สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเทศไทยกับคอร์รัปชัน (1)

ประเทศไทยกับคอร์รัปชัน (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เราคงไม่ต้องถามคำถามที่ว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชันไหม เพราะแรงจูงใจส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยเป็นล้านไปเป่านกหวีดไล่รัฐบาล

ที่เสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่เปลี่ยนผิดเป็นถูกเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องของตน นับเป็นการคอร์รัปชันทางนโยบายอย่างมโหฬารที่สุด ผลก็คือปฏิกิริยาโต้ตอบที่มโหฬารยิ่งกว่า

คอร์รัปชันในประเทศไทยนี้รุนแรงแค่ไหน เรื่องนี้เราต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนได้ข้อมูลนี้จากคุณดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ หนึ่งในผู้เขียนบทความกลโกงคอร์รัปชัน ให้แก่สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ การวัดคอร์รัปชันในระดับนานาชาติดูได้จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CorruptionPerceptionIndex-CPI) จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (TransparencyInternational-TI) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ซึ่งจัดทำประจำทุกปี โดยการสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 150 ประเทศ คะแนน 0 หมายถึงมีระดับความโปร่งใสต่ำที่สุดและมีการทุจริตคอร์รัปชันสูงที่สุด ในขณะที่ประเทศที่ได้คะแนน 10 หมายถึงมีระดับความโปร่งใสสูงที่สุดการทุจริตคอร์รัปชันต่ำที่สุด

ในกรณีของประเทศไทย CPI ในปีล่าสุด คือ ในปี ค.ศ. 2012 คะแนน CPI ของประเทศไทยเท่ากับ 37 (จาก 100 คะแนน) อยู่ในอันดับ 88 จาก 176 ประเทศ พูดง่ายๆ ว่าอยู่ในซีกครึ่งล่างของกลุ่มประเทศที่มีคอร์รัปชันอันดับสูง

แนวโน้มคะแนนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปีค.ศ. 2003 - 2012) อยู่ระหว่าง 3.3 - 3.7 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีภาพลักษณ์ของการทุจริตคอร์รัปชันที่มีอยู่สูง มีความโปร่งใสในระดับต่ำ แนวโน้มไม่ได้ดีขึ้น

TI ยังสร้างเครื่องวัดการทุจริตคอร์รัปชันโลก (The Global Corruption Barometer-GCB) จากการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับภาพลักษณ์และประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในสถาบันหลักต่างๆ เช่น สถาบันด้านนิติบัญญัติ สถาบันตุลาการ สถาบันการศึกษา สถาบันตำรวจ สถาบันทหาร องค์การที่ไม่แสวงหากำไร รวม 8 สถาบันด้วยกัน ในประเทศต่างๆ มากกว่า 60 ประเทศ และยังถามรวมไปถึงความยินดีและความพร้อมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต

ในปี ค.ศ. 2013 IT ได้สำรวจความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันจากประชาชนตัวอย่างทั่วโลกจำนวน 114,000 คนจาก 107 ประเทศ (หรือประมาณ 1,000 ตัวอย่างจากแต่ละประเทศ) พบว่า สถาบันสาธารณะที่ควรปกป้องประชาชนกลายเป็นแหล่งที่มีการจ่ายสินบนมากที่สุด ได้แก่ ตำรวจ ผู้ตอบประมาณ ร้อยละ 31 ตอบว่าได้จ่ายสินบนให้กับตำรวจ

ในกรณีของประเทศไทย (ตารางที่ 2) ผลการสำรวจในปี ค.ศ. 2013 เกี่ยวกับการจ่ายสินบนให้แก่สถาบันหลักในประเทศ 12 สถาบัน พบว่า มีการจ่ายสินบนให้แก่พรรคการเมืองและตำรวจ มากที่สุด รองลงมา คือ เจ้าหน้าที่รัฐ/ข้าราชการ และรัฐสภา/ฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนั้นยังมีการจ่ายสินบนในภาคเอกชน และระบบการศึกษาด้วย การศึกษาของคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้บริหาร 330 คน ครูและนักเรียนใน 45 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 53 เคยพบเห็นการทุจริตในสถาบันศึกษา (มติชน 20 ธันวาคม 2556) การทุจริตของเราหยั่งรากลึกไปที่ตำรวจและลงลึกไปถึงระบบการศึกษา ถ้าครูก็ยังทุจริตเพื่อให้ได้เป็นครูแล้ว ประเทศชาติจะมีที่พึ่งที่ไหน

ก็ไม่น่าแปลกว่าทำไมคนไทยถึงออกมาเป่านกหวีดกันมาก เพราะ พ.ร.บ. ตีสี่ที่เปลี่ยนผิดเป็นถูกเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย คนไทยที่ถูกนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้ตัวเองกลายเป็นอูฐที่รู้สึกว่าแบกรับฟางอีกแม้แต่เส้นเดียวก็ไม่ไหวแล้วจึงต้องลุกขึ้นมาประท้วง แต่การแก้ไขคอร์รัปชันไม่สำเร็จได้ในเร็ววัน ไม่สำเร็จได้โดยไล่คนใดคนหนึ่งออกไปหรือไล่กลุ่มลิ่วล้อพวกพ้องของคนโกงออกไป เพราะระบบที่เอื้อต่อการทุจริตก็ยังมีอยู่ทุกวัน

วันนี้เราหยุดแค่นี้ก่อนนะคะ พรุ่งนี้ก็มาติดตามคอร์รัปชันไทยในคราวหน้านะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประเทศไทยกับคอร์รัปชัน (1)

view