สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขข้อดี มีสุข แนะวิธีดูแลเข่าเสื่อม

จากประชาชาติธุรกิจ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่ออายุมากขึ้น จำต้องหนักใจกับปัญหาโรคต่างๆ ที่รุมเร้า แม้จะมีการเตรียมพร้อมรับมือ หรือดูแลสุขภาพอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่วายเจ็บป่วย โดยเฉพาะกับปัญหาของ "ข้อเข่า" ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ในเครือมติชน จำกัด (มหาชน) โดย น.ส.ณิชกมล จิรไพศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโฆษณา จัดงาน "ข้อเข่าดี มีสุข" พร้อม นพ.สารเดช เขื่องศิริกุล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพญาไท 1 และ รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการบริหารแผนสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม ร่วมให้ความรู้ และข้อสงสัยกับโรคข้อเข่าเสื่อม

น.ส.ณิชกมลกล่าวว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เท้าที่เราใช้เดิน จะเริ่มเป็นอุปสรรค ข้อเข่าดี มีสุข ไขวิธีดูแลข้อเข่า หรือเมื่อมีอาการข้อเข่าเสื่อม เราจะดูแลอย่างไร รักษาปฏิบัติตัวอย่างไร โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก โรงพยาบาลพญาไท 1

ขณะที่ นพ.สารเดชอธิบายถึงโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการ สึกกร่อนของผิวกระดูกข้อเข่า ที่เกิดความเสื่อมตามวัย และจากการใช้งานมาก ทำให้เกิดการเสียดสี และถลอกของผิวกระดูก

เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนัก จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และเดินลำบาก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพ และรักษาด้วยการผ่าตัด แม้จะเป็นแพทย์กระดูก แต่ก็ไม่อยากรักษาผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดเสมอไป ต้องขึ้นอยู่กับอาการด้วย

เมื่อเอ่ยถึงสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม หลายคนนึกถึงอาการที่เป็นไปตามวัยที่สูงขึ้น แท้จริงแล้วบางรายมีความเสื่อมเร็วกว่า ที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับปัจจัยการดำรงชีวิต การใช้งานหนัก เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อ อุบัติเหตุรุนแรงทำให้เกิดความ ผิดปกติของข้อเข่า



อีกปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่อง "น้ำหนักตัว" ที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ โดยทั่วไปอาการข้อเข่าเสื่อมจะเริ่มเป็นในวัย 40 ปี แต่ถ้าพบก่อนหน้านั้น จะต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิด ข้อเข่าเสื่อม

กรณีที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์กระดูก สิ่งแรกที่ผู้ป่วยต้องได้ คือ ความรู้เรื่องกิจกรรมที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม เช่น การนั่งงอเข่า นั่งพับเข่า หรือการนั่งเบียดขา รวมไปถึงการทำกิจวัตรในห้องน้ำที่เลือกใช้สุขภัณฑ์แบบคอห่าน ถือเป็นการทำร้ายข้อเข่าของ ผู้ป่วยเอง

ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อาการข้อเข่าดีขึ้น หรือ ผู้ป่วยบางรายอาจใส่สนับเข่า และใช้ไม้เท้าช่วยพยุง เพื่อลดน้ำหนักที่ลงขาได้

รวมไปถึงน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเอง ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากคนอ้วนมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมที่ต้องถูกผ่าตัดประมาณ 5 เท่า ของคนน้ำหนักปกติ เพราะฉะนั้น ยาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นมากนักในผู้ป่วยที่ ไม่ปวดมาก และการควบคุมน้ำหนักมีประโยชน์อย่างมาก สำหรับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

สําหรับขั้นตอนการผ่าตัดในปัจจุบัน นพ.สารเดช เผยว่ามีหลายวิธี แต่ที่พูดถึงกันบ่อย คือ การเปลี่ยนข้อ ซึ่งเป็นการผ่าตัดวิธีสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกใช้ เนื่องจากผู้ป่วยที่รู้อาการเร็ว แพทย์จะเลือกใช้วิธีส่องกล้องแทน หรือหากมีการ ฉีกขาดของข้อ ก็ยังรักษาด้วยการส่องกล้องได้เช่นกัน และไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องนอนรักษาอาการเป็นเวลานาน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนข้อเทียมครึ่งเดียว โดยที่ผู้ป่วยพักรักษาอาการ 2-3 วัน ซึ่งที่ ต่างประเทศมีการรักษาผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ ใช้ระยะเวลาแค่หนึ่งวันเท่านั้น การรักษาจึงอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป

