สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รสนา-แนะปฏิรูปพลังงานเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต

จาก โพสต์ทูเดย์

รสนา จี้ปฏิรูปพลังงานไทยเปลี่ยนจาก"ระบบสัมปทาน"เป็น "ระบบแบ่งปันผลผลิต" อย่างมาเลเซีย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า การเดินทางไปดูงานที่ปิโตรนาสในมาเลเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จากการพูดคุยกับอดีตประธานปิโตรนาส ทำให้เข้าใจชัดเจนเรื่องการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งเป็นกิจการต้นน้ำว่ามีความสำคัญอย่างไร ดิฉันถามอดีตประธานปิโตรนาสว่า เหตุใดมาเลเซียจึงเปลี่ยนจาก "ระบบสัมปทาน" เป็น " ระบบแบ่งปันผลผลิต" ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม อดีตประธานปิโตรนาสตอบว่า " เพราะระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นระบบที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ"

ดิฉันถามต่ออีกว่า " มีนักวิชาการด้านพลังงานบอกว่า ประเทศไทยไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้ เพราะว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทย เป็นกะเปาะเล็กๆ ขุดเจาะยาก และต้นทุนสูง" ท่านตันศรี อดีตประธานปิโตรนาส และปัจจุบันยังเป็นกรรมการบริหารของปิโตรนาสตอบดิฉันว่า " ไม่น่าเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมไม่ได้ เพราะทั้งไทยและมาเลเซียอยู่ในสภาพทางธรณีวิทยาเดียวกัน ( Geology ) บางแหล่งปิโตรเลียมเราก็ขุดร่วมกันด้วยซ้ำไป สมัยแรกมาเลเซียก็เริ่มทำจากเล็กๆไป"

ปัจจุบันปิโตรนาสเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ท่านตันศรีกล่าวว่า " ปิโตรนาสไม่ได้มุ่งหากำไรมาเพื่อแบ่งปันกันแบบบริษัทเอกชน แต่ปิโตรนาสเป็นองค์กรเพื่อการบริการสาธารณะแห่งชาติ ( National Service ) ท่านกล่าวอีกว่า " ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของหุ้นส่วนปิโตรนาสในฐานะเจ้าของประเทศ"

บางคนอาจคิดว่ากิจการที่เป็นของรัฐ100% ง่ายต่อการทุจริตคอรัปชั่น และเข้าใจผิดว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่เปิดเผยข้อมูลน้อยมากเพราะไม่มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารเหมือนประเทศไทย (ประเทศไทยมีพ.ร.บ ข้อมูลข่าวสารมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นมรรคเป็นผลเลย)
สิ่งที่คณะของพวกเราที่ไปดูงานกลับได้เห็นการรณรงค์ในบริษัทปิโตรนาส "เรื่องการไม่ให้ของขวัญ และไม่รับของขวัญ ( No Gift Policy ) " เพื่อป้องกันการรับสินบนและให้สินบนของเจ้าหน้าที่ของปิโตรนาส

นอกจากนี้ปิโตรนาสยังดำเนินการให้มีการรณรงค์จับตาการทุจริตในองค์กร (Whistle Blower)โดยให้พนักงานช่วยกันเป็นหูเป็นตา และส่งข้อมูลให้กับบริษัท ผู้บริหารปิโตรนาสกล่าวว่า สิ่งที่ปิโตรนาสริเริ่มทำไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำ แต่เป็นการริเริ่มโดยสมัครใจ เพราะปิโตรนาสเป็นบริษัทน้ำมันระดับโลก การมีความโปร่งใสเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับบริษัทในระดับนี้

ปิโตรนาสเป็นบริษัทที่ดูแลทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศแทนประชาชน และบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้"ระบบแบ่งปันผลผลิต" ในปี 2554 ปิโตรนาสมีรายได้จากกิจการทั้งในและนอกประเทศ 2.4 ล้านล้านบาท มีกำไร 9.5 แสนล้านบาท โดยมีกำไรจากกิจการต้นน้ำ (คือการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม) 80% ปิโตรนาสส่งเงินปันผลให้รัฐบาลเป็นเงิน 500,000ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากค่าภาคหลวงและภาษี 200,000ล้าน เงินปันผลอีก 300,000ล้านบาท เงิน500,000ล้านบาทที่ส่งให้รัฐบาลเป็นเงินรายได้รัฐบาลในงบปรมาณแผ่นดินถึง 40%

รัฐบาลมาเลเซียนำเงินจากรายได้ของกิจการต้นน้ำมาชดเชยราคาน้ำมันเบนซิน95 และดีเซลที่ปลายน้ำเพื่อลดภาระของประชาชน ประมาณลิตรละ 6-7 บาท ส่วนก๊าซหุงต้ม รัฐบาลให้นโยบายปิโตรนาสให้ขายในราคาถูก แต่ไม่ให้ขาดทุน ถ้าจะหากำไรให้หาจากการส่งออก ราคาก๊าซหุงต้มของมาเลเซียราคากิโลกรัมละ 19บาทรวมค่าขนส่งถึงบ้าน

รัฐบาลมาเลเซียใช้เงินที่ได้จากกิจการต้นน้ำมาช่วยลดราคาน้ำมันเบนซิน95 และดีเซลในแต่ละปี เป็นสัดส่วนจากเงินที่ปิโตนาสส่งให้ตั้งแต่ 8-28% ต่อปี การที่รัฐบาลได้รับรายได้จากกิจการต้นน้ำถึง 40%ทำให้ไม่ต้องรีดภาษีจากประชาชนที่กิจการปลายน้ำคือราคาน้ำมัน และยังนำเงินบางส่วนมาชดเชยเพื่อลดภาระให้กับประชาชนอีกด้วย

