สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุโข chanwalee@srisukho.com


ใน บรรดานโยบายประชานิยมของรัฐบาล โครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในนามของ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคซึ่งดำเนินการมาถึงปีที่ 12 นับว่าเป็นนโยบายที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด

ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 47.24 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 75.29 จากจำนวนประชากรกว่า 64 ล้านคน มีสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพที่ช่วยคุ้มครองดูแลสุขภาพในด้านการรักษาโรค การป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การ สำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนและบุคลากรใน หน่วยบริการ ปี พ.ศ. 2551 โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์พบว่า มีความพึง พอใจร้อยละ 88.37 โดยพึงพอใจในเรื่องบริการของแพทย์มากที่สุด ร้อยละ 93.6 รองลงมาเป็นการบริการของเจ้าหน้าที่อื่น ๆ รวมถึงการบริการของพยาบาล ร้อยละ 92.8

ผลการสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีแนว โน้มสูงขึ้นทุกปี ตั้งแต่มีการสำรวจในปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา รวมถึงความพึงพอใจของผู้ให้บริการก็อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อดีของระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าที่เห็นได้ชัดก็คือ ประชาชนได้รับการคุ้มครองค่าบริการทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าบริการหรือค่า ใช้จ่ายใด ๆสามารถลดปัญหาความยากจนของประชาชนไทยจากการล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล

แต่ ข้อดีนี้ก็ส่งผลกระทบทางลบหลายประการ เช่น เกิดภาระด้านงบประมาณของประเทศจนอาจมีปัญหาความยั่งยืนของระบบ มีความพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากจำนวนประชากรที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น และความสามารถในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยกำหนดมาตรการหลายอย่าง เช่น ใช้เงินเป็นตัวกำหนดโรค กำหนดการรักษาพยาบาลจนอาจเกิดการลดคุณภาพการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล จนไม่มีงบประมาณในการลงทุนจัดหาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ มีการจำกัดการจ่ายยาที่มีราคาแพง ประชาชนไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง แม้เจ็บป่วยเล็กน้อยก็ต้องพบแพทย์ เป็นต้น

ดังนั้น หากจะให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างยั่งยืน เกิดความสมดุลระหว่างการใช้งบประมาณกับคุณภาพและปริมาณการรักษาพยาบาล จึงควรมีการ ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามที่จะเสนอ ดังนี้

1.ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพ ไม่ใช่บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนควรรับผิดชอบการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง หมอที่เก่งที่สุดคือตัวเราเองเจ็บป่วยเล็กน้อยควรพึ่งตนเองเป็นพื้นฐานมี กลยุทธ์สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในการดูแลสุขภาพ มีแรงจูงใจให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เช่น มอบรางวัลสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี มีมาตรการลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

2.ไม่ควรรักษาพยาบาล ฟรีสำหรับผู้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกคน แต่ควรมีระบบคัดกรองบุคคลที่มีรายได้น้อย และบุคคลที่สมควรช่วยเหลือ การรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน หมายถึงสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายถึงการได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน การควบคุมค่าใช้จ่ายของหลักประกันสุขภาพโดยไม่ลดประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการร่วมจ่ายที่เหมาะสม

3.การให้บริการการ รักษาพยาบาล ควรยึดหลักคุณภาพ ประสิทธิภาพ และชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์คนไข้กับผลเสียต่อคนไข้เป็นหลัก ไม่ควรยึดตัวเงินเป็นหลัก การกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับคนไข้แต่ละคนแต่ละครั้งที่มาตรวจผู้ป่วยนอก และการนำกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups) กำหนดค่ารักษาพยาบาล แม้มีข้อดีคือสุดท้ายสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศได้ แต่อาจส่งผลเสียคือลดมาตรฐานการรักษา ละเว้นใช้ยาหรือการรักษาพยาบาลที่มีต้นทุนสูง เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลขาดทุน

4.ผู้ ให้บริการในระบบบริการสุขภาพ ต้องมีจรรยาบรรณในการรักษาพยาบาล สามารถตัดสินใจในการรักษาพยาบาลอย่างอิสระ สามารถเรียนรู้พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต และมีความสุขในการทำงาน นอกจากการสร้างบรรยากาศในการทำงานดีมีสวัสดิการดี มีค่าตอบแทนเหมาะสมกับชั่วโมงการทำงาน ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้ให้บริการควรได้รับการคุ้มครองในมูลค่าที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการคุ้มครอง ผู้รับบริการ5.ส่งเสริมการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ แต่ไม่ควรละเลย การส่งเสริมการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ เพราะการรักษาพยาบาลล้วนแต่ต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่สามารถแยกส่วนกันได้โดย เด็ดขาด หากระดับใดระดับหนึ่งไม่เข้มแข็งก็จะส่งผลให้ระดับอื่น ๆ อ่อนแอไปด้วย

6.แก้ไขปัญหาการขาดแคลน และการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ โดยสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

7.ส่ง เสริมการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้เพียงพอ ปัจจุบันมีความขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเป็นอย่างมาก แม้มีการจูง ใจให้มีการฝึกอบรมโดยไม่ต้องใช้ทุนหลังจากจบแพทยศาสตรบัณฑิต เชื่อว่าเกิดจากการขาดการประชาสัมพันธ์หน้าที่ บทบาท แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีรายได้น้อยกว่าสาขาอื่น ค่านิยมเรื่องเกียรติศักดิ์ศรี ด้อยกว่าแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นไม่มีตำแหน่งบรรจุ เป็นต้น

8.มี ความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล ใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า 9.พัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้มีการประสานงานที่ดี มีแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาลทุกระดับ มีการทบทวนปัญหาและแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ

สุดท้ายการวางนโยบาย การกำกับดูแล การปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาลในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรมีการประสานงานเพื่อให้ได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเป็นการสั่งการมาจากข้างบน ซึ่งบางทีก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูประบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

view