาในอังกฤษหรือการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดผู้ยากจนกับชนชั้นปกครองกลุ่มคนเสื้อเหลืองผู้กดขี่ข่มเหงนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับคนโง่ที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราว

เพราะการขับเคลื่อนของฝ่ายคนเสื้อแดงนั้นมาจากกลุ่มชนชั้นปกครอง นายพล และนักธุรกิจฝ่ายเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนำความมั่งคั่งมาสู่ตระกูลด้วยดีลธุรกิจที่ทับซ้อนผลประโยชน์ในเชิงการเมืองหลายพันล้านบาท

ในทางกลับกันนั้น ฝ่ายเสื้อเหลืองที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นนำผู้มั่งคั่ง กลับยังประกอบไปด้วยประชาชนจำนวนมากในภาคใต้ที่ไม่ใช่คนร่ำรวย และหลายฝ่ายยังมาจากสหภาพองค์กรต่างๆ ที่เผชิญปัญหาคอร์รัปชั่นจากนโยบายของทักษิณ

อย่างไรก็ตาม ความเคยชินของคนไทยต่อความขัดแย้งทางสีเสื้อที่มีมาอย่างต่อเนื่องทุกปี กลับแตกต่างออกไปในครั้งล่าสุดนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อกว่าทุกครั้งจนทำให้หลายฝ่ายอดวิตกไม่ได้ว่าประชาธิปไตยของไทยกำลังจะสลายลงอีกครั้ง

ทั้งนี้ หากยิ่งพิจารณาถึงบริบทสถานการณ์โลกประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยก็เป็นเพียงอาการหนึ่งของปรากฏการณ์ทั่วโลก นั่นคือ การเปลี่ยนผ่านจากระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไปสู่ “การปกครองรูปแบบใหม่” ที่มีรัฐบาลพรรคเดียว และเป็นผู้กำกับดูแลระบบทุนนิยมในประเทศโดยตรง

เทเลกราฟให้มุมมองที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะตัวอย่างประชาธิปไตยในโลกตะวันตกนั้นกำลังเสื่อมถอยลง มหาอำนาจสหรัฐที่เป็นต้นแบบให้โลกกำลังพัฒนาต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจนค่อยๆ กัดกร่อนความเป็นมหาอำนาจ เช่นเดียวกับยุโรปที่ยังสะบักสะบอมจากวิกฤตการณ์หนี้ยูโรโซน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากชาติกำลังพัฒนาจะคิดถอยห่างจากเสรีภาพบางส่วน เพื่อหันไปสู่การปกครองใหม่ที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพมากกว่า

เพราะในขณะที่ตะวันตกเสื่อมถอย “จีน” และ “สิงคโปร์” กลับยังคงเป็นตัวอย่างโมเดลแห่งความสำเร็จในภูมิภาค รัฐบาลพรรคเดียวแบบจีนสามารถควบคุมเสถียรภาพภายในได้อย่างมั่นคงและสามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ ในขณะที่สิงคโปร์ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนรัฐบาลมาตั้งแต่ 49 ปีของการก่อตั้งประเทศนั้น ก็ผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดของโลก

ตัวเลือกระหว่างการเมืองแบบตะวันตกที่เสื่อมอิทธิพลลง กับการเมืองแบบจีนและสิงคโปร์ที่นำมาซึ่งความมั่งคั่งของคนในชาติ จึงอาจไม่ใช่ชอยส์ที่เลือกยากของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหรือภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความแตกต่างทั้งในเชิงของวัฒนธรรมและความคิดไปจากฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแต่สื่ออังกฤษกระแสหลักที่เริ่มมองนอกกรอบประชาธิปไตยเดิมๆ ในตำรา เพราะยิ่งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในไทยและอีกหลายประเทศเริ่มบานปลาย สื่อและนักวิชาการต่างชาติจึงต้องเริ่มหันมาตั้งคำถามกับระบอบประชาธิปไตยโลกในวันนี้กันมากขึ้นว่า ยังใช้ในเชิงปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

เว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจชั้นนำ บลูมเบิร์ก บิสเนส วีก รายงานบทความของโจชัวร์ คูร์แลนซิค นักวิชาการจากสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศในสหรัฐ ที่สะท้อนมุมมองในทำนองเดียวกันว่า ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในไทย บังกลาเทศ กัมพูชา ยูเครน ตุรกี และบราซิลนั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

คูร์แลนซิค นับเป็นนักวิชาการตะวันตกอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้ตัดสินสถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างง่ายๆ ด้วยคำว่าสงครามชนชั้นหรือเป็นความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นล้วนเป็นผลพวงมาจาก “รัฐบาลเผด็จการในคราบประชาธิปไตย”

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยโลกกำลังถอยหลังลงคลองนั้น คือการปล่อยให้เกิดเผด็จการจากการเลือกตั้งในหลายประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำในหลายประเทศดังที่ระบุไปข้างต้นนี้ล้วนใช้อำนาจที่ได้มาจากประชาชนในทางมิชอบ สร้างสมขุมกำลังเครือข่ายฝ่ายตนเองและบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามจนไม่อาจลุกขึ้นมาท้าทายได้

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ฝ่ายที่กำลังเสียอำนาจนั้นเลือกที่จะไม่เล่นตามกรอบที่วางไว้อีกต่อไป แต่หันไปสู่รูปแบบของการเดินขบวนประท้วงและการใช้ความรุนแรง ดังที่เห็นได้ในยูเครนและตุรกี ขณะที่อียิปต์นั้น ชาวเมืองถึงกับยอมให้ทหารใช้ความรุนแรงกับฝ่ายอดีตประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มอร์ซี

ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ ยังมองเห็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนประชาธิปไตยของโลกกำลังพัฒนาในทิศทางเดียวกัน ว่า ความมั่งคั่งและแข็งแกร่งของ “จีน” นั้น กำลังเป็นต้นแบบที่เข้ามามีอิทธิพลมากกว่าแทน

ในขณะที่การส่งออกประชาธิปไตยจากฝั่งตะวันตกเริ่มสะดุดลง จีนกลับเป็นฝ่ายรุกการส่งออกแนวความคิดจากกรุงปักกิ่ง โดยควักกระเป๋าเปิดอบรมข้าราชการกว่าหมื่นคนจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ให้มาดูงานและการพัฒนาในแบบของจีน

“บรรดาชาติในอาเซียนต่างปรับยุทธศาสตร์การพัฒนา จากรูปแบบของตลาดเสรีบนระบอบประชาธิปไตยหันไปสู่ตลาดกึ่งเสรีบนระบอบการเมืองปิดกั้นมากขึ้น” อินาติอุส วิโบโว นักวิชาการอิสระจากอินโดนีเซีย ระบุในผลวิจัยอิทธิพลจีนที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หากพิจารณาจากทัศนะของสื่อและนักวิชาการเหล่านี้จะตระหนักได้ว่า เหตุใดการเมืองไทยที่กำลังอยู่ในช่วงโค้งสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จึงกลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของระบอบประชาธิปไตยโลกที่นานาประเทศต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดไปพร้อมกันด้วย

เพราะประเทศไทยที่เคยเป็นหัวขบวนแห่งประชาธิปไตยให้อาเซียนมาแล้วในยุคหลังสงครามโลก อาจพลิกบทกลายเป็นโดมิโนล้มขบวนอย่างไม่อาจคาดถึง ก็เป็นได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สื่อนอกจับตา จุดเปลี่ยนไทย โดมิโน เขย่าประชาธิปไตยโลก

view