สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิบากกรรม กู้เงิน จ่ายจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เปิดหนังสือสบน.ชี้เสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญ วิบากกรรม"กู้เงิน"จ่ายจำนำข้าว "โครงการประชาระทม"รัฐบาลยิ่งลักษณ์

โครงการรับจำนำข้าว ฤดูนาปี 2556/57 ถือว่าเป็นฤดูผลิตที่เผชิญกับปัญหาหนักหน่วงที่สุด

เพราะนอกจากมีปัญหาเรื่องระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลได้ล่าช้าแล้ว ยังประสบปัญหาสภาพคล่องอย่าง"รุนแรง" และปัญหาดังกล่าวได้เผชิญกับ"ทางตัน"มากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลยุบสภา จนเกิดความล่าช้าแผนกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการ และยังเผชิญแรงกดดันจากการค้างใบประทวนชาวนาทั่วประเทศราว 1.1 แสนล้านบาท

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาหาเงินทุนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ

ต่อมาได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ซึ่งมีผลให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งไปปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่สามารถสร้างภาระผูกพันในการอนุมัติโครงการให้กับรัฐบาลใหม่ได้ แต่รัฐบาลก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่

คำตอบจากกกต.คือไม่มีอำนาจพิจารณา จึงโยนกลับมาให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะทำอย่างไร พร้อมกับระบุว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบเอง หากดำเนินการกู้เงิน

รัฐบาลดูเหมือนจะเตรียมตัวไว้ และคาดเดาได้ว่ากกต.จะมีมติเช่นนั้น ทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2557 มีมติปรับปรุงแผนการก่อหนี้สาธารณะใหม่

ตามแผนปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ที่มีวงเงินปรับลดลง 5,168,92 ล้านบาท จากเดิม 1,361,899.76 ล้านบาท เหลือ 1,316,330.84 ล้านบาท

แต่ได้อนุมัติการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการโดยมติคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานไว้ก่อนวันที่ ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556

นอกจากนี้ อนุมัติให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน และการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

พร้อมกันนี้ รัฐบาลส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่ แม้ว่าในมติครม.ที่ผ่านการอนุมัติแผนปรับปรุงหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องไม่สร้างภาระผูกพันให้กับรัฐบาลใหม่

แต่ความเห็นของกฤษฎีกาครั้งที่ 2 เห็นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้ โดยทำความเห็นส่งให้กระทรวงการคลังในวันที่ 23 ม.ค.

แต่ภาระการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในโครงการนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)

หลังจากนั้น สบน.ใช้เวลาศึกษาข้อกฎหมายและรายละเอียดทั้งหมด ก่อนส่งเรื่องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 27 ม.ค.

สบน.นำความเห็นของกฤษฎีกามาพิจารณา พร้อมกับเสนอความเห็นของสบน.ต่อการกู้เงินครั้งนี้

สบน.ระบุในหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ว่าได้พิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยละเอียดรอบคอบแล้ว มีความเห็นดังนี้

1. โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการ และให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ก่อนที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ และในส่วนของการค้ำประกันเงินกู้ของโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติภายหลังจากที่ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า "โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556 /57 ได้ก่อให้เกิดหนี้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ก่อนที่มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556"

ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน และการค้ำประกันในแต่ละครั้ง ได้ตามความเหมาะสม และจำเป็น จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เพื่อให้สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลตามโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ถือเป็นการกระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามบทบัญญัติมาตรา 181 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2. การที่กกต.มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการกู้ยืมเงิน โดยการปรับลดวงเงินกู้ และค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำวงเงินกู้มาเพิ่มให้แก่ ธ.ก.ส.สำหรับนำมาใช้ในการโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลนั้น อาจมีผลกระทบต่อความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่า การดำเนินการดังกล่าว อาจเป็นการฝ่าฝืน หรือละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันอาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองตามมาได้

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจึงมีข้อสังเกตว่า การดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2557 สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นอาจถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) หรืออาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

อย่างไรก็ตาม สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตระหนักดีว่า กระทรวงการคลังยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 และ วันที่ 21 ม.ค.2557 ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงเห็นควรนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาทบทวน หรือ สั่งการยืนยันให้ดำเนินการดังกล่าวต่อไป

ในที่สุด นายกิตติรัตน์ ก็สั่งการให้เดินหน้าต่อไปเปิดประมูลการกู้เงิน จึงต้องรอลุ้นว่าจะมีสถาบันการเงินใดปล่อยกู้นโยบาย"คาบลูกคาบดอก" กับข้อกฎหมายหรือไม่ และชะตากรรมจากนี้ของคนที่เกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิบากกรรม กู้เงิน จ่ายจำนำข้าว

view