สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาพคล่องในระบบการเงิน

สภาพคล่องในระบบการเงิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เคยสงสัยไหมครับว่า “สถาบันการเงินจัดการกับสภาพคล่องรายวันอย่างไร”

และ “สภาพคล่องของสถาบันการเงินวัดที่ Total Assets ใช่หรือไม่ อย่างไร” ... สภาพคล่องของแต่ละธนาคารไม่ได้วัดที่ Total Assets ครับ หากวัดกันตามนั้นแล้ว Lehman Brother ซึ่งมี Balance sheet หรือ Total Assets อยู่ที่ USD 648,000mil. หรือราว 20ล้านล้านบาท ก่อนล่มสลาย (ประมาณ สิบเท่า ของธนาคารกรุงเทพ) คงไม่สูญหายไปจากโลกนี้หรอกครับ

ในวันหนึ่งๆ สถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ต้องจัดการกับสภาพคล่องของตนผ่านทั้งการ “ให้กู้” (หรือฝาก) และ “กู้” เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอสำหรับความต้องการใช้เงินของหน่วยงานต่างๆ ในธนาคาร ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของลูกค้ารายย่อย รายใหญ่ และลูกค้าสถาบัน หรือ ธนาคารจะต้องดำเนินการกับเงินส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อลูกค้ามีการคืนเงินกู้ก้อนใหญ่ (ซึ่งมีทั้งสกุลเงินบาท และสกุลหลักอื่นๆ เช่น USD EUR หรือ JPY)

การจัดการสภาพคล่องดังกล่าวถือเป็น หัวใจสำคัญ ของสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยต้องผู้จัดการจะต้องคำนึงถึง ความเสี่ยงของคู่ค้า (Counterparty risk) ความลึกของธุรกรรม (สามารถทำธุรกรรมได้ในปริมาณมาก เช่น 50,000ล้าน หรือ 200,000ล้านบาท โดยไม่มีผลต่อ ราคา หรือ rate) และอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม

การบริหารสภาพคล่องในสกุลเงินบาทจะกระทำผ่านเครื่องมือหลัก 3 ประเภท 1) Bilateral Repurchase (ขอเรียกสั้นๆ ว่า Bilateral Repo) 2) Private Repurchase หรือ Private Repo 3) Money Market หรือ Interbank transactions

ธุรกรรม Private Repo มีความคล้ายคลึงกับ Bilateral Repo ในประเด็นที่เป็นธุรกรรมการกู้/ยืมโดยมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะต่างกันก็เพียงที่ Private Repo มีคู่สัญญาเป็นสถาบันการเงิน (Interbank) ในขณะที่ Bilateral repo มี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นคู่สัญญา ซึ่งนอกจากจะไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตแล้ว ธปท. ยังไม่มีข้อจำกัดในปริมาณพันธบัตรที่ใช้ในการวางเป็นหลักประกันอีกด้วย

จากคุณสมบัติดังกล่าว เราสามารถสรุปได้ว่า Bilateral Repo เป็น Window ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในทั้ง 3 ทางเลือก กล่าวคือ สามารถรองรับธุรกรรมจากธนาคารพาณิชย์ที่เป็น Primary Dealer ได้ในปริมาณที่สูงมากถึง 1-2 ล้านล้านบาท ต่อวัน และ ธพ. (Primary Dealer) ไม่มีความเสี่ยงในด้านคู่สัญญา เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่ทำกับ ธปท.

หลายปีที่ผ่านมาธุรกรรม Bilateral Repo ที่เกิดขึ้นเป็นข้างที่ ธพ. เป็นผู้ให้ ธปท.กู้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายทางการเงินของธปท. ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ได้เป็น Primary Dealer จะไม่สามารถเข้าทำธุรกรรม Bilateral Repo กับ ธปท.ได้ จึงต้องพึ่งช่องทางอื่นในการจัดเงินผ่านธุรกรรม Private

ทุกๆ เช้าก่อนเวลา 09.30น. Money Market (MM) dealer จะรับแจ้งการใช้เงิน (รวมถึงเงินเข้า) จากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในธนาคาร Inflows/Outflows เหล่านี้มาจากลูกค้า Retails และ Corporate ซึ่งมีการ Draw down loan (เบิกเงินกู้) หรือ Repay loan (คืนเงินกู้)

เมื่อได้รับทราบรายการต่างๆ ฝ่าย Money Markets จะทำการบันทึกรายการ เงินเข้า/ออก และประเมินสภาพคล่องในสกุลเงิน THB ณ ต้นวัน (จนถึงประมาณ 09:00น. ของทุกวัน) และจะมีตัวเลขว่า ณ เวลา 9:00-09:15น. สภาพคล่อง (ส่วนเกิน) ของธนาคารอยู่ที่เท่าไร และจะจัดสรรสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวผ่านธุรกรรม Bilateral Repo กับ ธปท. แบบวันต่อวัน ภายในเวลา 09.30น.