แต่รัฐบาลมาเลเซียไม่ชดเชยราคาให้น้ำมันเบนซิน 97 ซึ่งเป็นน้ำมันที่เอาไว้ขายคนต่างชาติ เช่นคนไทย

ส่วนประเทศไทยในปี2554จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มูลค่าปิโตรเลียมที่ขุดจากประเทศไทยมีมูลค่า 421,627 ล้านบาท รัฐได้ส่วนแบ่งจากค่าภาคหลวง และภาษี 135,673 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุน 144,878 ล้านบาทและได้รับคืนทุนที่ลงทุนคืนไป พร้อมกับรับส่วนแบ่งกำไรไปอีก 141,076 ล้านบาท

ประเทศไทยได้รับผลตอบแทนจากกิจการต้นน้ำเป็นเงิน 135,673 ล้านบาท และได้รับเงินปันผลจากปตท. 16,788ล้านบาท รวมเป็นเงิน 152,461ล้านบาท เป็นเงินรายได้ของรัฐบาลในงบประมาณแผ่นดินปี 2554เท่ากับ 10%

ดังนั้นรายได้จากกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำของประเทศไทยจึงไม่สามารถมาช่วยลดภาระการใช้พลังงานของประชาชนที่ปลายน้ำ รัฐบาลต้องเก็บภาษีจากกิจการปลายน้ำจำนวนมาก ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่ปลายน้ำมีราคาสูง เพราะรัฐบาลต้องมารีดภาษี และกองทุนน้ำมันที่ปลายน้ำ ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูง ทำให้ต้นทุนสินค้าของไทยสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น และเป็นการลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของไทยเมื่อเราเปิดประชาคมอาเซียน

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง " ระบบสัมปทาน" กับ " ระบบแบ่งปันผลผลิต" คือเรื่องของ "กรรมสิทธิ" ในระบบสัมปทาน กรรมสิทธิปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศจะตกเป็นของเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน ดังนั้นการส่งออกน้ำมันดิบจึงเป็น " สิทธิของเอกชนผู้เป็นเจ้าของสัมปทาน" ถ้าเอกชนเจ้าของสัมปทานจะขายน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศ ก็จะขายให้คนไทยในราคานำเข้าเหมือนนำเข้าจากต่างประเทศ

ข้ออ้างที่ว่าต้องส่งออกน้ำมันดิบเพราะคุณภาพไม่เหมาะสมบ้าง คุณภาพดีเกินไปบ้างนั้น ล้วนเป็นการหลีกเลี่ยงไม่พูดความจริงที่ว่า ปิโตรเลียมที่ขุดได้ทั้งหมดเป็นของเอกชน เขามีอิสระจะส่งออกไปขายที่ไหนก็ได้ เพราะถึงอย่างไร เราก็ต้องซื้อน้ำมันที่ขุดได้ในประเทศในราคานำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว

ส่วน "ระบบแบ่งปันผลผลิต" กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของเจ้าของประเทศ เอกชนผู้มาทำสัญญาจะได้รับค่าใช้จ่ายในการลงทุนตามที่ตกลงกันคืน โดยอุปกรณ์เป็นของประเทศ เมื่อหักต้นทุนโดยจ่ายเป็นน้ำมันหรือก๊าซที่เรียกว่า น้ำมันหรือก๊าซส่วนต้นทุน หลังจากนั้น น้ำมันและก๊าซส่วนกำไร จะนำมาแบ่งกันระหว่างประเทศเจ้าของทรัพยากร และ เอกชนผู้ทำสัญญา

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ "ข้อมูลปริมาณสำรองปิโตรเลียม" เป็นของเจ้าของประเทศ ไม่ใช่ของเอกชน ท่านตันศรีบอกกับคณะของเราว่า " ปิโตรนาสมีห้องควบคุมที่รู้ปริมาณการขุดเจาะในระดับที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) " จึงสามารถตรวจสอบปริมาณน้ำมันและก๊าซที่เอกชนสูบขึ้นมาตลอดเวลา

" ระบบแบ่งปันผลผลิต " ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมมีความยืดหยุ่นมากกว่า "ระบบสัมปทาน" มาเลเซียได้ปรับปรุงระบบการแบ่งปันผลผลิตจนมีความก้าวหน้าและให้ความเป็นธรรมต่อเอกชน มาเลเซียใช้การคำนวณส่วนแบ่งกำไรโดยใช้ รายได้สะสมหารด้วยต้นทุนสะสม ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 1 รัฐเอาส่วนแบ่ง 20% เอกชนได้ไป 80% ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 1.4 รัฐได้ส่วนแบ่ง30% เอกชนได้ 70% เมื่อตัวเลขรายได้สะสม หารด้วย ต้นทุนสะสม มีตัวเลขตั้งแต่ 3 ขึ้นไป รัฐเอาส่วนแบ่ง 70% ส่วนเอกชนได้ไป 30% ซึ่งวิธีคำนวณเช่นนี้มีความเป็นธรรมต่อเอกชน

การปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยส่วนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นกิจการต้นน้ำจาก "ระบบสัมปทาน" มาเป็น " ระบบแบ่งปันผลผลิต" เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากปิโตรเลียมที่เป็นสมบัติของประชาชนไทยทุกคนให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ให้เกิดรายได้เพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้ทรัพยากรปิโตรเลียมของประชาชนสร้างความร่ำรวยให้กับเอกชนเจ้าของสัมปทานเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รสนา แนะปฏิรูปพลังงาน เปลี่ยนเป็น ระบบแบ่งปันผลผลิต

view