สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Capital Flight จะเกิดขึ้นเมื่อไร

Capital Flight จะเกิดขึ้นเมื่อไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมมักจะได้รับคำถามประเภทนี้ทุกครั้ง ที่เหตุการณ์บ้านเมืองผิดปกติ โดยเฉพาะเหตุการณ์การเมืองภายในประเทศ

พอดีช่วงนี้ พวกเราได้มีโอกาสที่อยู่ และเผชิญเหตุการณ์อย่างนี้พอดี หลายๆ คนและนักวิชาการบางคน ให้ความเห็นและติดตามว่า หากมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนหนีออกไปแล้ว เราต้องทำอะไรบ้าง แต่หากตามดูค่าของเงินบาทที่ผ่านมา หากนับตั้งแต่เหตุการณ์ "หน้าสถานีรถไฟสามเสน" จนถึงชัตดาวน์ และล่วงมาถึงปัจจุบันที่เวทีลุมพินี หากท่านสังเกต จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ มีการเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ ที่ค่อนข้าง "Orderly” ก็เลยมีการถามมาว่า ทำไมหรือ เพราะเหตุใดที่เงินบาทไม่สะท้อนภาพที่พวกเรา (บางคน) รู้สึก แล้วเมื่อไร หรือเหตุการณ์ใดน่าจะเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ "ขนเงินออก" เกิดขึ้นได้ ผมเลยขออนุญาตที่จะแชร์มุมมองของผม และเช่นเคยทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันใดๆ และโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและเชื่อด้วยนะครับ

Capital Flight เป็นอย่างไร คิดอะไรไม่ออกให้คิดถึง หากคุณอยู่ในโรงหนังกำลังดูหนังอยู่ แล้วจู่ๆ มีสัญญาณไฟไหม้เกิดขึ้น ทุกคนในโรงหนังต่างรีบหนีเอาตัวรอด ประตูทางออกมีอยู่น้อย ผู้คนมีมากมาย ใครหนีไม่ทันก็คงต้องตาย อยากจะ บอกว่านั่นแหละใช่เลย กรณีที่มีการตื่นตระหนกขนเงินออก หากท่านที่ยังจำได้ หรือใครพอที่จำได้วิกฤตปี 2540 (และประมาณหนึ่งปีก่อนหน้า) นั่นแหละที่เกิดเหตุการณ์ "ไฟไหม้โรงหนัง" หากท่านผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว ท่านคงจะเข้าใจในสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ได้ดี และเข้าใจเป็นอย่างดี

หลักใหญ่ใจความในเรื่องนี้ คือ ตราบใดก็ตามที่ตลาดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังมั่นใจว่า การแลกเปลี่ยนเงินบาทไปเป็นเงินตราต่างประเทศ (Convertibility) ยังเป็นไปได้ตามปกติ ดังนั้นไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศจะ "ดูเหมือน" รุนแรง หรือรุนแรง หากตลาดมีความเชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบต่อ Convertibility ของเงินบาทแล้ว โอกาสที่จะมีการขนเงินออกอย่างตื่นตระหนก ก็เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นการดำเนินนโยบายด้านนี้ ต้องให้ความมั่นใจว่า ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนต่อ Convertibility ตลาดก็จะคลายความตื่นตระหนกนั้นเอง ด้วยตัวของมันเอง

ลองยกตัวอย่างสัก 2 ตัวอย่าง ท่านผู้อ่าน จะได้ภาพชัดขึ้น เหตุการณ์ปี 2540 เป็นตัวอย่างที่ดี ที่บ่งชี้ว่า ตลาดไม่มีความมั่นใจว่าเงินบาทจะคง Convertibility ไว้ได้ นักลงทุนทั่วโลก จึงแห่กันแลกเงินบาทไปเป็นเงินตราต่างประเทศกันแบบ "หนีตาย” แล้วสุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยก็เป็นไปอย่างที่เห็นในช่วงนั้น รายละเอียดเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนั้นเป็นมาอย่างไร ขอไม่กล่าวในที่นี้นะครับ ไว้มีโอกาสเหมาะๆ จะเล่าให้ฟังอย่างละเอียดเลย