โดยทั่วไปอยู่ที่เริ่มต้นที่ 10,000ล้านบาทสำหรับธนาคารขนาดเล็ก ไปจนถึง 200,000 ล้านบาทสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ ... พูดง่ายๆ คือ ถ้าธนาคารมี Loan growth สูง (Loan/Deposit Ratio สูง) สภาพคล่องส่วนนี้จะลดลง และ LDR จะไม่ลดลงจนกว่าธนาคารจะสามารถระดมเงินฝากเพิ่มได้

จากกราฟ ปริมาณ Bilateral Repo ที่เป็นยอด Outstanding ของแต่ละวัน สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสภาพคล่องของทั้งระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง ที่ใช้คำว่าระดับหนึ่งเพราะธนาคารยังมีหน้าต่างอื่นเช่น Private Repo หรือ Interbank Market และตราสารหนี้ระยะสั้น Central Bank Bills (หรือ CB) เป็นช่องทางในการจัดการกับสภาพคล่อง ดังนั้นเราจึงต้องนำการเปลี่ยนแปลงของยอดในอีก 3 ส่วน นั้นมาร่วมพิจารณาด้วย

หากมองย้อนไป 2 ปี พบว่า ยอด Outstanding ของ Bilateral Repo ทั้งระบบอยู่ระหว่าง 750,000-1,300,000ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดรวมจาก 12 สถาบันการเงินที่เป็นคู่ค้า (หรือเรียกว่า Primary Dealer) ของธปท. เราสังเกตได้ว่า Outstanding ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาลดลงราว 100,000ล้านบาท สะท้อนข่าวที่สถาบันการเงินบางแห่งประสบปัญหาเงินฝากไหลออก เพราะเป็นผู้ให้การสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวอันอื้อฉาว (ทางอ้อม) ข่าวนี้ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้ฝากเงินอย่างแน่นอน

ในวันแรกที่มีข่าวออกมา พบว่ามีเงินไหลออกจากธนาคารดังกล่าวสูงถึง 30,000 ล้านบาท เรื่องนี้จะไม่เป็นประเด็นเลยหาก Money Markets Dealer ทราบยอดนี้ก่อน 09.30 และทำการสำรองไว้ล่วงหน้า

แต่ในความเป็นจริงนั้น Dealer ได้รับทราบยอดไถ่ถอนเงินสุทธิ หลังจากที่ได้นำฝากสภาพคล่องส่วนเกินของวันไปกับธปท. แล้ว จึงเป็นภาระหนักของฝ่ายบริหารสภาพคล่องในการระดมหา Funding จากหน้าต่างอื่นๆ เช่น กู้ผ่าน End-of-Day (EOD) Facilities และ ILF (Intraday Liquidity Facilities) รวมถึงนำ Idle cash ที่มีไว้ใน Reserve account กับ ธปท.มาใช้ จัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน และในวันรุ่งขึ้น MM dealer จะลดยอดเงินที่จะฝากเข้า Bilateral Repo กับธปท. ลงเท่ากับจำนวนที่กู้มา รวมถึงประมาณการเงินที่จะไหลออกในวันถัดไปอีกด้วย

จนถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงทราบว่า (1) “สภาพคล่องสุทธิ (ของสถาบันการเงิน) เป็นคนละเรื่องกับ ขนาดของ Balance sheet” และ (2) “เม็ดเงินหมุนเวียนรายวัน ไม่เท่ากับ ปริมาณ Bilateral Repo overnight” .... (1) ธนาคารที่มี Total assets 2ล้านล้านบาท ไม่ได้แปลว่า สามารถรองรับการไถ่ถอนได้ 2ล้านล้าน ...

จริงๆ แล้ว สภาพคล่องที่รองรับการไถ่ถอนเงินต่อเนื่องมีค่าเท่ากับ [เงินที่ฝากกับ ธปท. ผ่านBilateral Repo] + [เงินที่ให้ธพ.อื่น กู้ผ่านธุรกรรม Reverse Repo] + [เงินที่ให้ธพ.อื่นกู้ผ่านธุรกรรม Interbank] - [เงินที่กู้จากธพ.อื่น ผ่านธุรกรรม Repo] - [เงินที่กู้จากธพ.อื่นผ่านธุรกรรม Interbank] …. ซึ่งสำหรับธนาคารขนาดใหญ่แล้ว สภาพคล่องสุทธิ ประมาณได้ที่ 100,000-300,000 ล้านบาท

ส่วนในประเด็นที่ (2) นั้น สภาพคล่องหมุนเวียนในแต่ละวันสามารถวัดได้จาก [เงินที่ฝากกับ ธปท. ผ่านBilateral Repo ที่จะคืนกลับมาในวันรุ่งขึ้น] - [เงินกู้จากธพ.อื่น ผ่านธุรกรรม Repo และ MM ที่จะต้องคืนในวันรุ่งขึ้น]

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า (1) Price risk ไม่สร้างความเสียหายมากเท่า Liquidity risk และ (2) การที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งขาดสภาพคล่องรุนแรงย่อมส่งผลต่อทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สภาพคล่อง ระบบการเงิน

view