สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลังล้มประมูลกู้2หมื่นล้าน โปะจำนำข้าว

คลังล้มประมูลกู้2หมื่นล้าน โปะจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลังล้มประมูลสินเชื่อจำนำข้าว 2 หมื่นล้าน แบงก์เรียกดอกเบี้ยสูง เตรียมเปิดประมูลอีกครั้งอังคารหน้า 4 หมื่นล้าน แบงก์รัฐ-เอกชน เลี่ยงให้กู้

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เปิดประมูลเงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/2557 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท วานนี้ (30 ม.ค.) โดยออกหนังสือเชิญชวนสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ 34 แห่งเข้าร่วม เพื่อประมูลเงินกู้ดังกล่าวซึ่งมีอายุ 15 เดือนนั้น

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยผลการประมูลสินเชื่อจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ปรากฏว่าการประมูลสินเชื่อดังกล่าวต้องล้มเลิกไป แม้จะมีสถาบันการเงินบางส่วนเข้าร่วมประมูลก็ตาม เนื่องจากสถาบันการเงินได้ยื่นเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราสูง ซึ่งบวกความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับการปล่อยเงินกู้ในครั้งนี้ ทำให้ สบน.พิจารณายกเลิกการประมูลครั้งนี้

ทั้งนี้ การประมูลสินเชื่อโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายและสำนักงานกฤษฎีกาตีความว่า สามารถกู้เงินจำนวน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวโดยไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181

อย่างไรก็ดี ทาง สบน.จะทำการเปิดประมูลสินเชื่อโครงการดังกล่าวใหม่อีกครั้ง โดยตามกำหนดจะประมูลในทุกวันอังคารของสัปดาห์ ซึ่ง สบน.คงจะรวบยอดวงเงินกู้ของครั้งนี้เข้าไปด้วยเป็นวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่า มีความยากลำบากต่อการประมูลสินเชื่อโครงการดังกล่าว เพราะเกิดกระแสคัดค้านทั้งจากสหภาพแรงงานของธนาคาร และกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ทั้งที่การปล่อยเงินกู้ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐถือเป็นแหล่งเงินกู้สำคัญของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์เอง ก็มีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเช่นกัน แต่เมื่อเสนออัตราดอกเบี้ยเข้ามาประมูลเงินกู้ ก็จะต้องเสนอในอัตราที่สูง ซึ่งบวกความเสี่ยงด้านการเมืองเข้ามาด้วย

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประมูลสินเชื่อครั้งนี้ ไม่มีแบงก์รัฐรายใดที่เสนอรายชื่อเข้ามาประมูลสินเชื่อดังกล่าว

"การเสนออัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงของแบงก์ที่เข้าประมูล น่าจะมี 2 เหตุผล คือ เสนอมาเพื่อไม่ต้องการให้ได้รับสินเชื่อโครงการนี้ หรือ เสนอมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยปัจจัยการเมืองมีผลสำคัญต่อการเสนออัตราดอกเบี้ยเพื่อประมูลครั้งนี้" รายงานข่าวกล่าว

ขณะที่อีกหนึ่งกระแสข่าวบอกว่าเป็นไปได้ที่จะมีการประมูลเงินกู้ได้แล้ว แต่กระทรวงการคลังไม่กล้าเปิดเผยว่า ธนาคารรายได้เป็นผู้ประมูล เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหากลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ สบน.ได้ค้ำประกันพันธบัตรให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวงเงิน 32,589.20 ล้านบาท อายุ 3 ปี เพื่อนำไปจ่ายคืนหนี้ที่ครบกำหนดของพันธบัตร ธ.ก.ส. รวมถึงจ่ายคืนหนี้ล่วงหน้า (Prepay) การกู้ครั้งนี้เป็นการ re-open พันธบัตรชุดเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ย 3.53% ซึ่งถือว่าเป็นพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบพันธบัตรของรัฐบาล อายุเดียวกันที่มีอัตราผลตอบแทน 2.77% ดังนั้น การ re-open ครั้งนี้ ทำให้สบน.ได้รับส่วนลดจากการประมูล ทำให้ต้นทุนภาระดอกเบี้ยของพันธบัตรชุดนี้อยู่ที่ 3.14%