ตัวอย่างที่สองเป็นตัวอย่างที่นักลงทุน มั่นใจว่า ไม่มีผลต่อ Convertibility ของเงินบาท ถึงแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงทางการเมืองก็ตาม จำกันยายน 2549 ได้ไหมครับ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้กำลัง มีการปิดทำการธนาคารอยู่ระยะเวลาสั้นๆ แต่ทว่าไม่มีผลต่อค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ (อันที่จริงคือไม่มีผลเลยก็เรียกได้) ค่าเงินบาท

ไม่ได้อ่อนยวบตามที่หลายคนในช่วงนั้นเป็นกังวลใจ ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ลงอย่างถล่มทลายอย่างที่หลายคนในช่วงนั้นกลัวกัน

ผมอยากจะแนะนำท่านผู้อ่านของผมว่า การพิจารณาเรื่องนี้ ท่านต้องพยายามนึก หรือสมมติบทบาทของท่านว่าเป็นนักลงทุนต่างชาติ (หรือไทยก็ตาม) พยายามเอา "ความรู้สึกร่วม” แบบไทยๆ ออกไป ท่านพอจะรู้ได้ว่าการกระทำต่อไปต่อตลาดเงินนั้น จะเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่นสมมติท่านเป็นผู้ออกไปประท้วงและอยู่ในอารมณ์ร่วมกับการประท้วงดังกล่าว ท่านเป็นหนึ่งในคนล้านคนที่ออกมา อารมณ์ร่วมของท่านอาจจะบอกว่านักลงทุนโดยทั่วไปคงต้องซื้อดอลลาร์เมื่อตลาดเปิดในวันจันทร์ เพราะเขาเหล่านั้นต้อง”เห็นด้วย” กับคนล้านคนที่ออกมา อย่างนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป

หากว่าผู้ดำเนินนโยบาย ยังคงมีความสามารถในการรักษา Convertibility ของเงินบาทไว้ได้ นักลงทุนเขามาลงทุนเขาต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เขารับเอาไว้ และหากเขายังเชื่อว่า เขายังสามารถแลกเงินบาทไปเป็นเงินสกุลสากลได้ เขาคงไม่ ”บ้าจี้” เพื่อเป็นพวกเดียวกับคนล้านคนหรอก นอกจากว่าเขาเชื่อว่า ไม่เป็นไปตามนั้น กล่าวคือ เขากลัวว่าจะแลกเป็นเงินดอลลาร์ไม่ได้ นั่นแหละเขาจะทำการแบบที่เกิดขึ้นในปี 2540

ความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อมั่น จะไม่มาปุ๊บปั๊บ หรือหนีหายไปปุ๊บปั๊บ จะใช้เวลานานพอควรก่อนนักลงทุนจะขนเงินออก ตัวอย่างในปี 2540 มีดัชนีบ่งชี้อยู่ล่วงหน้าก่อนประมาณหนึ่งปี การเคลื่อนไหวขึ้นลงของตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น หรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน หากเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มาจากความไม่มั่นใจใน Convertibility ของเงินบาทแล้ว เป็นเพียงโอกาสที่ให้ท่านได้ซื้อของถูกเข้ามาใน portfolio แน่นอนท่านอาจจะ shorten duration ลงมาเพื่อความปลอดภัยก็ไม่ผิดกติกาอะไร

การติดตาม และ "วัด" ความรู้สึกว่า ความเชื่อมั่นค่าเงินบาท และ/หรือ Convertibility เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ไม่ใช่จะทำไม่ได้ ยิ่งสมัยที่นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว และตลาดพันธบัตรรัฐบาลมีขนาดใหญ่โต และอายุของพันธบัตรมีระยะเวลายาว การวิเคราะห์จากการเคลื่อนไหวของตลาดเหล่านี้ น่าจะบอกอะไรได้บ้าง อาทิ หากมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียว คือ เงินบาทอ่อนตลอด หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแต่จะสูงขึ้น น่าจะต้องระมัดระวังตัวไว้บ้าง ตัวบ่งชี้อีกตัวหนึ่งที่พวกเราเช็กดูได้ไม่ยาก คือ ราคาของเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินสด หากพวกร้านแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปกำหนดค่าเงินตราต่างประเทศที่แพงเกินกว่าที่จะเป็น น่าจะเป็นทิศทางอีกอันหนึ่ง ที่ต้องระวัง ขอให้ทุกท่านโชคดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Capital Flight เกิดขึ้นเมื่อไร

view