สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ได้เวลาปฏิรูปภาษีจาก อูลี่ เฮอเนส ถึง บรรณพจน์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ดังกึกก้องไปทั้งโลก เมื่อศาลนครมิวนิคได้พิพากษาคดีหลีกเลี่ยงภาษีของ อูลี่ เฮอเนส ประธานสโมสรฟุตบอลชื่อดังบาเยิร์น มิวนิค ผู้ถือว่ามีชื่อเสียงดังไปทั้งโลก โดยสั่งลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน

รูเพิร์ด ไฮน์เดิ้ล ผู้พิพาษาได้แถลงอ่านคำพิพากษาว่า "นายอุลริค เฮอเนส หรืออูลี่ เฮอเนส ที่โดนฟ้องร้องคดีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี 7 กระทงนั้น มีความผิดจึงพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน"

เฮอเนส วัย 62 ปี เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลระดับชั้นนำของเยอรมันตะวันตกยุคทศวรรษ 70 ก่อนจะก้าวไปสู่การทำธุรกิจหลายอย่าง รวมทั้งการดำรงตำแหน่งประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิค ยอดทีมของเยอรมันแชมป์บุนเดสลีกา เดเอฟเบ โพคาล และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลที่แล้ว

ในการพิจารณาคดีนั้น เฮอเนสยอมรับว่า เขาใช้วิธีการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่ากว่า 27.2 ล้านยูโรหรือราว 1,115.2 ล้านบาท ด้วยการฝากในธนาคารสวิสของสวิตเซอร์แลนด์

เฮอเนส วัย 62 ปี ที่กล่าวกับศาลท่ามกลางผู้สื่อข่าวและผู้ที่เข้ามาร่วมรับฟังการพิจารณาจนแน่นศาลกว่า 100 คน ว่า "ผมดีใจที่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกมาทั้งหมดแล้วในเวลานี้ ผมเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการกระทำผิดของผม ผมจะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมสามารถทำได้เพื่อทิ้งเรื่องราวเลวร้ายเหล่านี้เอาไว้ข้างหลังผม"

อดีตนักเตะทีมชาติเยอรมันตะวันตก ชุดคว้าแชมป์โลก 1974 ยังได้บอกกับศาลอีกว่า แอบใช้บัญชีลับสำหรับการซื้อขายเก็งกำไรในตลาดทุน อาทิ เงินตราต่างประเทศและตราสารอนุพันธ์มาตั้งแต่ปี 2001-2010 และขาดทุนไป 1 ล้านยูโร ระหว่างปี 2003-2009 พร้อมระบุว่า "มันชัดเจนสำหรับผมเสมอว่าบัญชีนั้นใช้เป็นหลักสำหรับการเล่นพนัน มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นโดยแท้จริง ผมไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ ทุกอย่างยุ่งเหยิงไปหมดในท้ายที่สุด"

เฮอเนส ที่ได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากกว่า 5 ล้านยูโร (ประมาณ 225 ล้านบาท) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และจ่ายภาษีไปแล้วมากกว่า 50 ล้านยูโร (ประมาณ 2,250 ล้านบาท)

หลังจากศาลตัดสินสั่งลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน อูลี่ เฮอเนส สั่งทนายความไม่อุทธรณ์ และประกาศก้าวลงจากตำแหน่งประธานสโมสร บาร์เยิน มิวนิคทันที ท่ามกลางความเสียงปรบมือให้กับสปิริต

เรื่องนี้แม้แต่นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ผู้ซึ่งสนิททสนมกับอูลี่ เฮอเนสอย่างมาก ยังออกมาบอกว่า เป็นเรื่องที่อูลี่จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายการเมืองของเยอรมันนั้นให้ความเป็นอิสระกับการพิจารณาคดีอย่างเต็มที่