แบงก์อ้างพิจารณาไม่ทันหวังเลี่ยงปล่อยกู้

ด้าน นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวยืนยันว่า ธนาคารไม่ได้เข้าร่วมการประมูลสินเชื่อให้กับธ.ก.ส.วานนี้ เนื่องจากยังมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องศึกษาและนำเสนอให้คณะกรรมการสินเชื่อพิจารณา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

ทางด้าน นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารไม่ได้เข้าประมูลสินเชื่อในโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบเงื่อนไขทางกฎหมายได้ทันเช่นกัน

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ได้มีการยกสายหารือกันถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับ ธ.ก.ส. เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่แนวทางการให้สินเชื่อที่เหมาะสมและยังมีความอ่อนไหวในหลายประเด็นทั้งเรื่องกฎหมายและความรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงิน แต่ทางกระทรวงการคลังมีการคาดโทษไว้ว่าสถาบันใดที่ไม่เข้าร่วมจะถูกตัดสิทธิในการเป็นผู้ค้าหลักตราสารหนี้ (Primary Dealer) ของกระทรวงการคลัง ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะต้องหาเทคนิคในการปฏิเสธเพื่อไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น

ทั้งนี้ จากการสำรวจธนาคารพาณิชย์วานนี้ พบว่า นอกจากธนาคารกสิกรไทยและธนาคารทหารไทย แล้วยังมีธนาคารที่ไม่เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ส่วนธนาคารธนชาต และธนาคารทิสโก้ระบุว่ายังไม่ได้รับจดหมายเชิญร่วมประมูลแต่อย่างใด

ธีระชัยเตือนแบงก์ดูความเห็นกฤษฎีกาประกอบ

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ สบน.เปิดประมูลเงินกู้ว่า ผู้บริหารสถาบันการเงินที่จะเข้าร่วมประมูลดอกเบี้ยกับกระทรวงการคลัง ควรขอเรียกดูหนังสือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนเข้าร่วมการประมูลดอกเบี้ย หรือปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลรักษาการ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง หากกระทรวงการคลังนำคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนเดียวมาอ้างอิงในการประมูล เพราะหากเป็นการลงนามความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงคนเดียว จะไม่มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีผลต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน และอาจไม่รับจ่ายคืนหนี้ หรือจ่ายคืนหนี้ช้ากว่าเดิม ทำให้ผู้บริหารแบงก์เอกชนมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องรับผิดชอบหนี้ดังกล่าวในนามส่วนตัว

"มติคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะมีผลผูกพันถึง ครม.ชุดหน้า จะต้องเป็นมติที่เป็นคณะบุคคล หมายถึงมติของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ใช่มติของเลขาธิการเพียงคนเดียว ซึ่งจะไม่มีผลผูกพันต่อ ครม.ใหม่ โดยส่วนตัวคิดว่าเลขาธิการอาจยังไม่คำนึงถึงประเด็นต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบอย่างรอบคอบ ดังนั้น แบงก์พาณิชย์ที่เข้าร่วมประมูลถือว่ามีความเสี่ยงมาก ทางออกที่ดีที่สุดในการหาเงินจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนาคือกระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งระบายข้าวให้ได้โดยเร็วที่สุด"นายธีระชัย กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าว ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้มีการหารือระหว่างผู้บริหารแล้วว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและรัฐบาลที่ต้องหาแหล่งเงินและให้คำตอบกับชาวนาในวันพรุ่งนี้ตามที่รับปากไว้ เพราะ ธ.ก.ส.ยืนยันมาตลอดหากรัฐบาลสามารถจัดหาเงินมาให้ได้ ก็พร้อมจะดำเนินการจัดสรรให้ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำทันที โดยจะจัดสรรตามใบประทวนของแต่ละจังหวัดให้เท่าเทียมและผู้จัดการสาขาจะไปกำหนดลำดับก่อนหลังให้แก่ชาวนาตามความเป็นจริง

