สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คดีเดือนเมษาระทึก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

นับเป็นสถานการณ์ลำบากอีกครั้งของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาท) ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งกระบวนการตรากฎหมายและเนื้อหาของกฎหมาย

มิหนำซ้ำในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังมีสาระสำคัญถึงการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐบาลว่า “การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง เพื่อรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม” ซึ่งจากความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการตอกย้ำถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล

ผลจากคำวินิจฉัยล้มกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ได้จบลงแค่กฎหมายเป็นโมฆะ แต่ได้นำมาซึ่งคดีที่รัฐบาลกำลังจะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกด้วย หลังจาก วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมรวบรายชื่อ 2 หมื่นรายชื่อ และยื่นให้วุฒิสภาและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการถอดถอนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 ได้ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว โดยมีข้อกล่าวหาที่สำคัญคือ รัฐบาลออกกฎหมาย เพื่อใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยไม่เป็นไปตามระบบงบประมาณที่มาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนด

ข้อกล่าวหาของกลุ่ม ส.ส.ร. 2550 นับว่าสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความเห็นว่าการเงินกู้นั้นถือเป็นเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ ทำให้คดีนี้ภายใต้ข้อดังกล่าวมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นและมีความเป็นไปได้สูงที่ ป.ป.ช.จะเข้ามาดำเนินการเหมือนกับคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว.

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.มีการไต่สวนคดีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จริงจะมีความน่าสนใจตรงที่ความเห็นในขั้นตอนสุดท้ายของ ป.ป.ช. เพราะถ้ามี ป.ป.ช.เห็นว่าการดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ของ ครม. ทั้งคณะมีลักษณะของการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบพร้อมกับส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจะมีผลให้ ครม.ทุกคนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวทันที

แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าชะตากรรมของรัฐบาลจะผูกไว้กับคดีเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพียงอย่างเดียวกัน เพราะยังมีอีกหลายคดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนแบบเร่งด่วนของ ป.ป.ช. และมีแนวโน้มจะรู้ดำรู้แดงในช่วงเดือน เม.ย. ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน วิเคราะห์เอาไว้

คดีใน ป.ป.ช.ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษมีด้วยกัน 2 คดี

1.คดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา สว. ป.ป.ช.เตรียมสรุปคดีนี้บางส่วนภายในเดือน มี.ค.ตามการเปิดเผยจาก “วิชา มหาคุณ” โฆษก ป.ป.ช. ส่วนจะชี้มูลความผิดกับอดีต สส.และ สว. ทั้ง 308 คนหรือไม่คงต้องไปวัดใจ ป.ป.ช.กันอีกทีก่อนส่งให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนต่อไป

2.คดีโครงการรับจำนำข้าว นายกฯ ยิ่งลักษณ์ พยายามเบรกเกม ป.ป.ช.ด้วยการส่งทนายความไปยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ ป.ป.ช.เลื่อนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 45 วัน แต่ ป.ป.ช.อนุโลมให้เลื่อนได้แค่ 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.

ตามขั้นตอนนายกฯ มีสิทธิชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ได้จนถึงวันสุดท้ายราววันที่ 29 มี.ค. ตามกำหนด 15 วัน จากนั้น ป.ป.ช.จะมาพิจารณาว่าคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกฯ ฟังขึ้นหรือไม่ ถ้าฟังไม่ขึ้น ป.ป.ช.จะลงความเห็นว่ามีความผิดและส่งให้วุฒิสภาถอดถอน ซึ่งในระหว่างนี้นายกฯ ต้องลงจากเก้าอี้ชั่วคราว

ดังนั้น เดือน เม.ย. ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า เป็นช่วงเวลาลำบากของรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้ เมื่อนำกรอบเวลาการทำงานของ ป.ป.ช.มาเป็นตัวตั้ง

นอกเหนือไปจาก ป.ป.ช.แล้วรัฐบาลยังมีคดีที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งคดีที่ส่งผลและไม่ส่งผลต่อสถานะรัฐบาลโดยตรง

อย่างเช่น คดีเลือกตั้งโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและนายกฯ หรือตัวแทนของทั้งฝ่ายมาชี้แจงต่อศาลในวันที่ 19 มี.ค.

โดยมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาก่อนการเลือกตั้ง สส.ทดแทนในวันที่ 5 เม.ย. เหมือนกับที่ศาลเคยตอบความเห็นของ กกต.เกี่ยวกับการเลื่อนวันเลือกตั้งออกมาวันที่ 24 ม.ค. ก่อนการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ม.ค.

ถึงที่สุดแล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของรัฐบาล ในทางกลับกันพรรคเพื่อไทยยินดีลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง แต่อาจต้องระวังการเคลื่อนไหวของ กปปส.

นอกจากนี้ ยังมีอีกคดีที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญคือ การให้วินิจฉัยว่ายิ่งลักษณ์ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งหรือไม่ หลังจากศาลปกครองพิพากษาว่าการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นการกระทำโดยมิชอบ

เป็นคดีที่ สว.นำโดยกลุ่ม 40 สว.ได้เข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งให้ศาลพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเมื่อการโยกย้ายถวิลเป็นความผิดแล้ว เท่ากับว่านายกฯ ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทรกแซงส่วนราชการเกินกว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ยิ่งลักษณ์ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความคิดเห็นอย่างไรต่อไป

เมื่อดูจากภาพรวมของคดีทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องยากมากที่รัฐบาลจะผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คดีเดือนเมษา ระทึก

view