สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชี้การเมืองไทยขัดแย้งรุนแรงสุดในอาเซียน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการชี้การเมืองไทยมีความขัดแย้งรุนแรงที่สุดในอาเซียน ระบุระหว่างกลุ่มที่มองประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งกับกลุ่มมองว่าเป็นเสรีภาพ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่องการชุมนุมทางการเมือง เรื่อง "การชุมนุมทางการเมือง : ภาพสะท้อนการเติบโตของประชาธิปไตยในดินแดนอาเซียน" นายสมชาย ภัคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า ความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นกับ 10 ประเทศในอาเซียน ส่วนหนึ่งมีลักษณะเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็มีความแตกต่าง เป็นผลจากที่โลกเกิดระบบใหม่ เริ่มภายหลังสงครามเย็น ทุกประเทศต้องปรับโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยการเปิดประเทศ ทำให้รับอิทธิพลจากประเทศอื่น สำหรับอาเซียนได้มีการรวมตัวกันบนพื้นฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่การขยายตัวของทุนนิยม สำหรับประเทศไทยมีความเป็นทุนนิยมอยู่เป็นพื้นฐานแล้ว ส่วนประเทศลาว เขมร เวียดนาม และพม่า ภายหลังแต่หลังปี 1989 กระแสโลกาภิวัตน์ทำใหเกิดปัญหาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสะสมเชื้อประเด็นปัญหาเกิดลัทธิทุนนิยม และขยายตัวมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนเป็นปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่า ทุนนิยมสามานย์

นายสมชาย กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่เมื่อเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่มีเรื่องผลประโยชน์ย่อมส่งผลต่อความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเกิดขึ้น หากพิจารณาเป็นรายประเทศในอาเซีย จะเห็นว่า บรูไน ลาว และเวียดนาม ยังไม่มีความขัดแย้งมากนัก เพราะยังคงระบบการปกครองแบบเดิมอยู่ ชนชั้นใหม่ยังไม่เกิด มีแค่สะสมความไม่พอใจ และปัญหาคอรัปชั่นยังไม่มีมากนัก

นายสมชาย ชี้ว่า ไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากยังมีความคิดว่า "ประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก สิ่งสำคัญอยู่ที่การได้ชนะการเลือกตั้งจากเสียงข้างมากได้ใช้ความชอบธรรมในทางที่ถูกต้องหรือไม่ โดยระหว่างดำรงตำแหน่งได้ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม และบริหารงานอย่างโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ส่วนฟิลิปปินส์ ภายหลังยุคประธานาธิบดีมากอส ที่ได้มีจัดการปัญหาคอรัปชั่นครั้งใหญ่มาแล้วทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีการตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้นเป็นลำดับ และมีความเข้าใจในความหมายของประชาธิปไตยมากขึ้นและใกล้เคียงกัน ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์จะเป็นอีกลักษณะหนึ่งคือมีปัญหาบ้างแต่ไม่รุนแรง มีแนวโน้มเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

"ประชาธิปไตย ไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างเดียว ประชาธิปไตยที่ดีต้องมีความชอบธรรม ตั้งแต่การจัดเลือกตั้งมีการทุจริตซื้อเสียงมั้ย ถ้ามีก็จะทำให้จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยมีปัญหา หรือถ้าไม่โกงเลย และเป็นผู้ชนะเลือกตั้งจากเสียงข้างมาก เลือกคนเพื่อสร้างความชอบธรรมในระบบ ต้องปฏิบัติตนไม่โกง เคารพสิทธิประชาชน สำคัญที่ความชอบธรรมจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ "นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่ออีกว่า ข้อขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มที่มองประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง กับกลุ่มที่มองว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยมุมมองทางการเมืองของไทยกับกัมพูชาเหมือนกัน แต่ไทยรุนแรงกว่า ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง มาจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์ หากระบบการศึกษา ไม่ช่วยให้คนในประเทศแยกประโยชน์สาธารณะออกจากส่วนตนได้ วัฒนธรรมนี้จะรุนแรงขึ้นหากเกิดขึ้นในประเทศที่มีช่องว่างทางสังคมสูง ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ ซึ่งการที่รัฐบาลเปิดประเทศมากขึ้น ต้องพยายามรักษาเสถียรภาพภายในประเทศยิ่งขึ้นเพื่อ คุมอำนาจรัฐ โดยใช้นโยบายประชานิยม เป็นเรื่องไม่ผิดในตัวเอง แต่นำไปสู่ปัญหา ขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน เช่น โครงการรับจำนำข้าว นำไปสู่เสถียรภาพทางการคลังของประเทศ อย่างไรก็ตาม วงจรอุบาทว์จะหมดได้ด้วยการปฏิรูประบบการศึกษา การส่งเสริมให้ภาคประชาสังคม วัฒนธรรมแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย ยุโรปใช้เวลา 200 กว่าปีปัญหานี้จะหมดไป รวมทั้งการปลูกฝั่งความคิดเรื่องจริยธรรม และให้เกิดจิตสำนึกในปัญหาคอรัปชั่น

ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศจะจบลงอย่างไรนั้น นายสมชาย มองว่า จะจบหรือไม่จบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย กรณีที่ไม่มีวันจบ ไม่ได้หมายความไม่มีวันจบ หากพิจารณาจากทฤษฎีเกม มีความเป็นไปได้ว่า สามารถจบได้ถ้าชนะทั้งสองฝ่ายแบบวินวิน ถ้ายังคงสู้กันต่อไปจะพังกันทั้งสองฝ่าย (เนกาทีฟ ซัม เกม) โดยจะต้องมีการชี้ให้ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า เหนือความขัดแย้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศร่วมกัน หรือถ้าจบไม่ได้ มีฝ่ายหนึ่งแพ้และฝ่านหนึ่งชนะ (ซีโร ซัม เกม) ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าก็จะออกมาคัดค้านผู้ที่มีอำนาจมากกว่า โดยจะผลัดรุกไล่กันแบบนี้ไม่รู้จบ สำหรับการเมืองไทยในขณะนี้ คงจบไม่ง่าย เนื่องจากรัฐบาลเป็นฝ่ายได้เปรียบ และเหนือกว่าตรงที่มีคนไม่อยู่ในประเทศเป็นตัวแปรสำคัญ เว้นแต่ตัวแปรนั้นจะหายไป หรือเปลี่ยนใจ แต่ตอนนี้ก็ไม่เห็นแนวโน้มเป็นอย่างนั้น

นายสมชาย กล่าวอีกว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 จะไม่มีวันถอยหลังได้และจะเป็นทางผ่านไปสู่เปิดตลาดเสรี การรวมตัวการค้า การบริการและการลงทุนอาเซียน ขณะที่ประชาคมวัฒนธรรมในประเทศอาเซียนที่คล้ายคลึงกันก็จะชัดเจน แต่ประชาคมความมั่นคง จะก้าวไปไม่ถึงไหน เนื่องจากความขัดแย้งภายในประเทศอาเซียนยังไรอยู่ อย่าง เกาะสแปรตลีกับเกาะพาราเซล ที่มีปัญหาเรื่องพรมแดน โดยอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือเอเชีย - แปซิฟิกที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากมีอินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ช่วยไกล่เกลี่ยและคานอำนาจระหว่างกัน

นายทรงฤทธิ์ โพนเงิน ผู้เชี่ยวชาญลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกัมพูชา ตามที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงของสมรังสีเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ แต่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีไม่ยอม ขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ทางกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีความต้องการให้เกิดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วนี้ จะเห็นว่า การประท้วงของสองประเทศ เหมือนกันแต่ความต้องการที่ต่างกัน ซึ่งเหตุอะไรที่ฮุนเซนไม่ต้องการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากหากมีการเลือกตั้งใหม่ ฮุนเซนจะพ่ายแพ้ราบคราบยิ่งกว่าเสียบเรียบสะอีก หากวัดกันที่สัดส่วนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในปัจจุบันจะเห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังเข้ามาแทนที่คนรุ่นที่เป็นฐานเสียงสำคัญให้กับรัฐบาลฮุนเซน ทั้งนี้ กัมพูชามีวาระ 5 ปี สำหรับคนรุ่นใหม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้ามาใหม่เกือบ 2 ล้านเสียง โดยการเลือกตั้งในกัมพูชาเมื่อปี 51 สมเด็จฮุนเซนชนะด้วยคะแนนล่าสุด 3.4 ล้านเสียง แต่การเลือกตั้งล่าสุด สมเด็จฮุนเซนชนะด้วยคะแนนเสียง 3.2 ล้านลดจากเดิม ขณะที่พรรคสมรังสีได้รับคะแนนเสียงล่าสุดเกือบ 3 ล้านจากเดิม 1.1 ล้าน นอกจากนี้ จะเห็นว่า สมรังสีมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงงาน ยิ่งสมเด็จฮุนเซนคุมนโยบายค่าแรงเท่าไร ก็จะส่งผลให้กลุ่มแรงงานชาวกัมพูชาแสดงไม่พอใจและไม่ให้เสียงสนับสนุนกับฮุนเซน