ส่วนเงินระบายข้าวถึงวันที่ 30 ม.ค. ได้รับเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ชำระเข้ามาอีก 4 พันล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็พยามยามจัดสรรไปให้ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินตามใบประทวน

"ยรรยง"อัดแบงก์รัฐไม่เห็นใจชาวนา

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ รัฐบาลกำลังหาทางหาเงิน เพื่อนำมาจ่ายให้ชาวนา ที่นำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 (รอบแรก) แต่ยังไม่ได้เงิน แต่ติดที่พนักงานของธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือ ธนาคารออมสิน คัดค้านไม่ยอมให้ธนาคารปล่อยกู้ ซึ่งตนเห็นว่า บุคคลเหล่านี้เห็นแก่ตัว มองถึงประโยชน์ของตนเองเพียงฝ่ายเดียว และไม่เห็นใจชาวนาเลย ทั้งๆ ที่ ธ.ก.ส.ได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าวปีละจำนวนมาก ที่สำคัญ เงินที่รัฐกู้จาก ธ.ก.ส. หรือออมสิน รัฐก็จ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราที่ดีกว่ากู้จากธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ด้วยซ้ำ

"ตอนนี้ ชาวนากำลังเดือดร้อนมาก เพราะรัฐยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้ได้ ซึ่งขณะนี้ รัฐกำลังอยู่ในขั้นตอนการหาเงิน ซึ่งทำในหลายๆ ทาง และได้คุยกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งแล้ว ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รัฐไม่จนปัญญาแน่นอน เพราะปัจจุบัน ตลาดการเงินเป็นการค้าเสรีแล้ว เชื่อว่าน่าจะสามารถหาเงินมาให้ชาวนาได้ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ รัฐบาลอาจไม่ให้ธนาคารรัฐเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวอีกต่อไป"นายยรรยง กล่าว

วิเชียรขู่ถอนเงินแบงก์รัฐ

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ต้องการวิงวอนให้พนักงานธนาคารรัฐเห็นใจชาวนา และปล่อยกู้ เพื่อให้รัฐเอาเงินมาจ่ายชาวนา เพราะขณะนี้ชาวนาจำนวนมากเดือดร้อนอย่างหนัก จนแทบจะอดทนรอเงินจากรัฐไม่ได้แล้ว เพราะขณะนี้รอมานาน 3-4 เดือนแล้ว ตั้งแต่เริ่มนำข้าวไปเข้าโครงการเมื่อเดือนต.ค. 2556

"ชาวนาเดือดร้อนหนักมาก เป็นหนี้เป็นสินทั้ง ธ.ก.ส. และเจ้าหนี้ที่เป็นร้านยา ร้านปุ๋ย เพราะเรากู้เงินเขามาก่อน เพื่อใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยว ทั้งค่าเช่ารถเกี่ยวข้าว ค่ารถขนส่งข้าวไปโรงสี แล้วยังจะมีค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์ข้าว และหนี้สินที่ต้องกู้เพื่อนำมาเพาะปลูกข้าวฤดูกาลใหม่อีก รวมถึงค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าลูกไปโรงเรียน หนี้สินรัดตัวขึ้นทุกวัน แต่เราแทบไม่มีเงินจ่ายเขาแล้ว จึงอยากวิงวอนให้เห็นใจชาวนาบ้าง"นายวิเชียร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพนักงานธนาคารรัฐยังไม่เห็นใจ และยังคัดค้านการปล่อยกู้ให้โครงการรับจำนำข้าว กลุ่มชาวนาทั่วประเทศได้หารือกันแล้วว่า อาจจะถอนเงินฝากออกจากธนาคารรัฐเหล่านั้น แล้วไปฝากที่ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น หรืออาจไม่ใช้บริการธนาคารรัฐอีก


