สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชะตากรรม คนไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์


ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือ 5-6 เดือนนับจากนี้ ประเทศไทยและคนไทยต้องอยู่ในภาวะ "สุญญากาศ" ไร้รัฐบาลที่จะทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไร้ซึ่งความชัดเจนของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยมีการกล่าวกันว่า เป็นการแช่แข็งเศรษฐกิจประเทศอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพราะ ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.นี้ แต่จากที่ไม่มีผู้สมัครยี่สิบกว่าเขต ทำให้ต้องใช้เวลาเลือกตั้งซ่อมจนกว่าจะได้ ส.ส.ครบ ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในครึ่งปีแรกก็คงเป็นไปได้ยาก

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตเพียง 0.6% เท่านั้น และหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงกลางปีก็ประเมินว่าจะทำให้ทั้งปีเติบโต 2.8% ต่ำกว่าที่เดิมประมาณการไว้ 4.3% โดยคิดเป็นผลผลิตที่ลดลงประมาณ 170,000 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญคือในภาวะเช่นนี้ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่คงสามารถยืนหยัด ปรับตัวขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤตการเมืองให้อยู่รอด เพื่อรอวันบ้านเมืองสงบอีกครั้งได้ แต่สำหรับประชาชนคนไทยที่หาเช้ากินค่ำ หรือเอสเอ็มอีรายย่อยที่สายป่านไม่ยาว จะสามารถต่อสู้ไปถึงเวลานั้นได้หรือไม่ เพราะสถานการณ์ในวันนี้หลายคนก็เริ่มประสบปัญหากันแล้ว

ขณะที่อีก ด้าน "ชาวนา" ที่วันนี้กลายเป็นแพะ ผลจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด (ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการคอร์รัปชั่น) จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเกิดความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศ 7-8 แสนล้านบาท กระทั่งไม่มีเงินหมุนเวียนจ่ายให้ชาวนา โดยที่บางคนได้ใบประทวนเพื่อรอรับเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่ต่างกับรัฐบาลจ่าย "เช็คเด้ง"ให้ชาวนา โดยกำลังดิ้นรนหาทางกู้เงินเพิ่มอีก 1.3 แสนล้านบาท เพื่อมาจ่ายให้ชาวนาที่รอมาแล้ว 3-4 เดือน

สำหรับชาวนาบางคนอาจรอ ได้ แต่คนที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาจะทำอย่างไร เพราะว่าดอกเบี้ยเงินกู้ก็วิ่งไม่หยุด อย่างนี้รัฐบาลจะรับผิดชอบต่อบาปที่กระทำไว้กับชาวนาอย่างไร ซึ่งในหลักการ ผู้รับจำนำควรต้องรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยให้ชาวนาด้วย เพราะรับจำนำข้าวไปแล้วแต่ยังไม่จ่ายเงิน

ส่วนกรณีที่ ธ.ก.ส.พยายามช่วยเหลือสภาพคล่องชาวนา โดยการขยายเพดานเงินกู้ให้สำหรับชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงิน แต่มันใช่เรื่องหรือที่อยู่ ๆ ก็ให้ชาวนาเป็นหนี้เพิ่ม และต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม เหตุเพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินมาจ่ายชาวนา ในกรณีนี้รัฐบาลจึงน่าจะรับผิดชอบดอกเบี้ยแทนชาวนา

แม้ว่าเรื่องนี้อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ความเป็นธรรมกับชาวนาแล้ว ก็ควรมิใช่หรือ ?

เช่นที่ "อาจารย์อัมมาร สยามวาลา" นักวิชาการเกียรติคุณจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า "โครงการนี้เริ่มล้มละลายตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเริ่มต้นรับจำนำแล้ว เพราะประกาศรับจำนำราคา 15,000 บาท ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าขายไม่ได้...รัฐบาลคุณ ยิ่งลักษณ์มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ชาวนาทั้งหมด และอาจจะต้องบวกดอกเบี้ยด้วย เพราะสำหรับชาวนา การขาดสภาพคล่องนาน 4-5 เดือนถือว่าแพงมาก"

ไม่ว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ การแช่แข็งประเทศไทย และการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ที่วันนี้กำลังออกดอกออกผล ตกทอดเป็น "มรดกพิษ" ของประเทศไทยต่อไป

นี่ คือชะตากรรมของคนไทย ที่เป็นผลจากคนระดับ "ผู้นำ" ที่เชื่อมั่นและดันทุรังกับหมุดหมายของตัวเอง โดยไม่เปิดรับฟังใคร ซึ่งไม่รู้ว่าถึงที่สุดแล้วเขาเหล่านั้นจะรับรู้ และรับผิดชอบกับชะตากรรมของคนเหล่านี้อย่างไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชะตากรรม คนไทย

view