สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิดได้โดยไม่คิด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์



องค์กรร้อยทั้งร้อยวันนี้ คงไม่มีที่ใดไม่อยากได้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ยามเมื่อสารพันการเปลี่ยนแปลง มีทั้งแรงและเร็วอยู่รายรอบ

ใช้วิธีเดิมๆ ย่อมตอบโจทย์ใหม่ไม่ได้ดั่งที่เคยใช้มา

ดังวาทะคมคายของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ยอดอัจฉริยะของโลก

“การทำสิ่งเดิมๆ และคาดว่าผลลัพธ์จะแตกต่างจากเดิม ถือเป็นเรื่องวิกลจริต"

ทำสิ่งเดิมๆ ผลก็ย่อมออกมาเดิมๆ ไม่ต้องสงสัย ใช่ไหมครับ

ยามที่เราต่างเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ผกผัน มีเรื่องใหม่ให้เรียนรู้ทุกวัน จึงจำเป็นต้องปรับแนวทางการทำงานให้ทันการทันเกม

เมื่อต้องทำอะไรใหม่ๆ จึงต้องไล่มาจากสามารถคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ซ้ำซาก

หลายท่านบอกว่าที่ยาก ก็ตรงนี้แหละ!

วันนี้ดิฉันขออนุญาตนำเสนอตัวช่วยที่ทำให้สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ให้มาลองกันค่ะ

นักจิตวิทยาหลายค่ายหลายสมัย ต่างสนใจวิจัยเพื่อเสาะแสวงหาคำอธิบาย เพื่อให้คลายสงสัยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนหาหนทางที่จะช่วยให้มนุษย์เดินดินทั่วไปคิดเก่งขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอเกิดชาติหน้าฟ้าใหม่ หวังไปลมๆ แล้งๆ

นักจิตวิทยาฟันธงว่า ประเด็นพื้นฐานที่เสริมสร้างความสามารถในการคิด คือ ความมั่นใจในตนเอง

นั่นคือ คนที่เชื่อว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์ มักจะมีความคิดสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมาเช่นนั้น

ในทางตรงกันข้าม คนที่คิดว่าฉันเกิดมาต่ำต้อย มีสมองน้อยกว่าคนอื่น คิดอะไรใหม่ๆ ไม่เป็น ก็จะเป็นเช่นนั้นสมใจ

ดังนั้น ข้อเสนอแนะข้อแรกจากนักจิตวิทยา คือ กรุณาอย่าปิดปุ่มสร้างสรรค์ และเปิดใจให้โอกาสตนว่า คนอย่างฉันก็ฉลาดคิดได้ ไม่เคยน้อยหน้าใคร

อีกหนึ่งข้อแนะนำที่ทำง่ายๆ หากต้องการได้ความคิดใหม่ๆ ให้แล่นปราดในสมอง คือ

ต้องลองไม่คิด !

นักจิตวิทยาเรียกกระบวนการนี้ว่า “incubation” หรือ “การบ่มเพาะ” นั่นคือ การปล่อยให้สมองมีโอกาสอยู่นิ่งๆ ละสิ่งที่ต้องการคิดไว้ก่อน ให้เขาได้พักผ่อน มีโอกาสบ่มฟักตัว เพื่อรอจังหวะผลิบานออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

คณะวิจัยหลายกลุ่มได้ศึกษาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมที่เรียกว่า “incubation” นี้ ล่าสุดทีมงานของอาจารย์ Sophie Ellwood ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ของ University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการทดลองเรื่องผลของการบ่มฝักสมอง ต่อความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มนักศึกษา

การวิจัยเริ่มโดยแบ่งนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน ต่างต้องตอบโจทย์ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

ทั้ง 3 กลุ่มได้โจทย์เดียวกัน คือแต่ละคนมีเวลา 4 นาที เพื่อคิดหาวิธีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการใช้กระดาษ 1 แผ่น

กลุ่มแรก แต่ละคนต่างคิดและเขียนคำตอบของตัวเองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 นาที

กลุ่มที่ 2 มีเวลา 4 นาทีเช่นกัน แต่แบ่งออกเป็นสองช่วง คือ 2 นาทีแรก ให้คิดและเขียนคำตอบ จากนั้นให้หยุดทำ และเริ่มกิจกรรมใหม่ที่ยังเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน คือ ต้องคิดคำที่มีความหมายเหมือนและใช้แทนคำต่างๆ ในบททดสอบ จากนั้นจึงให้กลับไปทำกิจกรรมแรก คือ คิดหาวิธีใหม่ๆ ในการใช้กระดาษ 1 แผ่น ต่ออีก 2 นาที

กลุ่มที่ 3 ทำข้อทดสอบแยกเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 2 นาทีเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2 แต่กิจกรรมที่ให้ทำขั้นกลาง เป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คือ ให้ทำใบประเมินพฤติกรรมตนเอง

ผลการทดสอบปรากฏว่า...