“ธีระชัย” เตือนบิ๊ก “ธ.ทีเอ็มบี” ปล่อยกู้จำนำข้าวเสี่ยงผิด กม. กระทบความเชื่อมั่น “ลูกค้า” แห่ถอนเงิน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ธีระชัย” โพสต์เฟซบุ๊กเตือน “เอ็มดี” แบงก์ทหารไทย ปล่อยกู้จำนำข้าวเสี่ยงผิดกฎหมาย อนาคตอาจไม่ได้คืน กระทบความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคาร ลูกค้าอาจตระหนกแห่ถอนเงิน แฉรัฐบาลยังถือหุ้นจำนวนมาก แม้ต่างชาติจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
       
       นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” ฝากไปถึงกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทย (TMB) ถึงกรณีธนาคารทหารไทยเป็นผู้ชนะประมูลปล่อยกู้แก่รัฐบาลงวดแรก 2 หมื่นล้าน สำหรับใช้ในโครงการรับจำนำข้าว โดยเตือนว่า อาจมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีแนวโน้มที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่าการกู้ นั้นผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับเงินคืน หรือกว่าจะได้คืนก็ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายที่ยาวนาน
       
       นอกจากนี้ ยังส่งผลด้านความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน และสถาบันการเงินต่างประเทศที่ค้าขายกับแบงก์ อาจเกิดการเร่งถอนเงินกัน และสุดท้ายผู้บริหารยังจะมีสิทธิโดนผู้ถือหุ้นฟ้องคดีแพ่งเป็นการส่วนตัวอีก ด้วย
       
       รายละเอียดมีดังนี้ ...
       
       “คำเตือนแก่ กก.ผจก.ธนาคารทหารไทย
       
       วันนี้ กระทรวงการคลัง ล้มประมูลเงินกู้ 1.3 แสนล้านไปเรียบร้อยแล้ว
       
       ในช่วงบ่ายผมไปอัดเทปรายการที่ทีวี เนชั่น บางนา ผมได้ติดตามผลการประมูลจากแบงก์พาณิชย์ต่างๆ ช่วงแรกนั้น ได้ข้อมูลว่า ธนาคารทหารไทย เป็นผู้ชนะประมูล จะเป็นผู้ให้กู้แก่รัฐบาลงวดแรก 2 หมื่นล้าน
       
       ผมคาดว่ารัฐมนตรีคลังได้ตั้งความหวังไว้กับธนาคารทหารไทยมาก เพราะถึงแม้จะมีแบงก์ต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นใหญ่ แต่ทางการก็ยังถือหุ้นอยู่ในธนาคารนี้เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง จึงยังมีอิทธิพลในธนาคารนี้พอสมควร
       
       แต่การที่ธนาคารพาณิชย์จะให้กู้แก่รัฐบาลนั้น เขาต้องมีการพิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายให้ถี่ถ้วน เพราะถ้าการกู้ผิดกฎหมาย แบงก์ที่ให้กู้อาจจะไม่ได้รับชำระคืน หรือกว่าจะได้คืน ก็ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายยาวนาน ภาษานักบริหารความเสี่ยง เขาเรียกว่า Legal Risk หรือความเสี่ยงทางกฎหมาย
       
       นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน และของสถาบันการเงินต่างประเทศ ที่ค้าขายกับแบงก์อีกด้วย
       
       ถ้าผู้ฝากเงินเห็นพฤติกรรมว่า แบงก์ไม่ได้ยึดหลักการบริหารงานอย่างระมัดระวัง ผู้ฝากเงินอาจจะเร่งถอนเงินกัน ดังเกิดขึ้นแล้วที่ ธ.ก.ส. และแบงก์ออมสิน ความเสี่ยงนี้เรียกว่า Reputation Risk หรือความเสี่ยงทางชื่อเสียง
       
