สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรียนจากเซียนบริหารการเปลี่ยนแปลง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์



มืออาชีพทุกท่านในวันนี้ คงไม่เคยมีใครไม่ได้ลงมือลงแรงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะในระดับองค์กร

ระดับทีม หรือ ระดับบุคคลตัวตนของเราเอง

บางคราวการเปลี่ยนอาจช้าหรือเร็ว หนักหรือเบา แต่เรามั่นใจได้ว่าเขาไม่หนีไปไหน อย่างไรก็มา ภาษาฝรั่งบอกว่า "The only constant is change" หรือ สิ่งเดียวที่นิ่ง คือ การเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น กรุณาทำความรู้จักมักจี่กับการเปลี่ยนแปลงไว้ให้ดี เพราะหนีอย่างไรก็ไม่เคยพ้น ทั้งเขาทั้งดื้อทั้งซน จนคนส่วนใหญ่เอาเขาไม่ลง

การเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ในองค์กรที่เกิดขึ้น ประมาณ 70% ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วาดวางไว้ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะดูดี มีสกุล มีเหตุและผลเป็นทุนเท่าไร แต่เมื่อทำจริง กลับลุ้นไม่ขึ้นเสียส่วนใหญ่ ไม่ธรรมดา

ดังนั้น มืออาชีพท่านใดเก่งบริหารการเปลี่ยนแปลง จะเป็นมนุษย์มาแรงแซงทางโค้ง ดูดีมีราคาขึ้นในบัดดล

วันนี้มาศึกษาหาตัวช่วย จากผลการวิจัยล่าสุดของบริษัท Prosci ซึ่งเป็นองค์กรชื่อดังระดับโลก เชี่ยวชาญในศาสตร์การบริหารการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะ เขาแถลงผลการสำรวจล่าสุดปี 2014 เรื่อง “ทำอย่างไรจึงจะทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จ”

การเปลี่ยนแปลงมีสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับนโยบายการจ่ายผลตอบแทนฝ่ายขายแบบใหม่ เพราะรายได้องค์กรเริ่มลด ตลาดหดหาย ทีมขายต้องทำงานหนักขึ้น หลายคนย่อมโอดโอยโวยว่าการเปลี่ยนอย่างนี้พี่ไม่เป็นธรรม แถมใจดำอีกต่างหาก

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไอที มีระบบใหม่ให้ทุกคนได้ใช้ แม้จะใช้งานแสนง่าย ทั้งยังได้ประโยชน์ แต่คงมีพี่ป้าน้าอาในองค์กรขอผัดผ่อน ไอทีสอนก็ไม่สนใจ ไม่อยากรู้ ยืนยันว่ายังไงก็สู้ระบบเก่าไม่ได้ เพราะเราใช้คล่องแล้วไง ไม่เปลี่ยนได้ไหมจ๊ะ

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนความรับผิดชอบ การสอบระบบใหม่ การใช้วิธีสแกนนิ้วมือ เปลี่ยนจากการลงชื่อและรูดบัตร หรือ การจัดผังที่นั่งใหม่เพื่อประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ ฯลฯ

สัญญาว่าจะต้องมีแรงต้าน งานเข้า หากเราไม่พร้อมรับมือ และถือว่า นี่คือธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง

Prosci ทำการศึกษา โดยสอบถามผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จจำนวน 3,400 คน จาก 65 ประเทศทั่วโลก ว่า "ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการบริหารการเปลี่ยนแปลงคืออะไร”

ประเด็นที่ต่างเห็นพ้องกันสูงสุดว่าสำคัญยิ่ง คือ การที่ผู้ใหญ่เอาจริง การเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้ ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และชัดเจน การศึกษาบ่งบอกว่า ปัจจัยนี้ตีข้ออื่นขาดกระจุย ชนะฉลุยด้วยคะแนนที่สูงกว่าอันดับ 2 ถึง 3 เท่า

การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเล็กใหญ่ หากไม่มีทั้งแรงดึงและแรงส่งจากผู้ใหญ่ มีทางเข้ารกเข้าพงหรือหลงทาง ยิ่งผู้บริหารดูแลห่างไป เชื่อได้ว่ายามเหลียวกลับมาดู อู้ฮู! ยังอยู่ที่เดิม ไม่ขยับไปไหน เพราะเราต้องเข้าใจว่าคนทำงานวันนี้มีภารกิจล้นจนจับต้นชนปลายไม้ไม่ไหวในบางขณะ

หากไม่บอกจะๆ เพราะกะว่าเขาน่าจะทำเพราะเห็นดีเห็นงามกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ขอให้ตระหนักว่า งานอื่นหมื่นแสน มีสิทธิมาแรง แซงขอเวลาและความสนใจของทุกคนได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ ยังมิต้องเอ่ยถึงแรงดึงอื่นใด ที่ได้จากความไม่เห็นด้วย ความเคยชิน ความวิตกจริต คิดกังวล ความท้อ ฯลฯ จึงต่างขอแอบชะลอเรื่องใหม่ ก็ไม่เห็นท่านตาม ไม่ถามไถ่ แปลว่าคงรอได้มั้ง

