สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกปูมคดีแยกดินแดน-จาก-ครูเตียง-ถึงเสื้อแดง

จาก โพสต์ทูเดย์

ย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับคดีการแบ่งแยกดินแดนของ "เตียง ศิริขันธ์"

เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เผยแพร่รายงานเกี่ยวประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแบ่งแยกประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทยในขณะนี้หลังจากที่ แกนนำกลุ่มเสื้อแดงออกมาแสดงท่าทีส่อไปในลักษณะดังกล่าว

รายงานของสำนักข่าวอิศราระบุว่า ข่าวลือแบ่งแยกประเทศที่กำลังแพร่สะพัดไปทั้งสังคมไทยขณะนี้ ใกล้เคียงกับบริบททางการเมืองใน พ.ศ.2490 ยุคสมัยที่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมปะทะกับประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยภายหลังการรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่ยึดอำนาจจากหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งได้เชิญพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งรัฐบาล ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะกลับมาเรืองอำนาจเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำเนินนโยบายขจัดศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการเหวี่ยงแหจับกุมคนที่มีแนวคิดเอนเอียงฝักใฝ่ไปทาง ‘สังคมนิยม’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’ อย่างกว้างขวาง โดยเน้นไปในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าเป็นแหล่งกบดานสำคัญของ “พรรคคอมนิวมิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)”

และนักการเมืองที่ถือว่าเป็นศัตรูคนสำคัญกับจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้นก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร และอดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญ

อย่างไรก็ดีภายหลังนายปรีดี ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ แต่นโยบายขจัดศัตรูทางการเมืองของจอมพล ป. ก็ยังไม่หมดสิ้น เนื่องจากยังเหลือเสี้ยนหนามคนสำคัญ คือ ส.ส.สกลนคร และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย “เตียง ศิริขันธ์” หรือที่ใครหลายคนยกย่องว่าเป็น ‘ขุนพลภูพาน’

โดยนายเตียง ศิริขันธ์ ถูกรัฐบาลจอมพล ป. กล่าวหาว่าเป็นกลุ่ม “กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน” และมีอุดมการณ์เป็น ‘คอมมิวนิสต์’ รวมกับ ส.ส.ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 4 คน คือ นายทองอินทร์ ภูรพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายฟอง สิทธิธรรม ซึ่ง 3 คนแรกเป็นกลุ่มเสรีไทยภาคอีสาน

ทั้งนี้ เกิดจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายเตียง และพวก ได้ร่วมเคลื่อนไหวนอกสภาผู้แทนราษฎร จัดตั้งกลุ่ม ‘สันนิบาตแห่งเอเชียอาคเนย์ (Union of Southeast Asian)’ และเคลื่อนไหวกับ ‘ขบวนการลาวอิสระ’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการกู้เอกราชให้ประเทศลาว ส่งผลให้กลุ่มของนายเตียง ถูกกวาดล้างหลายครั้ง

อย่างไรก็ดีจนแล้วจนรอดอย่างไร รัฐบาลก็จับนายเตียง ไม่ได้เสียที จนกระทั่งถูกตั้งฉายาว่า ‘ขุนพลภูพาน’

ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม 2491 นายเตียง ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ และเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน อัยการก็ส่งสำนวนฟ้องนายเตียงในข้อหาสมคบกันพยายามจะก่อการกบฏเพื่อทำลายรัฐบาลกับมีอาวุธปืน กระสุนปืน และวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต

หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2491 รัฐบาลได้จับกุม ส.ส.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรวมนายเตียง กับพวกไว้ด้วย แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัว เนื่องจากศาลพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ ในปี 2492 กลุ่มของนายปรีดี และคณะทหารเรือ ได้ทำการกบฏขึ้นเพื่อโค่นล้มอำนาจของจอมพล ป. แต่ล้มเหลว ซึ่งต่อมาเรียกเหตุการณ์นั้นว่า “กบฏวังหลวง” อย่างไรก็ดีภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การจับกุม และลอบฆ่า 4 รัฐมนตรีสายอีสานคือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี และ 3 คนแรกเป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกับนายเตียง อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่นายเตียง รอดมาได้ มีข่าวลือสะพัดไปทั่วว่า รัฐบาลต้องการเจรจาให้นายเตียงวางอุดมการณ์ต่อสู้ เพื่อจะได้ไม่พบจุดจบเหมือนเพื่อน ๆ ขณะที่มีการระบุว่าน้าสาวของ นิวาสน์ พิชิตรณการ (ภรรยาของนายเตียง) เป็นบุตรีของร้อยเอกนาถ และนางเวศ พิชิตรณการ ซึ่งเป็นอนุภรรยาของบิดา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานทท์ อธิบดีกรมตำรวจ กับฉายา “มือปราบอัศวิน” ในขณะนั้น

กระทั่งรัฐบาลออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 เพื่อเป็นเครื่องมือกวางล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากข้อหากบฏที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2495 ซึ่งเรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” นั้น

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2495 พล.ต.อ.เผ่า ให้ตำรวจเชิญตัวนายเตียง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนิติบัญญัติพิเศษที่บ้านนังคศิลา พร้อมกับนายเล็ก บุนนาค นานยผ่อง เขียววิจิตร นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค

หลังจากนั้น นายเตียง ก็หายตัวไปอย่างลึกลับนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมา ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งรื้อฟื้นคดีนี้ ปรากฏหลักฐานว่า นายเตียง ถูกฆ่ารัดคอหลังถูกควบคุมตัวไป 2 วัน แล้วนำศพไปเผาทิ้งเชิงเขาโล้น ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ขณะมีอายุเพียง 43 ปี

อย่างไรก็ดีประเด็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดนถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในปี 2497 เมื่อนายฟอง ถูกจับกุมในข้อหากบฏภายนอกราชอาณาจักร และกบฏภายในราชอาณาจักร ซึ่งข้อหาหลังนี้ นายฟอง ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์จะแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถูกจำคุกในข้อหากบฏก่อนถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2500

ทั้งนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า “กบฏ” เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกหลายครั้ง โดยมี 2 ครั้งที่อาจเรียกได้ว่า “ยิ่งใหญ่” และเป็น “ปรากฏการณ์” มีอิทธิพลสืบเนื่องมาจนถึงในบริบทสังคมและการเมืองในปัจจุบัน นั่นก็คือ “กบฏบวรเดช” ในปี 2476 ที่ต้องการรื้อฟื้นระบอบการปกครองแบบสมบูรณายาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ แต่ถูกปราบเสียเหี้ยนจากน้ำมือของ พ.ท.แปลก พิบูลสงคราม (ตำแหน่งในขณะนั้น)

ล่วงมาถึงยุคที่ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” รุ่งเรืองภายหลังเหตุการณ์ตุลาฯเลือด 2519 มีการจัดตั้งกองกำลังทหารตั้งค่ายรบในป่า โดยใช้นโยบาย “ป่าล้อมเมือง” แต่ก็ล่มสลายลงเมื่อเกิดกรณี “ป่าแตก” ในช่วงทศวรรษที่ 2530 ส่งผลให้ผู้ที่เข้าร่วมทยอยออกมาจากป่าเป็นจำนวนมาก

ที่มา : http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/27646-ww_27646.html


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกปูม คดีแยกดินแดน ครูเตียง เสื้อแดง

view