       สุดท้าย ผู้บริหารยังจะมีสิทธิโดนผู้ถือหุ้นฟ้องคดีแพ่ง เป็นการส่วนตัวอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบัน เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
       
       ผมขอถือโอกาสนี้ให้ข้อมูลเพิ่มแก่ กก.ผจก.ธนาคารทหารไทย
       
       วันนี้ ผมได้เห็นเอกสาร 2 ฉบับ ที่ชี้ชัดว่าแบงก์ใดที่ให้กู้แก่รัฐบาลนั้น มีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด
       
       หนึ่ง หนังสือจากกฤษฎีกาที่แสดงความเห็นว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน 1.3 แสนล้านได้ โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช้ความเห็นของ ** คณะกรรมการกฤษฎีกา ** แต่เป็นความเห็นของเลขากฤษฎีกาคนเดียว
       
       และขั้นตอนการพิจารณาก็ไม่ได้สุขุมรอบคอบเท่าใด เพราะกระทรวงการคลัง มีหนังสือถามไป ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 กฤษฎีกาก็มีหนังสือตอบในวันเดียวกัน ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 ด้วย
       
       สอง ถึงแม้กฤษฎีกาจะได้มีความเห็นดังกล่าวก็ตาม แต่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ก็ได้ตระหนักว่าการกู้เงินครั้งนี้อาจจะผิดกฎหมาย
       
       โดย ผอ.สบน. ได้ทำบันทึกถึงปลัดกระทรวง เพื่อส่งต่อรัฐมนตรี เตือนว่า
       
       “การที่ กกต. มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการกู้ยืมเงินโดยการปรับลดวงเงินกู้ และค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และนำวงเงินมาเพิ่มให่แก่ ธ.ก.ส. สำหรับนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลนั้น อาจมีผลกระทบต่อความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่า การดำเนินการดังกล่าว อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อันอาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองตามมาได้”
       
       พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ดิฉันขอเตือนนะคะ ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะตัดสินว่า การกู้ 1.3 แสนล้าน ผิดกฎหมาย และหากเป็นเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีจะต้องติดคุกกันหมดนะคะ
       
       และยังมีข้อเตือนเพิ่มเติมอีกว่า
       
       “สบน. จึงมีข้อสังเกตว่า การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/ 2557 ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น อาจถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ต่อไปได้ว่า การดำเนินการดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 (3) หรืออาจถูกฟ้องดำเนินคดีได้”
       
       พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ สบน. ขอเตือนว่า ข้าราชการกระทรวงคลัง ในการกู้ 1.3 แสนล้าน อาจจะมีความผิดมาตรา 181 (3) และอาจถูกฟ้องคดีด้วย นะคะ
       
       สบน. จึงได้สรุปบันทึกราชการฉบับนี้ว่า
       
       “จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา หากเห็นชอบขอได้โปรดนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาทบทวน หรือสังการยืนยันต่อไป”
       
       พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ดิฉันไม่อยากติดคุกแล้วค่ะ จึงขอเตือนให้รัฐมนตรีคลังทบทวน ควรเลิกการกู้ 1.3 แสนล้านเสียค่ะ แต่ถ้าท่านยังดื้อดึง ก็ขอเชิญให้ท่านสั่งการยืนยัน เพื่อท่านจะได้รับผิดชอบเต็มๆ และติดคุกแต่คนเดียวนะคะ ดิฉันขอไม่ไปด้วยนะคะ
       
       ปลัดกระทรวงการคลัง (หรืออาจเป็นรองปลัดทำหน้าที่แทน) เสนอเรื่องต่อไปยังรัฐมนตรีคลัง “เรียนท่านรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาทบทวน หรือสั่งการยืนยัน”
       
       พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ผมก็ไม่เอาด้วยแล้วนะครับ ถ้าท่านไม่ยกเลิก ก็ขอให้ท่านเป็นผู้สั่งการ และติดคุกไปคนเดียวก็แล้วกัน
       
