สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้นำต่างประเทศกับคดีคอร์รัปชัน

ผู้นำต่างประเทศกับคดีคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำลาย ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ทำลายสังคม ทำลายเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศ

ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศที่ตระหนักถึงผลร้ายของการคอร์รัปชันต่างก็ร่วมมือกันต่อต้านคอร์รัปชันตลอดมา องค์การสหประชาชาติก็ได้เล็งเห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาและการคุกคาม อันเกิดจากการคอร์รัปชันต่อความมั่นคงปลอดภัยของสังคม กัดกร่อนสถาบันและคุณค่าของประชาธิปไตย คุณค่าทางศีลธรรมและความยุติธรรม และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักนิติธรรม จึงได้มีการตกลงระหว่างประเทศ จัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 ขึ้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2548

แม้จะมีการร่วมมือกันต่อต้านคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ แต่ปัญหาการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริหารประเทศ ก็หาได้เบาบางหรือลดน้อยลงไม่ สำหรับประเทศไทยในยุคนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคที่คอร์รัปชันเบ่งบานที่สุดก็คงไม่ผิด จะเห็นได้จากการดำเนินการโครงการของรัฐบาลทุกโครงการไม่ว่าโครงการใหญ่หรือเล็ก มีข้อครหาว่ามีการคอร์รัปชันอยู่ทุกโครงการ ในด้านภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกปี 2556 ไทยตกอันดับจากอันดับ 88 เมื่อปีที่แล้ว ตกมาอยู่ในอันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ก็ถูก ป.ป.ช. กล่าวหาว่าทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557

การที่ผู้นำฝ่ายบริหารถูก กล่าวหาว่าคอร์รัปชัน มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีเช่นกัน เช่น

นาย Christian Wuff ประธานาธิบดีแห่งประเทศเยอรมนี ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการมลรัฐ Lower Saxony ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2553 จากกรณีที่เขา และครอบครัวเดินเดินทางไปงาน Octoberfest ในเมืองมิวนิค เมื่อปี 2551 โดยบริษัทสร้างภาพยนตร์แห่งหนึ่งออกเงินค่ารับรอง จ่ายค่าโรงแรมให้เป็นเงิน 720 ยูโร ต่อมาถูกกล่าวหาว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์แห่งนั้น ระหว่างการสอบสวน อัยการได้ยื่นคำขอต่อรัฐสภาขอให้ยกเลิกเอกสิทธิ์การคุ้มครองของนาย Christian Wuff เพื่อให้การสอบสวนสามารถดำเนินการได้ในฐานะพลเมืองทั่วไป นาย Christian Wuff จึงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ต่อมานาย Christian Wuff ถูกฟ้องต่อศาล เมือง Hannover เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ในข้อหาคอร์รัปชัน ในที่สุดศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ยกฟ้อง ด้วยเหตุไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนหนักแน่นว่าเขากระทำผิด

นาย Peter Necas นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเช็ก ที่มีเรื่องอื้อฉาว เมื่อตำรวจเข้าค้น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม และที่บ้านพักของนาย Jana Nagyova ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของเขาและตำรวจได้ควบคุมตัวนาย Jana Nagyova พร้อมกับตั้งข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รับสินบน นาย Peter Necas ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ว่า เขาตระหนักดีถึงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อกรณีที่เกิดขึ้น และจะลาออกจากตำแหน่งในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

นาย Ephraim Inoni อดีตนายกรัฐมนตรี แห่งประเทศคาเมรูน ถูกศาลคาเมรูน พิพากษาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2556 ให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปีข้อหาคอร์รัปชัน จากกรณีที่เขาโกงเงินหลวง ในการทำสัญญาเช่าเครื่องบินที่ใช้ในกิจการของรัฐแห่งหนึ่ง ในราคาที่สูงเกินจริง เมื่อจ่ายค่าเช่าให้สายการบินที่ให้เช่าเครื่องบิน ก็จะมีการนำเงินค่าเช่าส่วนเกินโอนเข้าบัญชีของเขาในธนาคารแห่งหนึ่งที่เขาเป็นประธานกรรมการอยู่ด้วย

นาย Mariano Rajoy นายกรัฐมนตรี แห่งสเปน ก็มีเรื่องต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าพัวพันกับการคอร์รัปชัน ได้รับเงินค่าหยอดน้ำมันจากนักธุรกิจ ผ่านทางนาย Luis Barcenas เหรัญญิกของพรรคการเมืองที่เขาเป็นหัวหน้า โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หนังสือพิมพ์รายวันของสเปน ผู้เปิดเผยเรื่องนี้ ได้แสดงหน้าสมุดบัญชีของนาย Luis Barcenas ที่มีชื่อของ นาย Mariano Rajoy นายกรัฐมนตรี อยู่ในรายชื่อผู้ได้รับเงินด้วย และเปิดเผยข้อความที่ตอบโต้ระหว่างเขากับนาย Luis Barcenas บนโทรศัพท์มือถือในเรื่องที่เกี่ยวกับการรับเงินตามที่ถูกกล่าวหาด้วย ในบัญชีของนาย Luis Barcenas แสดงว่า นาย Mariano Rajoy ได้รับเงินจากธุรกิจเอกชนปีละไม่ต่ำกว่า 25,000 ยูโร ต่อมา นาย Luis Barcenas ถูกตำรวจควบคุมตัวและดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชัน แต่นาย Mariano Rajoy ก็ปฏิเสธว่า เขาไม่เคยได้รับเงินตามที่ถูกกล่าวหา นาย Mariano Rajoy ถูกกดดันอย่างหนัก จนยอมไปชี้แจงเรื่องนี้ต่อรัฐสภา เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่าผิดพลาดที่เชื่อใจบุคคลบางคนมากไป และไม่ยอมลาออกตามที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้อง กรณีนี้ทำให้มีการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลกันอย่างกว้างขวางและทำให้คะแนนนิยมตกลงอย่างมาก

นาย Tayyip Erdogan นายกรัฐมนตรี ตุรกี ก็ประสบมรสุมเรื่องคอร์รัปชัน เริ่มจากเมื่อ วันที่ 17 ธันวาคม 2556 ตำรวจบุกจับบุคคลหลายสิบคน ฐานรับสินบน ในจำนวนนี้มีบุตรของรัฐมนตรีในรัฐบาลของนาย Tayyip Erdogan ด้วยสามคน ต่อมารัฐมนตรีทั้งสามยื่นใบลาออก ในการเผชิญมรสุมครั้งนี้ มีการนำเทปบันทึกเสียงที่กล่าวอ้างว่าเป็นบทสนทนาของนายกรัฐมนตรี กับบุตรชายเกี่ยวกับการเรียกรับเงินสินบนด้วย แต่นาย Tayyip Erdogan ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ทั้งฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนฝ่ายค้านเดินขบวนเรียกร้องให้นาย Tayyip Erdogan ลาออก แต่ก็ไม่ยอมลาออก สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อมีการเผยแพร่เสียงบันทึก ที่อ้างว่าเป็นเสียงของนาย Tayyip Erdogan ที่แนะนำบุตรชายให้ซ่อนเงินจำนวนมากไว้ ระหว่างที่มีการสืบสวนเรื่องนี้ แต่เขาก็ปฏิเสธว่าเป็นการทำปลอมขึ้นของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้นำต่างประเทศ คดีคอร์รัปชัน

view