สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปประเทศ : ปฏิรูประบบเลือกตั้งก่อน

ปฏิรูปประเทศ : ปฏิรูประบบเลือกตั้งก่อน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เป็นที่เห็นชัดกันแล้วว่า ระบบการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีการสรรหา ส.ว. แบบตุลาการภิวัฒน์

แทนการเลือกตั้งโดยประชาชน ทำให้พรรคการเมืองใหญ่สามารถแทรกแซงกระบวนการสรรหาและสามารถควบคุมวุฒิสภาไว้ได้ และส่วนที่เลือกตั้งก็ใช้ระบบเขตเดียว (จังหวัดเดียว) เบอร์เดียว ซึ่งก็จะได้ผู้รับเลือกตั้งมาจากพรรคใหญ่ ทำให้ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งของเรากลายเป็นประชาธิปไตยแบบผูกขาด ไม่ว่าจะมีม็อบอีกสักกี่ครั้งก็ยังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์การเมืองผูกขาดนี้ได้

ผู้รู้ท่านหนึ่งที่เป็นนักคณิตศาสตร์ คือ ดร.ไกรศร จิตธรธรรม ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า การเลือกตั้งไม่ได้เกิดจากความนิยมทักษิณแต่เพียงอย่างเดียวแต่สามารถอธิบายเชิงคณิตศาสตร์ได้ว่าเป็นการออกแบบการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคใหญ่ชนะเสมอ ทั้งนี้เพราะตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 เราเบื่อการเมืองแบบพรรคผสมจึงออกแบบให้พรรคใหญ่มีโอกาสมากขึ้น

การเลือกตั้งใช้ระบบเบอร์เดียวเขตเดียวที่เป็นขนาดใหญ่ สามารถพิสูจน์เชิงคณิตศาสตร์โดยทฤษฎีเกมว่า จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นจุดสมดุลแบบแนช (Nash Equilibrium) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่าผู้ได้รับเลือกจะมาจากพรรคใหญ่เสมอ แม้ว่าจะไม่มีหรือมีการซื้อเสียงก็ตามสำหรับเขตมีผู้แทนได้ 1 คน ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้ง จะต้องได้คะแนนเสียงในระดับเกิน 50% (ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน) ขึ้นไป กรณีมีการแข่งกันระหว่างผู้สมัคร 2 คนผู้ชนะต้องได้คะแนนในระดับ 20-40%ขึ้นไปสำหรับเขตที่มีผู้แทนได้ 3 - 4 คนก็เช่นกัน คะแนนของผู้ชนะการเลือกตั้งอาจจะลดลงมาบ้าง ต่ำลงมาถึงระดับแค่ 10 - 20% ดังนั้น โอกาสที่ผู้สมัครที่ไม่อิงฐานของพรรคหรือกลุ่มการเมืองจะชนะเลือกตั้งนั้น ดร.ไกรศรเห็นว่าไม่มีเลย โดยส่วนใหญ่แล้วผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งก็ต้องมาจากพรรคการเมืองใหญ่ การที่เราได้ผู้แทนเป็นส.ส.และส.ว.จากพรรคนายทุนแถมยังเป็นสภาผัวสภาเมีย ส่วนหนึ่งเป็นผลโดยธรรมชาติของการออกแบบเขตเลือกตั้ง (ส.ส.และส.ว.) ความฝันที่จะมีผู้แทนเป็นตัวแทนวิชาชีพหรือผู้แทนชนกลุ่มน้อยย่อมไม่มีโอกาสฝ่าเข้าไปได้เลย

เรื่องที่กล่าวนี้ ดร.ไกรศรเคยวิเคราะห์ไว้แล้วเมื่อปี 2546 ในกติกาที่มีอยู่พรรคใหญ่จะผูกขาด ฝ่ายบริหารไปเรื่อยๆ และยังมีข้อสังเกตว่า จากประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศอื่นๆ นั้น ประเทศที่ปกครองด้วยพรรคเดียว ปกครอง (ยึด) ประเทศได้นาน การจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากรัฐบาลที่เคยครองอำนาจนานๆ ก็จะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ยิ่งนานมากเท่าไรก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น สิ่งที่กลุ่มผู้เป่านกหวีดอยากเห็นก็คือ มีการปฏิรูปประเทศไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นไปได้ยากถ้าระบบการเมืองยังปล่อยให้พรรคใหญ่ซ้ายหันขวาหันนักการเมืองทั้ง 2 สภาได้

ในความเห็นของดร.ไกรศร วิธีแก้ไขคือปรับระบบให้เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งประเทศไทยเป็น 9 (หรือ 8) เขตเลือกตั้ง จำนวนผู้แทนแต่ละเขตเป็นไปตามสัดส่วนประชากรแต่ละเขตประกอบด้วยจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกัน ให้มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน นั่นคือแบ่งการสรรหาเป็น 9 (หรือ 8) เขต ในแต่ละเขตมีผู้แทน 20-25 คน