       ท้ายบันทึก รัฐมนตรีคลังแทงเรื่อง ถึงรองปลัดกระทรวงการคลัง และ ผอ.สบน. โดยสั่งการยืนยันให้ข้าราชการดำเนินการกู้ 1.3 แสนล้านต่อไป
       
       เป็นอันว่า ขณะนี้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง เขาเปลี่ยนใจแล้ว
       
       และเขาทำหลักฐานเพื่อวิงวอนให้รัฐมนตรีคลังฉุกคิดแล้ว
       
       พูดง่ายๆ ก็คือ บัดนี้ เขาตระหนักกันแล้วว่าการกู้ 1.3 แสนล้านนี้ น่าจะผิดกฎหมาย
       
       จึงขอให้ กก.ผจก.ธนาคารทหารไทยรั บทราบข้อมูลนี้ไว้ด้วย เพราะแบงก์นี้มีแบงก์ต่างประเทศระดับใหญ่สุดของโลกถือหุ้นอยู่ด้วย
       
       สำหรับแบงก์ระดับโลกเหล่านี้ เขาจะไม่สนใจกำไรที่อาจจะได้ หากมีความเสี่ยงแบบนี้
       
       สำหรับแบงก์ระดับโลกเหล่านี้ เขาจะไม่ยินยอมให้มีการโอนอ่อนตามแรงกดดันทางการเมืองเด็ดขาด เขาจะเน้นรักษาชื่อเสียงไว้อย่างมั่นคง”
       
       นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังได้ตอบผู้ที่เข้ามาถามถึงทางออกเรื่องนี้ด้วยว่า เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้วางแผนทำงานไว้ก่อนยุบสภา มาวันนี้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะกฎหมายไม่เปิดทางออกด้วยวิธีกู้
       
       “ถ้าจะไม่กู้อย่างผิดกฎหมาย ก็มีสองทาง หนึ่ง เร่งขายข้าว (แต่จะต้องตรวจนับสต๊อก ปิดบัญชีครั้งใหญ่ หากข้าวไม่ครบ ต้องดำเนินคดี หากข้าวเสื่อมสภาพ ต้องตีราคาสต๊อกลดลง ต้องยอมรับผลขาดทุน และต้องขายแบบเปิดประมูลทั่วไป ไม่สามารถขายแบบขยักขย่อน เพื่อบีบให้ข้าวออกไปทางคอขวด เพื่อให้พ่อค้าที่ไกล้ชิดเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์) สอง เร่งให้มีรัฐบาลใหม่ จากการเลือกตั้ง หรือจากมวลมหาประชาชน ไม่ว่าจากทางใด ก็จะแก้ปัญหาข้อจำกัดในการกู้เงินได้ทั้งสองทาง” นายธีระชัย ระบุ
       
       สำหรับการประมูลครั้งนี้นั้น ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ได้เปิดให้สถาบันการเงินที่สนใจเข้าร่วมแสดงความจำนงให้เงินกู้แก่ ธ.ก.ส. ใช้ในโครงการรับจำนำข้าววงเงินก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลค้ำประกันเงินกู้เต็มจำนวน โดยธนาคารพาณิชย์ได้ส่งตัวแทนยื่นซองเสนอดอกเบี้ย และวงเงินที่จะให้กู้ หลังจากนี้ สบน.จะพิจารณาผู้ที่เสนออัตราดอกเบี้ยและวงเงินที่น่าสนใจที่สุด โดยผู้ที่จะยื่นเสนอวงเงินกู้ต้องเสนอขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนการเสนออัตราดอกเบี้ย ธนาคารอาจพิจารณาเพิ่มตามความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การยื่นให้กู้แก่รัฐบาลในครั้งนี้จะไม่มีการเปิดเผยว่าสถาบันการเงินใดให้ กู้ เนื่องจากอาจเกิดปัญหาวุ่นวาย และกระแสความไม่เชื่อมั่น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คลังล้มประมูล กู้2หมื่นล้าน โปะจำนำข้าว

view