เพราะคดีการหลีกเลี่ยงภาษีถือเป็นคดีร้ายแรงในแดนไส้กรอก ก่อนหน้านี้ ปีเตอร์ กราฟ บิดาผู้ล่วงลับไปแล้วของ สเตฟฟี่ กราฟ อดีตยอดนักเทนนิสสาว ก็เคยโดนตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน เมื่อปี 1997 หลังเลี่ยงภาษีราว 6.3 ล้านยูโร ก่อนได้รับอิสรภาพหลังชดใช้โทษไปเป็นเวลา 25 เดือน

หันกลับมาประเทศไทยที่กำลังมีมวลมหาประชาชนออกมาทั่งบ้านทั่วเมืองให้มีการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง และปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับคนในสังคมก็ระอาใจ เพราะคดีการเลี่ยงภาษีนั้นกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่บรรดาเศรษฐีและผู้มีสตางค์สามารถหลบเลี่ยงกันง่ายๆ โดยไร้สำนึก

ขณะเดียวกันนั้นศาลอาญาก็ได้สร้างบรรทัดฐานในทางจารีตให้กับผู้พิพากษาได้เดินตามไปเรียบร้อยแล้ว

หากจำกันได้เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นจำเลยที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ณ ป้อมเพชร)  เป็นจำเลยที่ 2 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน หรือหงส์เหิน เป็นจำเลยที่ 3 ในความผิดต่อประมวลรัษฎากร

วันที่ 24 สิงหาคม 2554 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 รอการลงโทษจำคุก

เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ เห็นควร รอการลงโทษจำคุก บรรณพจน์ นั้น องค์คณะให้เหตุผลว่า ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่มีเจตนาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่สรรพากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังให้รัฐได้รับการชำระหนี้

ดังนั้น ความรับผิดทางอาญาที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จึงเป็นเพียงมาตรการเสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น

อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อถูกตรวจสอบเรื่องการรับโอนหุ้นก็ยอมรับว่าได้มาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือมีชื่อเสียงเป็นผู้อิทธิพล ผู้ประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต โดยจำเลยที่ 1 เคยรับราชการมาก่อน และสร้างคุณงามความดีให้กับสังคมด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิไทยคม เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส

แม้ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ จะได้ทำความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษา ก่อนตัดสินคดีดังกล่าว ลงวันที่ 3 มิ.ย.2554 ความว่า

“ข้าพเจ้าได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว ที่ผู้พิพากษาองค์คณะทั้งสามคนพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิให้กักขังเกินกว่า 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273 ล้านบาท ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 จึงเห็นแย้งให้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

แต่ศาลได้ตัดสินให้รอลงอาญาโทษจำคุก

เมื่อถึงมือของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ต้องพิจารณาตัดสินว่าจะฎีกาหรือไม่ ในเมื่อมีคนทำความเห็นแย้งในคดีนี้ และมีศักดิ์ศรีเป็นถึงประธ่านศาลอุทธรณ์

ทว่า จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด กลับมีคำสั่งไม่ฎีกา ทั้งในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน นางกาญจนาภา และที่ให้รอลงอาญา บรรณพจน์ โดยอัยการสูงสุด เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกประเด็น

เฉพาะประเด็นความผิดของ บรรณพจน์ จำเลยที่ 1 ข้อหาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) นั้น อัยการสูงสุด เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแล้ว เพียงแต่ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษใหม่ซึ่งให้รอการลงโทษไว้นั้น อัยการเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว เนื่องจากความรับผิดในทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษจำคุกผู้ที่ไม่ยอมชำระภาษี หรือชำระไว้ไม่ถูกต้องอันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด

จึงเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก

ดุลยพินิจทางกฎหมายแบบนี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานในคดีภาษีของเมืองไทย

ปฏิรูปอย่างไรก็ไปไม่ถึงไหนถ้าไม่ปฏิรูปที่สำนึกของคนในชาติ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ได้เวลา ปฏิรูปภาษี อูลี่ เฮอเนส บรรณพจน์

view