ดร.ไกรศรยังเสนออีกว่า รูปแบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ได้ถูกนำมาใช้ลองผิดลองถูกกับสังคมไทยแล้วถึง 2 หน ในการเลือกตั้ง ส.ว. ของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา คือเมื่อปี 2543 และ 2549 สิ่งที่ ดร.ไกรศรนำเสนอไม่ใช่เรื่องใหม่คือสิ่งที่เคยใช้อยู่แล้วเคยรับรู้มาแล้วว่าได้ผลเป็นอย่างไร

การกำหนดเขตเลือกตั้งแบบให้มีจำนวน ส.ว.ได้ 20+ คน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนผู้สมัครและพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หัวใจของระบบนี้ คือ ระดับคะแนนสอบผ่านขั้นต่ำอยู่ที่ระดับ 1% (หรืออาจต่ำกว่า 1%) กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาวนา กลุ่มสหภาพกรรมกร กลุ่มนายธนาคาร กลุ่มวิชาชีพวิศวกร แพทย์ พยาบาลก็ล้วนมีโอกาสได้รับเลือกตั้งกลุ่มปัญหาเฉพาะ เช่น กลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิงหากสามารถระดมผู้สนับสนุนได้ในระดับถึง 1% ของผู้มาใช้สิทธิ ก็จะได้ผู้แทนของกลุ่มไปอยู่ในสภา สภาก็จะประกอบไปด้วยผู้แทนที่หลากหลาย มีความรู้ มีประสบการณ์ที่สะท้อนกลุ่มประชาชน

ดร.ไกรศรคิดว่า ผู้แทนที่มาจากกลุ่มหลากหลายเหล่านี้จะมีบทบาท

(1) ขวาง/แทรก/กันชน ไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง

(2) ขวางฝ่ายบริหารบริษัท (ประเทศ) ไม่ให้ยึดบริษัท (ประเทศ) ได้ ซึ่งเมื่อยึดหุ้น (ส.ส.) ไม่ได้ ก็จะหันมาพยายามบริหารเพื่อผู้ถือหุ้น (ประชาชน) ผู้แทนที่มาจากกลุ่มที่หลากหลายนี้เป็นกลไกที่บังคับให้เกิดธรรมาภิบาล

(3) ปฏิรูปกระจายผลประโยชน์ จากการรวมศูนย์ทรัพยากรและอำนาจจากกลุ่มผลประโยชน์เดิม

ระบบการเลือกตั้งแบบนี้นอกจากจะใช้กับการเลือกตั้ง ส.ว. และ ส.ส. ยังสามารถใช้กับการเลือกสภาประชาชน สภาปฏิรูป เพราะกลุ่มผลประโยชน์ขนาดย่อมจะสามารถเลือกผู้แทนตัวเองเข้าไปได้ และสื่อส่วนกลางจะมีอิทธิพลลดลง สื่อท้องถิ่นจะมีอิทธิพลมากขึ้น

เมื่อได้รัฐสภาและ/หรือสภาปฏิรูปที่ไม่ผูกขาดแล้ว ก็ไปจัดการกับการปฏิรูปโครงสร้างที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะหนีไม่พ้น (เรียงตามลำดับตามแรงผลักและแรงต้านสุทธิในความคิดของผู้เขียน) เรื่องการปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบราชการเพื่อลดปัญหาการคอร์รัปชัน และการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ การปฏิรูปเหล่านี้ใช้เวลานานมาก ต้องอาศัยกระบวนการเจรจาต่อรอง เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้น

ขณะนี้ ได้มีการยุบสภาไปแล้ว ดังนั้น การแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ว่าจึงมีทางเดียวคือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้สัตยาบรรณร่วมกันว่า เมื่อสามารถดำเนินการให้มีสภาได้แล้ว สิ่งแรกที่สภาต้องทำคือ ปรับแก้กลไกทางการเมือง และแก้กลไกการเลือก ส.ว. ก่อนที่จะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ส่วนการปฏิรูปอย่างอื่นที่แต่ละฝ่ายล้วนมีสิ่งที่ตัวเองอยากได้ก็ต้องผลักดันเข้าไปเพื่อให้เกิดการแก้ไขในระยะยาวต่อไป

ถ้าจะมีการปฏิรูปกันจริง ก็อยากให้ลองเอาไอเดียนี้ไปคิดดู ประเทศไทยจะได้ค่อยๆ เห็นขอบฟ้าสีทองเสียที


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบเลือกตั้ง

view