สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Dyslexia: โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ

Dyslexia: โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ

โดย สุทัศน์ ยกส้าน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์




     คน ไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า dyslexia คืออะไร บางคนอาจรู้ว่า คนที่มีชื่อเสียง เช่น ดาราภาพยนตร์ Tom Cruise และนักร้องพุ่มพวง ดวงจันทร์ มีอาการหรือเป็นโรคนี้ กระนั้นตลอดเวลาหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาแพทย์และนักจิตวิทยาก็ยังตกลงกันไม่ได้ ว่า โรคนี้เกิดจากสาเหตุใดบ้าง
       
        ย้อนอดีตไปถึงปี 1896 แพทย์ชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ W.P. Morgan ได้เขียนบทความลงในวารสาร British Medical Journal ฉบับเดือนพฤศจิกายนว่า เขามีคนไข้เป็นเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ในความดูแลชื่อ Percy F.ซึ่งมีไอคิวระดับฉลาด สามารถเล่นกีฬาได้ดี แต่มีปัญหาในการอ่านหนังสือ คืออ่านไม่ออก จนต้องขอให้เพื่อนอ่านหนังสือเรียนให้ฟัง
       
        อาการนี้จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ขัดแย้งกับความคิดของคนทั่วไป เพราะคนฉลาดคือคนเรียนเก่ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีแรงจูงใจในการทำงาน และมักได้รับการศึกษาดี ดังนั้นเขาจะต้องอ่านหนังสือออก และเขียนหนังสือได้ ส่วนคนที่อ่านผิดๆ ถูกๆ และจับใจความใดๆ ไม่ได้ จะทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง แต่อาจประสบความสำเร็จในระยะสั้น โดยใช้วิธีจำ ครั้นเมื่อตำราที่ต้องเรียนมีมากขึ้นๆ เขาก็จะจำได้ไม่หมด แม้จะพยายามอ่านสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ทำได้อย่างกระท่อนกระแท่น จึงต้องใช้วิธีเดาคำ มีผลทำให้ขาดแรงจูงใจในการเรียน จนครูและพ่อแม่คิดว่า เป็นคนขี้เกียจ โง่ และไม่เอาถ่าน ความคิดเห็นเชิงลบเช่นนี้มีส่วนผลักดันให้เด็กเหล่านี้มีพฤติกรรมต่อต้าน สังคม ไม่ต้องการมาโรงเรียน หรือมีสมาธิสั้น เป็นต้น
       
        dyslexia (dys แปลว่า ผิดปกติ lexicon การอ่าน) เป็นโรคทางจิตใจของผู้ที่บกพร่องด้านความสามารถในการอ่านหนังสือ การสะกดคำหรือการเขียน และความบกพร่องด้านต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน ในคนๆ เดียวกัน
       
        ถ้าความผิดปกติอยู่ในระดับรุนแรง เด็กที่เป็น dyslexia อาจมีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติประมาณ 2 ชั้นเรียน และแพทย์ได้ตรวจพบว่า อาการนี้มักเกิดในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า
       
        ในการวินิจฉัยอาการ แพทย์จะซักประวัติของบิดา มารดา พัฒนาการการเลี้ยงดูของเด็กตั้งแต่เกิด ประวัติการเรียน และความช่วยเหลือที่ได้รับ ฯลฯ ซึ่งถ้าเด็กได้รับการรักษาทันที ก็มีทางหาย แต่ก่อนจะเริ่มบำบัด พ่อ แม่ ครู หรือผู้ปกครองจะต้องเข้าใจ และยอมรับว่าเด็กของตนกำลังมีปัญหา และเด็กต้องการความช่วยเหลือ
       
        แต่ถ้าเด็กคนนั้นไม่มีใครอาสาช่วย ไม่มีใครมาวิเคราะห์ หรือวินิจฉัยความบกพร่อง เขาก็อาจต้องหยุดเรียนหนังสือ หรือต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำให้รู้สึกว่าตนมีปมด้อย เป็นคนไร้คุณค่า เป็นแกะดำ และอาจรู้สึกว่าถูกสังคมดูแคลน จึงพยายามหลบหนีและหลีกเลี่ยงสังคม จนกลายเป็นคนมีปัญหาทางจิตใจ เช่น มีอารมณ์ซึมเศร้า เพราะไม่สามารถเรียนได้ถึงเกณฑ์ที่พ่อแม่หรือครูได้วางไว้
       
