สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหาของประชาธิปไตยในมุมมองของดิอีโคโนมิสต์

ปัญหาของประชาธิปไตยในมุมมองของดิอีโคโนมิสต์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในหลายส่วนของโลกเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ประจำวันที่ 1 มีนาคม พิมพ์บทวิเคราะห์

ขนาดยาวถึง 6 หน้ากระดาษออกมา เนื้อหาน่าจะเป็นที่ใส่ใจของชาวไทยแม้เรื่องการต่อต้านรัฐบาลไทยในปัจจุบันจะถูกอ้างถึงเพียงผ่านๆ เท่านั้นก็ตาม การวิเคราะห์ครอบคลุมความเป็นไปของระบอบประชาธิปไตยทั้งในประเทศก้าวหน้าและประเทศล้าหลังทางด้านเศรษฐกิจและสังคม บทความน่าจะชี้บ่งอย่างแจ้งชัดว่า ทั้งที่ชาวโลกโดยทั่วไปจะมองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองในฝัน แต่เมื่อมองกันให้ลึกๆ มันอาจไม่ใช่ก็ได้

ตามประวัติของการพัฒนา หลังอารยธรรมกรีกอันเป็นแหล่งกำเนิดของแนวคิดล่มสลายไป ระบอบประชาธิปไตยถูกฝังกลบอยู่กว่าสองพันปีก่อนที่จะถูกนำกลับมาใช้อย่างจริงจังอีกครั้งในอเมริกา การแพร่ขยายเป็นไปอย่างเชื่องช้า จึงปรากฏว่าเมื่อตอนต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย การแพร่ขยายเป็นไปอย่างกว้างขวางหลังสงครามนั้นยุติ แต่หยุดชะงักลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในประเทศก้าวหน้า ระบอบประชาธิปไตยดูจะนำไปสู่ความติดขัดสารพัดอย่างรวมทั้งภาวะหนี้สินท่วมท้นและการรุกรานประเทศอื่น ส่วนในประเทศล้าหลัง ประชาธิปไตยขยายเข้าไปแล้วก็มักล้มครืนลง บทความมองว่าปัญหามาจากวิกฤติการเงินปี 2550-2551 และการขยายตัวสูงเป็นเวลานานของเศรษฐกิจจีน

วิกฤติปี 2550-2551 สร้างความเสียหายทั้งในด้านการเงินและด้านจิตวิทยาพร้อมกับชี้ให้เห็นปัญหาของสังคมตะวันตกซึ่งใช้จ่ายในด้านสวัสดิการแบบแทบไม่ยับยั้ง การใช้จ่ายเช่นนั้นนำไปสู่การก่อหนี้สินแบบไม่สิ้นสุด ประชาชนหมดศรัทธาในรัฐบาลที่เข้าไปอุ้มธนาคารแต่กลับไม่ทำอะไรเมื่อผู้บริหารธนาคารไร้ยางอายจ่ายโบนัสก้อนใหญ่ๆ ให้ตนเอง วิกฤตินั้นชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นผิดๆ ในฐานของฉันทามติแห่งวอชิงตันที่ว่า แนวคิดตลาดเสรีที่สังคมตะวันใช้จะไม่ทำให้เกิดความถดถอยร้ายแรง ในขณะเดียวกัน การขยายตัวสูงของจีนชี้ให้เห็นว่า การไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นปัจจัยที่ทำให้การขยายตัวสูงนั้นเกิดขึ้นได้ส่งผลให้ชาวจีนส่วนใหญ่พอใจในระบบของตนและประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมองว่าระบบของจีนเป็นทางเลือกที่ดี

ตัวอย่างของจีนมีพลังมากขึ้นจากความเพลี่ยงพล้ำหลายครั้งของฝ่ายที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย ครั้งแรกเกิดขึ้นในรัสเซียซึ่งทำท่าว่าจะไปได้ดีหลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน แต่เพียงราวสิบปีเท่านั้น รัสเซียก็หันกลับไปใช้ระบบเผด็จการแม้จะมีการเลือกตั้งบังหน้าก็ตาม หลังจากนั้นมา หลายประเทศเริ่มเดินตามรวมทั้งเป็นเวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ยูเครนและประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยแม้บทความจะไม่เอ่ยถึงก็ตาม

