สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำอย่างไรให้เป็นคนเก่ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์



ในยุคนี้องค์กรทุกหย่อมหญ้าล้วนตามล่าควานหา Talent หรือ “คนเก่ง” ซึ่งทั้งต้องเร่งหา เมื่อได้มาก็ต้องเน้นประคับประคอง

ไม่ให้หมองใจ กลัวเขาทิ้งเราไป เพราะคู่แข่งไว้ใจไม่ได้ คอยแย่งตาเป็นมัน เปรียบเสมือนเป็นสงครามช่วงชิงสิ่งมีค่า ที่เราเรียกว่า “Talent War” นั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะองค์กรต่างตระหนักว่าจะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่ง จะวิ่งนำหน้า หรือจะเชื่องช้าจนรั้งหลัง ทั้งหมดขึ้นกับ “คน” ของตนทั้งสิ้น

และที่สำคัญ คนเก่งๆ แบบนี้ มีไม่เคยพอ ขออีกๆ

วันนี้เรามาคุยกันว่า เจ้า “คนเก่ง” นี้ มีที่มาแต่หนใด แล้วต้องทำอย่างไร จึงเข้าข่ายโดดเด่น เป็นคนเก่งกับเขาบ้าง

ในบริบททั่วไป เมื่อคิดถึงคนเก่งที่มีความสามารถโดดเด่น หลายท่านคงนึกถึงนักกีฬาฝีมือหาตัวจับยาก หรือจินตนาการถึงนักดนตรีฝีมือขั้นเทพ หรือคนเด่นในแตกต่างวงการที่ฝากงานฝากฝีมือลือเลื่อง

เมื่อพูดถึง Talent องค์กรมักหมายถึง ผู้ที่มีศักยภาพ มีความสามารถโดดเด่นในประเด็นที่สำคัญต่อองค์กรนั้นๆ

คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ที่บางคนโดดเด่น เป็นเพราะเขา “เกิดมาเก่ง” พรนั้นสวรรค์ให้มา

ขณะที่บางคนเชื่อมั่นว่า พรแบบ “แรง” ต้องแสวงหาเอา เขาไม่ติดตัวเรามาตั้งแต่เป็นทารกแน่นอน

นักวิจัยหลายกลุ่มได้ทำการศึกษาเพื่อหาที่มาที่ไปของ Talent ผู้ที่โดดเด่นท่านหนึ่งคือ Dr. K. Anders Ericsson นักจิตวิทยา ผู้ติดตามศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยอะไรหนอที่ทำให้คนเก่งโดดเด่น โดยศึกษาพฤติกรรมของคนหลากหลายกลุ่ม อาทิ นักไวโอลิน ผลปรากฏว่า กลุ่มนักศึกษาที่มีความสามารถในการเล่นไวโอลินโดดเด่น มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ...

ต่างทุ่มเทในการซ้อมอย่างต่อเนื่อง นับได้เป็นเวลาเฉลี่ย 10,000 ชั่วโมงต่อคน

กลุ่มที่มีฝีมือถือว่าเป็นรองลงไป ยอมรับว่าใช้เวลาฝึกโดยเฉลี่ยคนละ 7,500 ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญ

นักกีฬาที่โดดเด่นของโลกก็มีประสบการณ์ไม่ต่างจากนักดนตรีข้างต้น

Tiger Woods นักกอล์ฟขั้นเทพ ที่หลายคนเชื่อว่า ต้องมาจากพรสวรรค์ล้วนๆ เพราะเขาได้ครองแชมป์ครั้งแรกตอนอายุเพียง 18 ปี

แต่เมื่อดูดีๆ จะเห็นประเด็น 10,000 ชั่วโมง ไม่ห่างหรือต่างจากคนเก่งระดับโลกในสาขาอื่นใด เพราะคุณพ่อ Tiger ให้ลูกทดลองเล่นกอล์ฟตั้งแต่เยาว์วัย อายุไม่ถึง 2 ขวบ

