สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฉีกหน้ากากเซิ่นเจิ้น-อิงถัง-ชักดาบแท็บเล็ต

จาก โพสต์ทูเดย์

ฉีกหน้ากากเซิ่นเจิ้น อิงถัง ชักดาบแท็บเล็ต

เอกสารสัญญาซื้อขายเลขที่ 82/2556 ที่ถูกจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2556   โดยระบุว่าหนังสือสำคัญฉบับนี้เป็นสัญญาจัดซื้อที่สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จัดทำขึ้นเป็นข้อผูกพันการซื้อขายคอมพิวเตอร์พกพา(แท็บเล็ต) กับบริษัท เสิ้นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจนท์ คอนโทรล จำกัด

บริษัทดังกล่าว ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ชั้น 5 อาคารเอ 1 สวนอุตสาหกรรมลองม่า ชิหยัน ต.เบาอัน เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง และแม้จะมีรายละเอียดด้านการจัดซื้อเป็นข้อตกลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมทั้งได้มีการลงนามแนบท้ายทั้งจากผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ดูเหมือนว่า ขณะนี้จะมีความชัดเจนแล้ว ว่าเนื้อหาทั้งหมดกำลังจะกลายเป็นเพียงกองกระดาษไร้ความหมาย

ทันทีที่บริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถังฯ ออกมาบอกว่า ขอยกเลิกข้อตกลงทั้งหมดโดยอ้างเหตุผลความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ความเข้าใจต่อการจัดทำข้อกำหนดและเงื่อนไขการประกวดราคา รวมถึงสัญญาไม่ตรงกัน และการติดต่อสื่อสารมีปัญหาอุปสรรคจนกระทั่งบริษัทส่งมอบของล่าช้าและถูกเรียกค่าปรับ

การจัดซื้อแท็บเล็ตรอบใหม่ ครั้งที่ 2 ปีการศึกษา 2556 เคยถูกเปลี่ยนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดซื้อ จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)เป็นกระทรวงศึกษาธิการโดย สพฐ.เป็นหน่วยงานลงนาม และเปลี่ยนการจัดซื้อจากที่เคยมีการระบุว่า เป็นแบบรัฐต่อรัฐ มาเป็นการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน)
 
แท็บเล็ตที่ สพฐ. เป็นหน่วยงานจัดซื้อเองในรอบนี้นั้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 1.6 ล้านเครื่อง ดำเนินการภายใต้งบประมาณ 4,600 ล้านบาท และแจกเพิ่มจากเพียง ป.1 เป็นรวมไปถึง  ม.1 และครู แบ่งรูปแบบการจัดซื้อออกเป็น 4 โซน คือ โซน 1 ป.1 ภาคกลางและภาคใต้ โซน 2 ป.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โซน 3 ม.1 ภาคกลางและภาคใต้  และโซน 4 ม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและครู

หลังจากชนะอีออกชันเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2556 บริษัท เซินเจิ้น อิงถังฯ ทราบดีว่า ภาระผูกพันที่ต้องเดินหน้าผลิตแท็บเล็ตที่ประมูลได้ใน 2 โซน คือ โซน 1 ภาคกลางและภาคใต้ จำนวน 431,105 เครื่อง มูลค่า 842 ล้านบาท และโซน 2 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 373,637 เครื่อง มูลค่า 786 ล้านบาท

ตามกำหนดการที่ระบุไว้ในสัญญา คือ ต้องส่งมอบแท็บเล็ตทั้งหมดโดย แบ่งการจัดส่งออกเป็น 4 งวดโดยงวดแรก ต้องจัดส่ง 25% ของทั้งหมดภายใน 35 วันนับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา งวดที่ 2 ต้องจัดส่ง 25% ของทั้งหมดภายใน 50 วันนับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา งวดที่ 3  ต้องจัดส่ง 25% ของทั้งหมดภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา สิ้นสุดงวดสุดท้ายภายใน 90 วัน
 
วันที่ 4 ก.ค. 2556 นายเฉิน ฮุย ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ บริษัท เซินเจิ้น อิงถังฯ สาขาประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ ว่า หลังการประมูลดังกล่าว เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่บริษัทชนะการประมูลจัดหาแท็บเล็ตด้วยราคาที่ต่ำมาก จนเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพแต่ยืนยันว่า เครื่องแท็บเล็ตที่บริษัทผลิตในโครงการนี้ จะมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดทุกอย่าง ซึ่งกรณีที่สามารถเสนอราคาที่ต่ำมากได้เพราะบริษัทเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทุกชิ้นเอง จึงสามารถควบคุมต้นทุนให้ต่ำได้ อย่างไรก็ตามราคาที่เสนอก็ยังมีกำไร ไม่ได้เสนอราคาแบบยอมขาดทุนตามที่วิจารณ์กัน เพียงแต่กำไรจะน้อยกว่าการขายส่งทั่วไป เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้แก่เด็กไทย

นายเฉินยังตอบคำถาม กรณีเกิด กระแสข่าวการปั่นหุ้นของบริษัท จนถูกทางการจีนคาดโทษ ทำให้ต้องยอมเสนอราคาต่ำมาก ๆ เพื่อให้ชนะการประมูล และส่งผลให้บริษัทยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ได้ยืนยันอีก ว่า ราคาที่เสนอนั้น ทางบริษัทได้วิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วและเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมที่สุด รวมถึงได้ปฏิเสธว่ากระแสข่าวการปั่นหุ้นดังกล่าว และ อธิบายว่า ได้หยุดการซื้อขายหุ้นของบริษัทตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ก่อนการประมูลแท็บเล็ตในวันที่ 28 มิ.ย. เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาใด ๆ และจะเปิดซื้อขายหุ้นอีกครั้งเมื่อได้มีการทำสัญญาจัดซื้อแท็บเล็ตเรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดเป็นการปล่อยข่าวโจมตีกันจากคู่แข่งทางการค้า

