สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การลงทุนภายใต้บรรยากาศ Financial Repression

การลงทุนภายใต้บรรยากาศ Financial Repression

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เกือบ 3 ปีที่แล้ว Bill Gross "The Bond King" แห่งPIMCO บริษัทจัดการลงทุนที่ว่ากันว่ามีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

(ผู้ซึ่งมีข่าวล่าสุดว่าได้เงินเดือนจาก PIMCO ถึงปีละ 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี) ได้กล่าวถึงคำศัพท์เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า "Financial repression" เป็นครั้งแรกใน Investment Outlook ของ PIMCOประจำเดือน พ.ค.2554 เรื่อง "The Caine Mutiny" และก็กล่าวอีกครั้งต่อมาในเดือน มิ.ย.2554 เรื่อง "Buy Cheap Bonds With Safe Spread" เป็นแรงหนุนส่งให้ในช่วงเวลานั้น ผู้คนแวดวงการลงทุน ต่างหันมาสนใจกับคำว่า Financial repression กันมากขึ้น

โดย Gross ได้กล่าวถึง "Financial repression" ด้วยการอ้างอิงบทความทางวิชาการ เรื่อง "The Liquidation of Government Debt" ของ Prof. Carmen Reinhart และ Belen Sbrancia ที่ตีพิมพ์โดยThe National Bureau of Economic Research(NBER)เมื่อ มี.ค.2554 ซึ่งเป็นบทความที่ได้รวบรวม วิเคราะห์และสรุปถึงวิธีการในอดีต ที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของตน ในช่วงปี ค.ศ. 1945 - 1980

Reinhart ได้อธิบายในบทความของเธอว่า โดยปกติแล้ว ปัญหาเรื่องหนี้ของประเทศใด (วัดจากอัตราส่วนของ Debt ต่อ GDP) สามารถจะทำให้ลดลงไปได้มี 5 วิธีด้วยกัน ได้แก่ 1.growth (เศรษฐกิจขยายตัวจนทำให้พอจ่ายหนี้ได้) 2.ใช้นโยบายรัดเข็มขัดและขึ้นภาษี (ประหยัดเพื่อจ่ายหนี้) 3. Default (ล้มละลายแล้วขอปรับโครงสร้างหนี้) 4.ทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง หรือ Hyperinflation (มีหนี้เสมือนไม่มี เนื่องจากหนี้มีมูลค่าลดลงอย่างมาก) และ 5.ใช้เทคนิค Financial Repression ผนวกกับทำให้เกิดเงินเฟ้อด้วย แต่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก (ในอัตราที่พอยอมรับกันได้)

การแก้ปัญหาหนี้ตามข้อ 4 และ 5 มีเงื่อนไขว่า ภาระหนี้ต้องอยู่ในรูปของสกุลเงินของประเทศนั้น เช่น สหรัฐอเมริกามีภาระหนี้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ หรือญี่ปุ่นมีภาระหนี้สินเป็นรูปเงินเยน เป็นต้น

ตัวอย่างอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงมากนัก เช่น เงินเฟ้อ 5% ต่อปี ดูไม่สูงมากนักใช่ไหมครับ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อ5% ก็จะสามารถทำให้ภาระหนี้เหลือมูลค่าที่แท้จริงเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของภาระหนี้เดิม ด้วยระยะเวลาเพียงประมาณ 14 ปี

เทคนิค Financial Repression ที่ Reinhart กล่าวถึงในบทความ ประกอบไปด้วย1.การกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจนทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ 2.การบังคับให้สถาบันการเงินในประเทศ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญให้ซื้อและยังคงถือครองตราสารหนี้ของภาครัฐ 3.การกำกับดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน และ 4.การเข้าไปครอบงำกิจการภาคธนาคาร

ทางเลือกด้วยการใช้ Financial Repression ในการแก้ปัญหาหนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นทางออกอย่างง่าย ๆ ของนักการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัดและขึ้นภาษี(Fiscal Austerity) และหรือไม่ต้องกำหนดนโยบายให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (จนอาจเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาต่อต้าน)

โดย Reinhart ได้แสดงหลักฐานของการใช้นโยบาย Financial repression แก้ปัญหาหนี้ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เบลเยียม อินเดีย ไอร์แลนด์ อิตาลี แอฟริกาใต้ สวีเดน สหราชอาณาจักร(UK) และสหรัฐอเมริกา(USA) และทำสำเร็จมาแล้วระหว่างช่วงปี 1945-1980

ในปัจจุบันกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มยูโรโซนปัจจุบันต่างมีภาระหนี้สินเป็นอัตราที่สูงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐ ซึ่งในขณะที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้อยู่นั่น นาฬิกาหนี้ หรือ Debt Clock (www.usdebtclock.org) ปัจจุบันรายงานว่า USA มีหนี้ภาครัฐสูงถึงประมาณ17.4 ล้านล้านดอลลาร์ จาก GDP ทั้งปีของ USA อยู่ที่ประมาณ17.1 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็นอัตราส่วน Public Debt ต่อ GDP ประมาณ100%) ซึ่งก็โชคดีสำหรับสหรัฐที่หนี้ส่วนใหญ่ตนนั้น เกือบทั้งหมดเป็นล้วนเป็นหนี้สกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลให้วิธีการ Financial repression ในUSAสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ และ Quantitative Easing ของธนาคารกลางประเทศสหรัฐ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ FED

และเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง บทความล่าสุดของ Reinhart และ Rogoff ที่ตีพิมพ์ทาง ใน IMF Working Paper เมื่อธ.ค. 2556 นี้ เรื่อง “Financial and Sovereign Debt Crises: Some Lessons Learned and Those Forgotten” ก็ได้ยืนยันหรือ confirmแล้วว่า เทคนิดFinancial repression เจ้าเก่านี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นการทั่วไปเรียบร้อยแล้วในช่วงที่ผ่านมา ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว

แน่นอนว่า การใช้เทคนิค Financial Repression ที่ให้กดอัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยให้เป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เกิดภาระอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ เช่น อัตราดอกเบี้ย 2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ 5% คิดเป็นดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบอยู่ 3% ซึ่งเป็นการลงโทษผู้ออมเงินผ่านภาคธนาคาร ขณะเดียวกันก็เป็นการให้รางวัลคนที่เป็นหนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อได้กัดกร่อนเงินออมรวดเร็วกว่าดอกเบี้ยที่งอกเงยของเงินฝาก

ฉะนั้น ตาม commonsense แล้วการลงทุนที่เหมาะสมภายใต้ภาวะ Financial Repression นี้ย่อมต้องเป็นการลงทุนที่สามารถสู้ได้กับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ นั่นคือการลงทุนในสินทรัพย์ ที่ปกติแล้วราคามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่า หรืออย่างน้อยต้องเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ เช่น พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ หรือ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น สินค้าพลังงาน โลหะมีค่า สินค้าเกษตร

แต่ในความเป็นจริง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้ที่ได้ทำการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Asset Class กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ล้วนประสบกับผลขาดทุนกันถ้วนหน้า ทั้งนี้เนื่องจากผลของเงินเฟ้อจาก Financial Repression ที่คาดหวังกันนี้ยังมิได้แสดงออกมาผ่าน Financial Market อย่างชัดเจนนัก

ก็คงจะมีคำถามตามมาว่า แล้วแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมภายใต้ Financial Repression ซึ่งเป็นช่วงเวลาภาวะเงินเฟ้ออาจยังมิได้แสดงออกมามากนักนั้น ต่อจากนี้ควรเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวผม เห็นว่าควรมุ่งเน้นในสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดเข้าพอร์ต เช่น ซื้อหุ้นปันผล และ ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทชั้นดีที่ให้ผลตอบแทนสูงที่มีระยะเวลาครบกำหนดไม่นานเกินไปนักทั้งนี้เมื่อภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นหุ้นที่เราถืออยู่น่าจะปรับตัวขึ้นไปได้ตามภาวะเงินเฟ้อ ส่วนหุ้นกู้ก็ถือรับดอกเบี้ยไปจนหมดอายุ(เพื่อที่จะไม่ต้องได้รับผลขาดทุน หากดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น)

อย่างไรก็ดี ภายใต้ภาวะที่ยังไม่แน่นอนดังที่เรากำลังประสบอยู่นี้ ท่านผู้อ่านคงต้องคิดพิจารณาไตร่ตรอง แล้วตัดสินใจอย่างรอบคอบว่า จะเลือกลงทุนในรูปแบบใดให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของแต่ละท่านครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การลงทุน ภายใต้บรรยากาศ Financial Repression

view