        แพทย์และนักจิตวิทยาในอเมริกาได้สำรวจพบว่า เด็กอเมริกันที่เป็นโรค dyslexia มีประมาณ 5-6% (สำหรับในประเทศไทย สถิติของกระทรวงศึกษาธิการไทยในปี 2556 แสดงว่า จำนวนเด็กไทยที่อ่านหนังสือไม่ออกมีมากถึง 4 แสนราย ผู้ใหญ่ที่อ่านไม่ออกคงมีหลายล้าน มิน่า คนไทยจึงไม่อ่านหนังสือกัน)
       
       แต่คนที่มีอาการ dyslexia ก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิต
       
        Thomas Edison ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า และเครื่องบันทึกเสียง เป็นอัจฉริยะที่มีอาการ dyslexia มาตั้งแต่เด็ก เพราะเรียนหนังสือไม่ได้ สอบได้ที่โหล่บ่อย จนพ่อคิดว่าลูกโง่ จึงต้องสอนให้เองที่บ้าน และบอกให้ลูกลาออกจากโรงเรียน เพราะ Edison สะกดคำผิดๆ ถูกๆ ทั้งๆ ที่มีอายุ 19 ปีแล้ว
       
        ปฏิมากร Auguste Rodin ก็มีปัญหาเรื่องการอ่าน และเขียนเช่นกัน จนบิดาและลุงลงความเห็นว่า คงเรียนอะไรไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเติบใหญ่ เขาจึงไม่มีอาชีพเป็นนักเขียน แต่ทำงานปฏิมากรรมจนเป็นปฏิมากรเอกของโลก ผู้รังสรรค์รูปปั้นบรรลือโลกชื่อ The Kiss
       
        ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ Woodrow Wilson ก็อ่านหนังสือไม่ออกจนกระทั่งอายุ 9 ขวบ ด้านนายพล George Patton ก็มีเสียงเล่าลือว่า สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัย West Point โดยใช้วิธีจำคำบรรยายของอาจารย์ เพราะอ่านหนังสือไม่ออกเช่นกัน
       
        นอกจากนี้โลกก็มีบุคคลสำคัญอีกหลายคน เช่น มหาเศรษฐี Nelson Rockfeller, ดาราภาพยนตร์ Whoopi Goldberg, อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ Lee Kuan Yew, จิตรกร Leonardo da Vinci, นักเขียน Agatha Christie และนักเขียนเทพนิยาย Hans Christian Andersen ที่มีอาการ dyslexia ไม่มากก็น้อยในวัยเด็ก แต่ประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเฉพาะ Christie นั้นได้กลายเป็นนักประพันธ์นวนิยายสืบสวนชื่อก้องโลก ผู้เขียนหนังสือได้มากกว่า 100 เล่ม และขายได้กว่า 2,000 ล้านเล่ม
       
        สำหรับ Tom Cruise น้องสาวทั้ง 3 คนล้วนเป็นโรค dyslexia และ Cruise ได้พยายามลบปมด้อยด้านนี้ด้วยการเล่นกีฬา และเป็นนักแสดงภาพยนตร์ เมื่อถึงวันนี้เขาได้พยายามช่วยเด็กอื่นๆ ที่เป็นโรคเดียวกับตน
       
        ตามปกติคนทั่วไปเวลาอ่านหนังสือ การจะเข้าใจความหมายของคำหรือประโยคในหนังสือเป็นความสามารถที่ต้องการการ ฝึกฝน และต้องอาศัยความพยายามของผู้อ่านพอสมควร แต่คนที่เป็น dyslexia นี่คือปัญหาใหญ่ที่เขาทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี
       
       ในอดีตจักษุแพทย์ เคยคิดว่าสายตาที่ผิดปกติ คือสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็น dyslexia แยกอักษรไม่ออกเวลาเขาอ่านหนังสือ แต่ในปี 1980 Paula Tallal แห่งมหาวิทยาลัย Rutgers ที่ Newark ในรัฐ New Jersey สหรัฐอเมริกา และ Roderick Nicholson แห่งมหาวิทยาลัย Sheffield ในอังกฤษได้พบว่า สมองส่วน cerebellum ของคนที่เป็น dyslexia ทำงานผิดปกติ
       
        ถึงวันนี้ แนวคิดเรื่องความผิดปกติเกี่ยวกับการเห็นอักษร การได้ยินเสียง และการทำงานที่บกพร่องของสมอง ล้วนมีบทบาทไม่มากก็น้อยในการทำให้คนเป็นโรค dyslexia เพราะในคนกลุ่มนี้ เวลาเขากวาดสายตาไปตามตัวอักษร ภาพตัวอักษรในคำต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คำแต่ละคำที่มีความหมาย เป็นข้อมูลถูกส่งต่อเข้าสมอง ให้สมองแปลความหมายออกมา แต่ถ้าสมองแปลความหมายไม่ได้ เพราะทำงานบกพร่อง เช่น แปลงคำสองคำที่อยู่ใกล้กันจาก basket lemon เป็น lasket bemon ที่ไม่มีความหมายใดๆ เลย เขาจึงอ่านผิด และไม่เข้าใจสิ่งที่อ่าน
       