นักกีฬาคนเก่งของไทย ก็มีประสบการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน อาทิ น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ หรือ ทีมวอลเลย์บอลหญิงของไทยที่ได้แชมป์ ล้วนแล้วแต่ต้องแลกด้วยความเพียร ความมานะบากบั่น มุ่งมั่นนานนับ 10,000 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยทั้งสิ้น

นักวิจัยยังสงสัยข้องใจต่อว่า มีหลายคนที่กล้าทุ่มซ้อม ยอมเหนื่อย นับได้เป็นหมื่นชั่วโมง แต่ทฤษฎีนี้คงขี้โกง เพราะเขาไม่เห็นเด่น ไม่เป็นอย่างน้องเมย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมและจิตวิทยา ตอบฟันธงว่า ซ้อมแบบ “ธรรมดาๆ” ผลก็จะออกมาแบบ “ธรรมดาๆ” ไม่โดดเด่น เป็นเรื่องไม่แปลก

หากอยากให้เด่น ต้องฝึกให้เป็น โดยใช้วิธีที่เรียกว่า “Deliberate Practice” หรือ ซ้อมอย่าง “ตั้งใจ” ด้วยสติ เป้าหมาย และใจที่จรดจ่อ

ตัวอย่างเช่น นักกอล์ฟทั่วๆ ไปที่ฝึกตีลูกในสนามไดร์ฟกอล์ฟ อาจตีเอาๆ เป็นร้อยเป็นพันครั้ง แต่ถ้าตีอย่างไม่ “ตั้งใจ” ย่อมไม่ได้ทักษะที่มุ่งสร้าง

ต่างกับการซ้อมอย่างมีแผนและเป้าหมาย เช่น วันนี้ตั้งใจใช้ไม้หัวเหล็กเบอร์ 8 ตี 300 ครั้ง โดยให้ 80% ของลูก ตกไม่ห่างจากเป้าเกิน 20 ฟุต เมื่อตีไป ก็สังเกตไป เฉไฉเกินพิกัดหรือไม่ ต้องขยับ ปรับมุมใด เพื่อได้เรียนรู้ และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ซ้อมแบบนี้ เขาเรียกว่า “Deliberate Practice”

ทั้งนี้ ผลการวิจัยที่ว่าความเก่งโดดเด่นเชี่ยวชาญ ได้มาจากการ “แสวง” ทั้งสิ้น น่าจะถือเป็นแรงบันดาลใจ เพราะอย่างน้อยเราไม่ต้องรอเกิดใหม่ เพื่อลุ้นว่าชาติหน้าฉันจะเข้าท่าขึ้นไหม

ศักยภาพอยู่ในตัวตน จะค้นหาเพื่อหยิบขึ้นมาใช้หรือไม่ ขึ้นกับเรา ไม่ต้องเอาเป็นหมื่นชั่วโมงก็ไม่ว่า เพียงขอให้ตระหนักว่า ไม่มีใครเก่งขึ้นมาได้ง่ายๆ

อยากเก่ง ก็ต้องอึด

นอกจากนั้น ทีมวิจัยชี้ว่า ในที่ทำงานทั่วไป ก็สามารถนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับการฝึกฝนตนให้เป็น Talent เพราะไม่ว่าเราจะรับผิดชอบงานใด จะดูแลลูกค้า จะเจรจาต่อรอง จะเป็นลูกน้อง หรือเป็นลูกพี่ ต่างมีโอกาส สามารถใช้ทุกเวลาของการทำงาน ให้เป็นการสั่งสมชั่วโมงบิน โดยตั้งเป้าหมายว่า เราจะทำงานแต่ละชิ้นอย่างมีสติ มีสมาธิ และตั้งใจ ในรูปแบบ Deliberate Practice

เพราะหากแค่ทำส่งๆ ให้เสร็จๆ แม้ชั่วโมงนับได้ใกล้เจ็ดหมื่น แต่หนทางก้าวหน้าก็อาจไม่ราบรื่นเท่าใด

เพราะ “ซ้อม” อย่างไม่ตั้งใจ...ยังไม่นับค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำอย่างไร เป็นคนเก่ง

view