กลุ่มที่ 1 ที่คิดต่อเนื่อง 4 นาที คิดวิธีการใหม่ในการใช้กระดาษ ได้เฉลี่ย 6.9 วิธี

กลุ่มที่ 2 ที่แบ่งเป็น 2 ช่วง คั่นด้วยกิจกรรมใหม่ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิธีการได้เฉลี่ย 7.6 วิธี

ขณะที่กลุ่มที่ 3 ที่การทดลองถูกคั่นด้วยกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดได้มากที่สุด คือเฉลี่ย 9.8 วิธี

ทีมวิจัยอธิบายว่า เวลาคนเรามุ่งมั่นตั้งใจคิดอะไรสักอย่าง เมื่อกระหน่ำคิดๆๆๆ สักพักจะเริ่มติดกับดักความคิดเดิมๆ มุมเก่าๆ เหมือนสมองเริ่มเฉา ถูกตีกรอบ ถูกครอบไว้ จึงได้แต่คิดวนเวียนตามรอยเดิม

แต่เมื่อได้ละจากการคิดเรื่องนั้นๆ เพื่อไปทำภารกิจอื่นใด ยามเมื่อสมองได้เริ่มใหม่ จะลื่นไหลไม่ติดกับเก่า

ยิ่งได้พักไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดิม หรือเรื่องที่ไม่ต้องใช้พลังสร้างสรรค์มาก ไม่ว่าจะเป็นพักไปจัดโต๊ะ เช็ดตู้ ดูทีวี ยิ่งทำให้สมองลิงโลดดีใจ ได้พัก เมื่อกลับมาคิดใหม่ ก็ยอมผ่องใส ให้มุมใหม่ๆ ได้อีก

นอกจากนั้น มีการทดลองเพิ่มเติม คือ แบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม ทั้งสองกลุ่มต่างให้สมองหยุดคิด และเข้าสู่ระบบบ่มพักดังข้างต้น

กลุ่มหนึ่งรับรู้ว่า หลังจากพักไปทำสิ่งอื่นแล้ว จะต้องกลับไปคิดโจทย์เดิมต่อ แต่อีกกลุ่มไม่ตระหนักว่าจะต้องทำต่อ นึกว่าหยุดแล้วหยุดเลย

ผลคือ กลุ่มที่รู้ว่าจะต้องไปคิดโจทย์เดิมต่อ มีผลงานคิดสร้างสรรค์ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ตั้งตัวว่าต้องคิดต่อ อย่างมีนัยสำคัญ

คำอธิบายสั้นๆ คือ คนเรามีระบบจิตไร้สำนึก (Unconcious Mind) ที่ทำงานโดยเราไม่แม้รู้ตัว

เมื่อเรารู้ว่างานชิ้นนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องทำต่อ แม้เราไปพักทำสิ่งอื่นใด เจ้าสมองหัวใส เขาไม่เคยอู้ เขาก็รับรู้ว่าต้องทำต่อ เลยไม่ยอมท้อ เพราะงานยังไม่จบ จึงแอบไปใช้เวลาซุ่มเรียบเรียงสานความคิดไปพลางๆ แม้ในช่วงเวลาว่างที่เราให้เขาพัก สมองน่ารักไหมคะ

เมื่อกลับมาคิดต่อใหม่ จึงได้ไอเดียใสปิ๊งวิ่งออกมา ทำเอาเจ้าของสมองทั้งอึ้ง และทึ่งตัวเองก็มี

สรุปว่า หาความคิดใหม่ๆ ไม่อยากอย่างที่คิด

ต้องมั่นใจ ต้องตั้งใจ ไม่ลดละ โดยตระหนักว่า ต้องรู้จังหวะ เพราะ

แค่ไม่คิด ก็คิดได้

ง่ายไหมคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิดได้ ไม่คิด

view