        การศึกษาสมองโดยใช้อุปกรณ์ชื่อ functional magnetic resonance imaging (fMRI) ตรวจดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในสมองขณะสมองทำงาน โดยการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ประสาท การไหลของกระแสเลือดในสมองทำให้ Sally Shaywitz แห่งมหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐฯ ได้พบว่า เวลาอ่านหนังสือ คนที่มีประสบการณ์อ่านน้อยจะใช้เครือข่ายประสาทเส้นทางหนึ่งที่ทำงานค่อน ข้างช้า แต่คนที่มีประสบการณ์อ่านมากจะใช้เครือข่ายเส้นประสาทอีกเส้นทางหนึ่งที่ทำ งานเร็วกว่า ซึ่งเส้นทางทั้งสองนี้อยู่ทางด้านซ้ายของสมอง และแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ บริเวณ Broca ที่อยู่บริเวณตรงกลางๆ ของสมอง อีกสองส่วนคือ parieto-temporal และ occipito-temporal ซึ่งอยู่ทางด้านท้ายของสมอง
Dyslexia: โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ
teapot หลากหลายเวอร์ชันที่เขียนโดยผู้เป็น โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ
       สมองส่วน Broca เป็นบริเวณที่แพทย์รู้ดีว่ามีบทบาทในการควบคุมการพูด และการเขียน คนไข้ใดที่สมองส่วนนี้เป็นโรคหรืออักเสบมักจะพูดและเขียนลำบาก ส่วนคนอ่านมือใหม่ มักใช้สมองส่วน parieto-temporal ในการแยกคำ (โดยเฉพาะคำไทยที่เขียนเรียงติดกัน ต้องใช้ความสามารถพอประมาณในการแยกคำ) ด้านคนที่อ่านคล่องมักใช้สมองส่วน occipito-temporal ในการระบุ หรือระลึกคำได้ในทันทีทันใดที่เห็น
       
        ในการเปรียบเทียบสมองของคนปกติกับคนที่เป็นโรค dyslexia นักประสาทวิทยา Shaywitz ได้พบว่า เวลาอ่านหนังสือ คนปกติที่เป็นนักอ่านมือใหม่สมองส่วน parieto-temporal จะทำงาน แต่สำหรับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก สมองส่วนนี้จะไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงว่าทำงาน กลับเป็นว่าเขาให้สมองบริเวณ Broca ทำงานมาก นั่นแสดงว่า คนที่อ่านหนังสือไม่ออก กำลังชดเชยการไม่ทำงานของส่วน parieto-temporal ด้วยการกระตุ้นบริเวณอื่นให้พยายามอ่านแทน
       
        กระนั้นในการทดลองนี้ Shaywitz ได้กล่าวเตือนว่า เธอใช้ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการอ่านเป็นหนูตะเภา ซึ่งอาจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ 100% เพราะสมองของคนเหล่านี้ หลังจากที่ได้ประสบปัญหาในการอ่านมานาน ได้พยายามหาทางเลี่ยง โดยใช้วิธีการต่างๆ ในการแก้ปัญหา สิ่งที่เธอพบจึงมิได้เป็นตัวปัญหา 100%
       
        แต่เมื่อ Shaywitz ได้ทดลองกับเด็ก 144 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็น dyslexia เธอก็ได้ข้อสรุปเหมือนเดิมว่า เวลาสมองส่วน parieto-temporal ไม่ทำงานหรือทำงานบกพร่อง นี่คือสาเหตุที่ทำให้เด็กคนนั้นอ่านหนังสือไม่ออก
       
        ข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า คนที่เป็นโรค dyslexia เวลาอายุมากขึ้น สมองส่วน Broca ของเขาจะทำงานมากขึ้นเวลาอ่านหนังสือ นี่เป็นการชดเชยความบกพร่องในการทำงานของสมองส่วนหลัง และสำหรับคนที่อ่านหนังสือไม่ออกตลอดไปนั้น ในที่สุดก็จะพยายามเข้าใจเรื่องที่อ่านโดยอาศัยความสามารถในการจำ
       