อนึ่ง ท่านผู้บริหารไม่น้อยยืนยันว่า ผมให้ความสำคัญและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วครับ แต่หลายทีก็ยังไม่เห็นสิ่งใดขยับเขยื้อน

เซียนด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงแถลงไขให้หายข้องใจว่า พี่ๆ สนับสนุนด้วยวาจา หรือลุ้นในใจ ไม่นับค่ะ

การผลักดันให้โครงการใหม่ได้มีโอกาสแจ้งเกิด ต้องมีผู้บริหารเป็นสปอนเซอร์ Sponsor หรือ เป็นผู้ให้การสนับสนุน อย่าง “จริงจังและชัดเจน”

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ท่านต้องทำหน้าที่สปอนเซอร์เช่นที่เราเห็นในทีวี ที่มีผู้ควักกระเป๋าเอาเงินมาสนับสนุน และ มิได้หมายถึงการที่ท่านต้องลุยลงทำงานในรายละเอียด จนลูกทีมเครียดว่าหัวหน้ามาแย่งงานเราทำ

บทบาทผู้บริหารที่เป็น Sponsor ของการเปลี่ยนแปลงที่ถือว่า “จริงจังและชัดเจน” คือ

1.แสดงตนเป็นเจ้าภาพ เป็นลูกพี่ที่ให้การสนับสนุนโครงการอย่างชัดเจน ต่อเนื่อง

แค่ปรากฏกาย ยิ้มซ้ายขวา แล้วอ่านโพยให้ทุกท่านฟังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทั้งดีทั้งมีความสำคัญอย่างไร...ไม่พอ

เพราะท่านต้องทั้งสื่อสาร ติดตาม และแสดงตนให้เห็นชัดในจังหวะสำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ห้ามเผลอเด็ดขาด

คนในองค์กรทั่วไปมักคิดในใจไว้อยู่แล้วว่า ครั้งนี้เอาจริงแค่ไหน เพราะไม่ว่าโครงการโน่นนี้นั่นอันมากมาย ที่กระหน่ำให้เราเปลี่ยนจนเลี่ยนคอ ก็มีอันเป็นไป มาแล้วไปๆ ดังนั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่อยู่นิ่งๆ อู้สักครู่ รอดูทางลมได้ว่าเขาเอาจริงแค่ไหน หรือ ก็..คล้ายๆ เดิม

2.สร้างขวัญกำลังใจให้ทั้งทีมงานที่บริหารการเปลี่ยนแปลงและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ท่านมีหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ ชื่นชม ให้กำลังใจ ถามไถ่ความคืบหน้า เพราะการเปลี่ยนแปลง ต้องเจอทั้งแรงหนืดและความฝืดที่มากับการยึดติดกับของเดิม ทีมงานทนแรงเสียดทานนานๆ ย่อมท้อ และล้า

หากผู้ใหญ่มาให้เห็นหน้า ยืนยันว่าเขาอยู่ในสายตา ย่อมมีแรงฮึด อึดสู้ต่อไป

3.ยามที่ต้องแก้ปัญหาและตัดสินใจ ผู้บริหารต้องไม่ลอยตัว ประเด็นที่เหลือบ่ากว่าแรงทีมงาน อาทิ ต้องหาทรัพยากร หรือต้องมีการประสานข้ามฝ่าย ต้องขยายความร่วมมือ ฯลฯ ถือเป็นหน้าที่ของ Sponsor ที่ต้องออกแรง

ให้ลูกทีมตัวเล็กๆ แรงน้อยๆ สู้อย่างโดดเดี่ยว การเปลี่ยนแปลงจะเหี่ยวเฉาให้เห็นกับตา กรุณาอย่าแปลกใจ

4.ทำตนเป็นต้นแบบอย่างจริงจัง ชัดเจน ประหนึ่งเป็น Presenter ยี่ห้อการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เพื่อให้เป็นแบบอย่าง สร้างประกายในองค์กร

หากมีระบบใดใหม่ ท่านต้องใช้ด้วย หากให้ทุกคนในองค์กรต้องเรียนรู้พัฒนาตน ท่านก็ต้องเป็นคนทำให้เห็น ว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่แก้วคว่ำ หาน้ำใหม่เติมได้ตลอด

ข้อแนะนำสำหรับท่านที่ต้องบริหารการเปลี่ยนแปลง คือ ร่วมวางแผนหารือกับ Sponsor ระดับผู้บริหาร ว่าเราต้องการอะไร อยากให้ท่านช่วยตรงไหน ให้คุยกับใคร เมื่อใด ฯลฯ สื่อกับท่านให้เข้าใจ จึงจะมีสิทธิ์ได้แรงหนุนไว้จุนเจือ นั่นคือ พร้อมบริหารท่าน โดยทำการบ้านและขอความอนุเคราะห์อย่างพอเหมาะพอดี

น้อยไป การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ขยับ แต่จะให้ท่านจับยึบยับทุกเรื่อง...ระวังท่านเคืองเอานะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรียน เซียน บริหารการเปลี่ยนแปลง

view