นายทรงฤทธิ์ ชี้ว่า การเมืองไทยกับกัมพูชามีความเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาฮุนเซนเป็นรัฐบาลบริหารประเทศมาตลอด ถ้ามีการตรวจสอบทรัพย์สินจะไม่พบว่า ฮุนเซนรวย เนื่องจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในกัมพูชาให้การสนับสนุนและเป็นถังเงินให้กับฮุนเซนอยู่ หนึ่งในนั้นเป็น บริษัท สามารถเทเลคอมมิวนิเคชั่น ขณะที่ 5 ปีให้หลังกัมพูชาเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับจีนแดง และไม่ง้อตะวันตก โดยจีนได้เข้ามาให้ทุนสร้างเขื่อน แหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงให้กับกัมพูชา (เชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกทวาย) นอกจากนี้ สร้างโรงกลั่นน้ำมัน น่าแปลกใจที่ บริษัทเชฟรอนของสหรัฐฯ เข้ามาตั้งแท่นขุดเจาะในอ่าวไทยมานานแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้าและดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นน้ำมันของจีนก็ต้องพึ่งฐานขุดเจาะน้ำมันของเชฟรอนของสหรัฐฯ เช่นกัน จะเห็นว่า ในช่วงหลัง สหรัฐฯ จะผลักดันให้มีการเจรจาตกลงความขัดแย้งในกัมพูชา เนื่องจากถ้าสมเด็จฮุนเซนสามารถเจรจากับสมรังสี จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เช่นเดียวกันสหัฐฯ มักแสดงบทบาทนำและเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว เมื่อการเมืองกัมพูชาและการเมืองไทยเกิดความมีเสถียรภาพแล้ว ก็จะนำไปสู่เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้เกิดความรุดหน้า

ด้านนายสกุล สื่อทรงธรรม กรรมการ ANFREL และมูลนิธิสื่อกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของอาเซียน เริ่มต้นจากการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งเพียงเป็นหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้สมบูรณ์ ประกอบด้วยการทำหน้าสื่ออย่างเป็นกลาง หากประชาชนขาดข้อมูลความรู้ทำให้เกิดการชักชวนได้ง่ายจะทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดผลเที่ยงตรง ขณะเดียวกันสื่อมวลชนยังต้องนำเสนอนโยบายแต่ละพรรคไปยังประชาชน และสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนไปยังนักการเมือง การนำเสนอของประชาชนเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเห็น โดยเฉพาะรู้ว่าสิ่งไหนควรนำเสนอไม่ควรนำเสนอ

ส่วนตัวมองว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งการให้ความรู้ประชาชน การให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งไม่กีดกั้นผู้สมัครอิสระ ส่วนตัวมองว่า การโฆษณาจนส่งผลเสียไปกว่าการไม่มีการโฆษณาหาเสียง ทำให้ประชาชนสับสนจนไม่ได้อะไร ทั้งนี้ เราจะต้องทำความเข้าใจค่อยๆ เรียนรู้ประชาธิปไตยที่เกิดใหม่ในหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ สื่อทรงอิทธิพล ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก โดยมองว่า จะต้องมีการจัดการสื่อเพื่อให้ข่าวสารไปถึงประชาชนมากที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเมืองไทย ขัดแย้ง รุนแรงสุด อาเซียน

view