        ในด้านการรักษา นักวิจัยได้พบว่า คนที่เป็นโรคอ่านหนังสือไม่ออก สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นพวกที่ตอบสนองต่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกกลุ่มหนึ่งคงต้องอาศัยเทคนิค fMRI ช่วยควบคุมการทำงานของสมองให้สามารถเอาชนะความบกพร่องได้
       
        ที่อเมริกามีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Fast ForWord ที่ได้รับการออกแบบโดย John Gabrieli แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ที่พยายามช่วยเด็กๆ ที่เป็นโรค dyslexia ซึ่งมีอายุระหว่าง 8-12 ปีให้ฝึกเป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยในแต่ละวันเด็กจะฝึกใช้สมอง 100 นาที ผลปรากฎว่า ความสามารถในการอ่านดีขึ้นมาก และผลนี้เห็นได้ชัดในเครื่อง fMRI ว่า การทำงานของสมองมีการเปลี่ยนแปลงเวลาอ่านหนังสือ
       
        จึงเป็นว่า นักวิชาการปัจจุบันจะต้องมีการวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น และดีขึ้น เพราะในความเป็นจริง dyslexia มีสาเหตุมาจากสติปัญญา ฐานะทางสังคม และปัจจัยอื่นๆ อีกมาก สิ่งดีที่เกิดขึ้นคือ ถึงวันนี้ วิทยาศาสตร์ได้เข้ามาและกำลังมีบทบาทในการเรียนหนังสือของคนแล้วว่า คนที่มีปัญหาในการเรียน (อ่าน เขียน พูด เข้าใจ) จำต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ช่วย แทนที่จะโทษครู ผู้ปกครอง หรือเด็ก ลูกเดียว
       
        สำหรับเด็กไทยที่อ่านหนังสือไม่ออกนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และน่าเสียใจ ถ้าไม่มีใครในสังคมเข้าใจสาเหตุ และพยายามช่วยเหลือ วงการศึกษาของเราจะเพิกเฉยคนที่โชคร้ายเหล่านี้ไม่ได้ และไม่สมควร
       
        อาการเริ่มต้นของเด็กที่เป็น dyslexia
       อายุ 3-4 ขวบ ก่อนเข้าโรงเรียน จับถือหนังสือในมือไม่เป็น มีข้อจำกัดในการจำคำ วิธีช่วยคือพ่อแม่ต้องอ่านหนังสือให้ฟัง สอนร้องเพลงที่มีคำสัมผัสให้ร้อง
       ชั้นอนุบาล เวลาถามชื่อของสิ่งของหรือสีเด็กจะตอบช้า สามารถช่วยได้โดยการสอนเพลง หรือเล่นเกมส์ที่มีคำสัมผัส
       ชั้นประถมปี 1-2 มักบ่นว่าอ่านหนังสือไม่ทันเพื่อน อ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงมักหลีกเลี่ยง และไม่ชอบอ่าน วิธีช่วยคือพ่อแม่ต้องช่วยฝึกและพยายามสอนให้มาก
       ชั้นประถมปี 2-3 เด็กมักถอยหนีสังคม บางคนพยายามอ่าน แต่ไม่ตระหนักว่า สิ่งที่อ่านนั้นหมายถึงอะไร วิธีแก้คือ ปรึกษาแพทย์หรือ หรือหากิจกรรมอื่นๆ ให้ทำ
       
       เมื่ออายุมากกว่า 7 ขวบ เด็กมักอ่านผิดๆ ถูกๆ สับสนกับคำคล้ายๆ กัน เช่น เจ็ด กับ เจ็ต พูดตะกุกตะกัก ชอบใช้คำซ้ำๆ จำชื่อ วันที่ เบอร์โทรศัพท์ไม่ค่อยจะได้ เวลาอ่านคำที่ยาวและมีหลายพยางค์ มักเดาและอ่านข้ามอักษรบางตัวไป หรือเวลาอ่านคำยาวๆ มักแทนคำนั้น ด้วยคำที่ง่ายกว่า เช่น แทนคำว่า วันเฉลิมพระชนม์พรรษา ด้วยคำว่า วันเฉลิมฯ เป็นต้น เวลาสะกดมักได้คำผิด และเขียนลายมือที่อ่านยาก ทำการบ้านไม่ทัน และไม่เสร็จ อีกทั้งกลัวการอ่านออกเสียง
       
       อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ Parenting a struggling Reader โดย Susan Hall และ Louisa Moats ปี 2002
Dyslexia: โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ
       เกี่ยวกับผู้เขียน
       
       สุทัศน์ ยกส้าน
       ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
       ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
       
       อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Dyslexia โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ

view