สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเสี่ยงตลาดเกิดใหม่ในยุคเจเน็ต เยลเลน

ความเสี่ยงตลาดเกิดใหม่ในยุคเจเน็ต เยลเลน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในฐานะประธานธนาคารกลางสหรัฐเป็นครั้งแรกเสร็จสิ้นลง สัญญาณที่เธอได้สื่อกับชาวโลกก็คือ ...

ช่วงเวลาของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอาจจะเกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปีนับต่อจากนี้ ภูมิภาคที่ยากจะสามารถหนีแรงกดดันดังกล่าวได้พ้น คือ "ตลาดเกิดใหม่" บทความนี้ ขอตอบคำถาม 3 ข้อ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดเกิดใหม่โดยรวมเป็นอย่างไร อะไรคือจุดเปราะบางของตลาดเกิดใหม่ที่กำลังรออยู่ และ สถานการณ์ของประเทศต่างๆ ในตลาดเกิดใหม่เป็นอย่างไรบ้าง

เริ่มจากข้อแรก นับตั้งแต่ปลายปี 2008 บรรดาประเทศในตลาดเกิดใหม่ใช้การกระตุ้นภายในประเทศของภาครัฐและการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของการส่งออก นอกจากนี้ ประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 ประกอบด้วย สหรัฐ ยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น ต่างพากันเฮโลดำเนินการผ่อนคลายนโยบายแบบนอกตำราไม่ว่าจะเป็น QE (Quantitative Easing) OMT (Outright Monetary Transactions) หรือ QQE (Quantitative and Qualitative Monetary Easing) จนกระทั่งเงินทุนพากันไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้ในปี 2012 จนถึงกลางปีที่แล้ว ประเทศในตลาดเกิดใหม่มีค่าเงินที่แข็ง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบ และมีสัดส่วนของสินเชื่อต่อจีดีพีที่สูงขึ้น ดังรูปที่ 1



อย่างไรก็ดี เมื่อกลางปีที่แล้ว นายเบน เบอร์นันกี อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มจะส่อสัญญาณฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ในทางทฤษฎีแล้ว เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่น่าจะปรับตัวจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยค่าเงินที่อ่อนลง อุปสงค์ภายในประเทศจะถูกจำกัดโดยนโยบายการเงินและการคลังที่ตึงตัวขึ้น รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะค่อยๆ ขยับเป็นบวกเนื่องจากตลาดส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ดังรูปที่ 2



อย่างไรก็ดี โลกอาจจะไม่สวยอย่างที่หลายท่านคิด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่กำลังรออยู่อย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

หนึ่ง ค่าเงินที่อ่อนลงดังกล่าว จะก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นสำหรับประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย อินเดียหรือบราซิล จนธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัญหาคือสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอลง ย่อมจะทำให้สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนของประเทศเหล่านี้มีปัญหาได้ง่ายกว่าเดิม หากเป็นเช่นนั้นหรือมีสัญญาณว่าจะเกิดขึ้นก็จะส่งผลให้นักลงทุนอาจจะพากันขนเงินทุนหนีออกจากประเทศเหล่านี้

สอง ในช่วงที่ผ่านมาประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศได้รับการประเมินในแง่ที่ดีกว่าที่ควรจะเป็น จากการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงเพียงชั่วคราวและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจนเกิดการปล่อยสินเชื่อเกินตัว ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดแย่ลง การใช้จ่ายภายในประเทศที่ลดลง และเงินทุนเกิดการไหลออก ซึ่งในขณะนี้และในอนาคตอันใกล้มีหลายประเทศอยู่ในข่ายดังกล่าว

สาม ปัญหาการเมือง ปัจจัยนี้จะเป็นตัวเร่งให้ปัจจัยเสี่ยงทั้งสองประการข้างต้นเกิดขึ้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไทยเองก็อาจจะกำลังอยู่ในข่ายของความเสี่ยงนี้

แน่นอนว่าในปัจจุบัน โอกาสที่ตลาดเกิดใหม่จะเกิดวิกฤตเหมือนช่วงต้มยำกุ้งปี 1997 ลดลงเป็นอันมาก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นขึ้น หนี้ต่างประเทศที่ลดลงเป็นอย่างมาก รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงกว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างมาก


ท้ายสุด หากจะพิจารณาเป็นรายประเทศว่าประเทศใดในตลาดเกิดใหม่ที่เสี่ยงกว่ากันในแง่ของความร้อนแรงของสินเชื่อต่อจีดีพี จากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่า จีนและแอฟริกาใต้มีความเปราะบางเป็นอย่างมาก ทว่าจากการที่ทางการจีนสามารถควบคุมเศรษฐกิจของตนเองได้ค่อนข้างมาก ก็อาจจะลดความเสี่ยงของตนเองไปได้บ้าง ในฝากยุโรปตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นโปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย และ ตุรกี ล้วนมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร สำหรับประเทศขนาดใหญ่บราซิลและอินเดียต่างก็มีความเสี่ยงอยู่น้อย ท้ายสุด ประเทศไทยเองก็ติดกลุ่มที่น่าจับตาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

โดยสรุป ตลาดเกิดใหม่อาจจะถือได้ว่าเป็นช่วงขาลงในยุคของนางเยลเลน แต่ก็ไม่น่าเกิดวิกฤตเหมือนเกือบ 20 ปีที่แล้วในบ้านเราครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเสี่ยง ตลาดเกิดใหม่ เจเน็ต เยลเลน

view