อย่างไรก็ตาม หลังกระแสข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ระบุ ว่า สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเซ็นสัญญาจัดซื้อ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติบริษัทนี้ และพบว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้คุณสมบัติของผู้เข้าประมูลจริง โดยเฉพาะตามที่เงื่อนไขกำหนดว่า บริษัทที่จะเข้าประมูล ต้องเคยผ่านการดำเนินธุรกิจด้านไอที มูลค่าไม่น้อยว่า 100 ล้านบาท บริษัท เซินเจิ้น อิงถังฯ เคยชนะการประมูลโครงการวางระบบไฟเบอร์ออฟติค และดาต้าเซิฟเวอร์มูลค่า กว่า1,000 ล้านบาทในประเทศรัสเซีย และมีเอกสารรับรองจากทางการจีน ที่ตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริง ตรงตามกติกาที่ สพฐ.กำหนดไว้

“ถึงเอกสารระบุตัวบริษัทจะตรง แต่ก็มีกระแสข่าวเรื่องการปั่นหุ้นให้ได้ยินเป็นระยะๆ จึงต้องสืบหาข่าวความเคลื่อนไหว บริษัทนี้เรื่อยมา ทำให้ทราบว่า บริษัทนี้ผลิตหลายอย่าง ตั้งแต่เครื่องทำน้ำเต้าหู้ ไปจนถึงบ้านอัจฉริยะ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จึง สันนิษฐานว่า รูปแบบการดำเนินงานของบริษัทนี้ คือ ริเริ่มโครงการ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อระดมทุน และมีบริษัทจีนในรูปแบบนี้มากมาย ” แหล่งข่าวจากศธ.กล่าว

วันที่ 27 ก.ย. 2556 บริษัท เซินเจิ้น อิงถังฯ ส่งหนังสือขอเลื่อนการจัดส่งแท็บเล็ตงวดแรก จำนวน 1 แสนเครื่อง จากกำหนดเดิมเลื่อนไปอีก 1 เดือน โดยอ้างว่าเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ประเทศเกาหลี เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2556 อย่างไรก็ตาม กำหนดจัดส่งแท็บเล็ตงวดแรกจะต้องส่งภายใน 35 วันนับจากวันเซ็นสัญญา คือวันที่ 2 พ.ย.2556.

แหล่งข่าวจากศธ. ระบุ ว่าข้ออ้างดังกล่าว เซินเจิ้น อิงถังฯ เคยให้ข่าวคลาดเคลื่อนหลายส่วน แท้จริงแล้วชิ้นส่วนที่ระบุนั้นหมายถึง DRAM ( Dynamic Random Access Memory ) เป็นหน่วยความจำชั่วคราวที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและของ บริษัท SK Hynix ซึ่งผลิตในประเทศจีนไม่ใช่เกาหลีตามที่อ้าง และชิ้นส่วนดังกล่าวซึ่งบริษัท เซินเจิ้น อิงถังฯ ไม่ได้ผลิตเองตามที่ให้ข่าวไว้ มีราคาถูกกว่า DRAM ยี่ห้ออื่น โดยกำลังการผลิตเดิมสูงสุดสัปดาห์ละ 2 หมื่นชิ้นเมื่อโรงงานถูกไฟไหม้ ก็ลดลงเหลือเพียง 3 ใน 4 ขณะที่ต้องขายให้กับบริษัทผลิตแท็บเล็ตอื่นๆ ทั่วโลกย่อมกระทบถึงเซินเจิ้น อิงถังฯ  อย่างเลี่ยงไม่ได้

แหล่งข่าวจากศธ.ระบุอีกว่า ในขณะนี้ ยังไม่พบหลักฐาน เรื่องการปั่นหุ้น กรณีที่กล่าวมา ยังพอมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า เป็นไปได้ว่าหากใช้ DRAM ยี่ห้ออื่นๆ ราคาสูง ทำให้อิงถัง ไม่สามารถควบคุมราคาต้นทุนจริงให้อยู่ภายใต้ราคาที่ประมูลมาได้ จึงพยายามต่อรองขอขยายเวลาส่งมอบแท็บเล็ตออกไปอีก 60 โดยขอให้ไม่มีค่าปรับตามสัญญาวันละ 2.2 ล้านบาท เพื่อหวังรอ DRAM จากสายพานการผลิตเดิมกลับมาเดินหน้าผลิตแท็บเล็ตได้ตามปกติ แต่คณะกรรมการประกวดราคาของสพฐ. ไม่สามารถทำตามข้อต่อรองได้ และจะเดินหน้าปรับค่าปรับวันละ 2.2 ล้านบาททันที ตั้งแต่วันครบกำหนด 26 ธ.ค.2556

ทั้งหมด อาจจะเป็นเหตุผลให้ ตัดสินใจฉีกสัญญา ยอมเสียเงินค้ำประกัน 120 ล้านบาท ปิดสาขาในประเทศไทยเพื่อหนีค่าปรับตามสัญญาอีกก้อนใหญ่ ซึ่งสพฐ.จะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าปรับ ค่าเสียหายกับบริษัทแม่ในจีน โดยยังไม่รู้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานเพียงไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฉีกหน้ากาก เซิ่นเจิ้น อิงถัง ชักดาบ แท็บเล็ต

view