กรณีที่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทั้งสองข้าง และอยู่ในวัยต้นๆ 60 หรือร่างกายยังไม่มีโรคแทรกซ้อน แพทย์จะรักษาให้ เนื่องจากการผ่าตัดแต่ละครั้งผู้ป่วยต้องเสียเลือดมาก จึงเลือกทำเป็นกรณี โดยแพทย์จะนำโลหะเข้าไปกันแทนที่เพื่อให้เคลื่อนไหวสะดวก ถือเป็นการใช้ข้อเทียม ซึ่งผู้ป่วยจะเดินได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับอาการปวดของผู้ป่วยในการรักษา ปัจจุบันมีการช่วยบรรเทาอาการปวดได้หลายวิธี เช่น การบล็อกหลัง ฉีดยาบริเวณเส้นประสาท ช่วยควบคุมอาการปวดได้ดีอย่างหนึ่ง และ 1-2 วัน หลังผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเดินได้อย่างแน่นอน

ส่วนอายุเฉลี่ยของข้อเข่าเทียมปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี แต่หากเป็นผลงานของแพทย์ในต่างประเทศอาจอยู่ได้ 10-20 ปี ในบางรายที่ผู้ป่วยรับการผ่าตัด และใช้งานหนัก อาทิ เล่นกีฬาหนัก หรือนั่งพับเข่า งอเข่าบ่อยๆ โอกาสอายุการใช้งานของข้อเข่า จะมีอายุน้อยลง

นพ.สารเดชยังแนะนำขั้นตอนการดูแลหลังผ่าตัดด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำกายภาพบำบัด เนื่องจากผู้ป่วย ส่วนใหญ่เหยียดงอได้ไม่เต็มที่ จุดประสงค์ที่แท้จริงของแพทย์ในการผ่าตัดรักษาคือ ต้องการให้ผู้ป่วยกลับมาเหยียดเข่าให้ตรงภายใน 1-2 สัปดาห์ ก่อนออกจากโรงพยาบาล และค่อยๆ ฝึก งอเข่า ซึ่งถ้าผู้ป่วยสามารถทำได้ 90 องศา จะช่วยให้ลุกยืน จากเก้าอี้สะดวกขึ้น และหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก็ต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง

ด้าน รศ.นพ.ปัญญาเสริมว่า ผู้ป่วย 95 เปอร์เซ็นต์ที่มา พบแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคข้อเข่าเสื่อม แต่เป็นเพราะผู้ป่วย ไม่ค่อยออกกำลังกาย จึงทำให้เกิดอาการกระดูกลั่น และวิตกกังวลเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แท้จริงแล้ว โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไรมากนัก และเกิดกับทุกคน ไม่ว่าจะดูแลดี หรือน้อยเพียงใดก็ตาม

"แต่การช่วยบรรเทาอาการที่ดีที่สุด คือ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนมากเกินไป ฝึกวินัยการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารมื้อเช้าทุกครั้งให้มากพอ ส่วนกลางวันลดปริมาณลง และเย็นลดปริมาณให้น้อยที่สุด การดูแลเรื่องข้อเข่าเสื่อมจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป" รศ.นพ.ปัญญากล่าว



อีกหนึ่งขั้นตอนในการทำกายภาพบำบัด คงเป็นเรื่องการ ออกกำลังกาย เนื่องจากทุกๆ ก้าวที่เราเดิน จะมีแรงกระทำที่ข้อเข่า ข้อสะโพก 1 เท่าครึ่งของน้ำหนักตัว แต่ถ้าทุกก้าวที่วิ่ง จะมีแรงกระทำกับน้ำหนัก 3 เท่า ของน้ำหนักตัว ดังนั้นการออกกำลังกายด้วยการเดินจึงเป็นการออกกำลังกายที่สมเหตุสมผล

รศ.นพ.ปัญญาแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการ เดินเร็ว หรือขี่จักรยานอยู่กับที่

ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า การขี่จักรยานมีแรงกระทำน้อยกว่าการเดินเสียอีก พบว่าทำให้กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหว และถูกใช้งานไปประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ข้อเข่าไม่สึกหรอ

สำหรับคนที่ผ่าตัดข้อเข่าเทียม แพทย์จะแนะนำให้เดิน ออกกำลังกาย ส่วนวิธีอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้แรงมาก อาทิ การยืนแกว่งแขน มีผลทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรมองข้ามเรื่องการออกกำลังกาย เพราะเป็นยาวิเศษทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกจะมีการพัฒนาควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีศาสตร์การนวดเพื่อรักษาโรคข้อเข่า ซึ่ง เกิดขึ้นในลักษณะของการสอนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยการสอนแพทย์แผนประยุกต์ นำทฤษฎีท่าฤาษีดัดตน มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน จึงเป็นการรักษาโรคเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อข้อเข่าตื่นตัวขึ้น การนวดแบบนี้จะเป็นการรักษาโรค ซึ่งแตกต่างจากการนวดเพื่อผ่อนคลาย เนื่องจากใช้ผู้นวดที่ผ่านการอบรม และนวดตามโรคที่เป็น

ถือเป็นหลายทางเลือกให้กับผู้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แม้การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้เช่นกัน



ที่มา : นสพ.ข่าวสด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไขข้อดี มีสุข แนะวิธี ดูแลเข่าเสื่อม

view