สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับกองทุนรวม ตอนที่1

ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับกองทุนรวม ตอนที่1

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




แม้มีหนังสือและบทความมากมายที่อธิบายเกี่ยวกับกองทุนรวม แต่ก็ยังมีผู้ลงทุนจำนวนมากที่เข้าใจผิดๆ อยู่

แม้ว่าจะมีหนังสือและบทความตามสื่อต่างๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีผู้ลงทุนจำนวนมากซึ่งยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับกองทุนรวมอยู่หลายประการเลยทีเดียว ในที่นี้จึงขออธิบายแยกเป็นประเด็นเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับกองทุนรวมได้อย่างชัดเจน และถูกต้องยิ่งขึ้นครับ

== > 1)การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ไม่ใช่การฝากเงิน แต่เป็นทางเลือกในการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และมีความเสี่ยงจากการลงทุน โดยผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนกลับมา "มากกว่า" หรือ "น้อยกว่า" เงินลงทุนเริ่มแรกก็ย่อมได้ อีกทั้งผลตอบแทนที่ได้รับก็อาจจะเปลี่ยนแปลง "เพิ่มขึ้น" หรือ "ลดลง" ไปจากที่คาดการณ์เอาไว้ได้ ไม่ได้มีการคุ้มครอง หรือรับประกันทั้งในส่วนของเงินลงทุน และผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากการฝากเงินที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ แม้ว่าจะต่ำ แต่ก็แน่นอนกว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกันบ่อยๆ นอกจากนี้ การฝากเงินยังได้รับความคุ้มครองเงินฝาก (ในกรณีที่มีธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย หรือปิดกิจการลง) จากสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใต้เงื่อนไขอีกด้วย

==> 2) ผู้ลงทุนหลายๆ คนชอบคิดว่า กองทุนรวมเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะในความเป็นจริงแล้ว บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างหากที่เป็นผู้จัดตั้ง และออกหน่วยลงทุนมาเสนอขายเพื่อระดมเงินทุนเข้าสู่กองทุนรวม ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวแทนสนับสนุนการขาย และรับซื้อคืนหน่วยทุนของกองทุนรวมเท่านั้น ไม่ได้จัดตั้ง หรือผลิตหน่วยลงทุนขึ้น หากแต่รับฝากหน่วยลงทุนจากทาง บลจ. มาขายต่อให้อีกทีหนึ่ง เหมือนๆ กับการรับฝากขายประกันภัย และประกันชีวิตรูปแบบต่างๆ จากบริษัทประกันนั่นเอง นอกจากนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนรวมให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ระบุอยู่ในหนังสือชี้ชวน ก็คือ บลจ. ไม่ใช่ ธนาคารพาณิชย์เหมือนอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจกันแต่อย่างใด

==> 3) ผู้ลงทุนหลายๆ คนมักคิดว่า หาก บลจ. ผู้ทำหน้าที่บริหารกองทุนรวมล้มละลาย หรือปิดตัวลง กองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ. ดังกล่าวก็ต้องล้ม หรือปิดตัวลงตามไปด้วย ประเด็นนี้ก็ไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจาก กองทุนรวมเองเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก บลจ. อย่างชัดเจน โดย บลจ. มีหน้าที่ต้องนำกองทรัพย์สินที่เกิดจากการขายหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น เมื่อต่างก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน ผลประกอบการของ บลจ. ไม่ว่าจะมีกำไร หรือขาดทุน จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทุนรวมแต่อย่างใด

หาก บลจ. ปิดตัวลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม กองทุนรวมที่ บลจ. นั้น บริหารจัดการอยู่ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นคนละนิติบุคคลกัน โดยกองทุนรวมดังกล่าวอาจถูกโอนย้ายไปให้ บลจ. อื่นทำหน้าที่บริหารจัดการกันต่อไป หรือไม่ก็อาจขอมติเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อยกเลิกกองทุนรวมก็ย่อมได้ ในทางกลับกัน หากกองทุนรวมปิดตัวลง ก็ไม่ได้หมายความว่า บลจ. ผู้บริหารจะต้องปิดตัวลงตามไปด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า ยังมีประเด็นความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในตอนนี้ โดยจะขอยกยอดไปต่อกันในตอนหน้าให้ครบถ้วน...นะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเข้าใจผิดๆ กองทุนรวม

view