ความเพลี่ยงพล้ำครั้งต่อไปได้แก่สงครามอิรักซึ่งชี้ให้เห็นถึงการโกหกพกลมของสังคมตะวันตกที่อ้างว่าซัดดัมมีอาวุธทำลายล้างสูงจึงจำเป็นต้องเข้าไปจัดการ เมื่อพบว่าซัดดัมไม่มีอาวุธเช่นนั้น ฝ่ายอเมริกันกลับแก้หน้าว่าบุกเข้าไปในประเทศนั้นเพื่อปูฐานของการสร้างเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยให้อิรักและประเทศอื่น แต่มันตื้นเกินไปที่จะทำให้ชาวโลกหลงเชื่อ ความเพลี่ยงพล้ำครั้งที่สามได้แก่ในอียิปต์ซึ่งเป็นตัวอย่างชั้นดีที่ชี้ว่า การขับไล่เผด็จการได้สำเร็จนั้นมิได้หมายความว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยได้ทันที ตรงข้ามเผด็จการอาจฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากนั้น เหตุการณ์ในแนวเดียวกันเกิดขึ้นทั้งในแอฟริกา ตุรกี บังกลาเทศ กัมพูชาและไทยซึ่งล้วนมีปัญหาหนักหนาสาหัสจากความฉ้อฉลร้ายแรง

โดยสรุป ประชาธิปไตยเกิดได้ยากเนื่องจากมันต้องมีฐานทางด้านวัฒนธรรมรองรับอยู่ ยิ่งกว่านั้น แม้มันจะเกิดขึ้นแล้วในประเทศที่มีวัฒนธรรมรองรับ แต่ความกดดันจากกระบวนการโลกาภิวัตน์และจากส่วนประกอบภายในของแต่ละประเทศก็กำลังสร้างปัญหา กระบวนโลกาภิวัตน์ลดอำนาจของนักการเมืองภายในพร้อมกับเพิ่มอำนาจให้ตลาดโลกและองค์กรระหว่างประเทศเช่นไอเอ็มเอฟ องค์การค้าโลกและสหภาพยุโรป ทางด้านส่วนประกอบภายใน หลายประเทศกำลังเผชิญกับการขอแยกตัวจากส่วนกลางรวมทั้งชาวคาตาลันในสเปน ชาวสก็อตในสหราชอาณาจักร รัฐต่างๆ ของอินเดียและแม้แต่นายกเทศมนตรีของอเมริกา นอกเหนือจากนั้น รัฐบาลกลางยังต้องเผชิญกับอำนาจที่เพิ่มขึ้นขององค์กรเอกชนและกลุ่มอิทธิพลต่างๆ รวมทั้งกลุ่มนักชักชวนอาชีพ (Lobbyists) กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการมีเทคโนโลยีดิจิทัล

แม้สิ่งที่เอ่ยถึงเหล่านั้นจะเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่ง แต่สิ่งที่สร้างปัญหาสาหัสที่สุดได้แก่ตัวของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเอง ปัญหามาจากการยอมรับและสนับสนุนรัฐบาลที่ใช้นโยบายในแนวประชานิยมซึ่งนำไปสู่การใช้จ่ายเพื่อมุ่งเอาใจประชาชนแต่ละเลยด้านการลงทุน การใช้จ่ายแบบนั้นนำไปสู่การก่อหนี้สินซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งต่อไปโดยมิได้ปูฐานสำหรับการพัฒนาระยะยาว พร้อมกันนั้น ก็มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่ทอดอาลัยจนไม่ใส่ใจกับการเมืองและบางส่วนถึงกับทับถม หรือเยาะเย้ยเลยทีเดียว

สำหรับทางออก บทความแนะนำให้ทำฐานทางสถาบันให้แข็งแกร่งพร้อมกับสร้างกลไกให้ยืดหยุ่นได้เพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปโดยไม่ต้องยึดมั่นจนเกินไปในกระบวนการเลือกตั้งและในเสียงส่วนใหญ่ แต่ต้องจำกัดหนทางสร้างความฉ้อฉลของบุคคลที่กุมอำนาจ แม้บทความจะมิได้พูดถึง แต่เป็นที่ประจักษ์ว่า สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้คงเป็นเพียงในกรณีที่มีกลุ่มผู้นำที่รอบรู้ เข้มแข็ง มุ่งมั่น ไม่ฉ้อฉลและประชาชนส่วนใหญ่ให้ความศรัทธา เมืองไทยจะหากลุ่มผู้นำเช่นนั้นได้หรือไม่คงต้องรอดูไปอีกชั่วระยะหนึ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหา ประชาธิปไตย มุมมอง ดิอีโคโนมิสต์

view