สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อเตือนใจเกี่ยวกับความเสี่ยง

ข้อเตือนใจเกี่ยวกับความเสี่ยง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เหตุการณ์ที่เครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ MH 370 สูญหาย โดยบินออกนอกเส้นทาง

และคาดว่าจมอยู่ใต้ทะเลลึกของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ห่างจากบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลียประมาณ 1,100 กิโลเมตร

เหตุการณ์ที่เครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ MH 370 สูญหาย โดยบินออกนอกเส้นทาง และคาดว่าจมอยู่ใต้ทะเลลึกของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ห่างจากบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลียประมาณ 1,100 กิโลเมตร ทำให้นักเดินทางตระหนักถึงความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ในการวางแผนการเงินนั้น แผนจะไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่ได้วางแผนปกป้องความมั่งคั่งค่ะ ไม่ว่าท่านจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเพียงใด ไม่ว่าท่านจะทำงานสะสมความมั่งคั่งไว้ได้มากเพียงใด หากท่านไม่ทำการป้องกันรักษาไว้ ความมั่งคั่งอาจจะสูญหายหรือพร่องลงไปได้ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ หากผู้ที่จากไปเป็นกำลังสำคัญในการหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ความเดือดร้อนของคนในครอบครัวก็จะยิ่งทบทวีมากขึ้น

แม้เราไม่สามารถนำชีวิตของบุคคลเหล่านั้นกลับคืนมาได้ แต่เราอาจจะวางแผนบรรเทาความเสียหาย จากการสูญเสียบุคคลสำคัญของครอบครัวได้ ด้วยการทำประกันภัยค่ะ ในกรณีนี้ หากผู้โดยสารหรือลูกเรือมีการทำการประกันชีวิตทั่วไป หรือทำประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ จะมีเงินชดเชยให้กับทายาท ซึ่งอย่างน้อยก็จะช่วยให้ผู้อยู่เบื้องหลังมีเงินใช้ดูแลตัวเองได้ในช่วงเวลาหนึ่งหลังจากบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวจากไป

จำนวนทุนประกันควรจะเป็นเท่าไรไม่มีกฎแน่นอนตายตัวค่ะ โดยทั่วไปจะอยู่ที่จำนวนที่จะทำให้ผู้อยู่เบื้องหลังมีเงินใช้จ่ายประมาณ 3-5 ปี เช่น หากครอบครัวท่านใช้เงินเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 6 แสนบาท ท่านอาจจะสนใจที่จะมีทุนประกันชีวิต 1.8 ถึง 3 ล้านบาท และหวังว่าคนในครอบครัวของท่าน จะมีความสามารถในการหารายได้ เพื่อช่วยเหลือตัวเองและปรับตัวได้ภายใน 3-5 ปีค่ะ

นอกจากความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากอุบัติเหตุแล้ว ความเสี่ยงของโลกได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความเสี่ยงด้านสภาวะอากาศ จากภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและสังคม และความเสี่ยงจากการกระทำของมนุษย์ และอื่นๆ

โดยความเสี่ยงที่สำคัญของโลกสิบประการ ที่สำรวจโดย World Economic Forum ในรายงานที่ชื่อว่า Global Risks 2014 มีดังนี้

1. ความเสี่ยงทางการคลังในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ 2. การว่างงานและการว่างงานแฝงที่สูงขึ้นเนื่องจากปัญหาทางโครงสร้าง 3. วิกฤติน้ำ 4. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่รุนแรง 5. ความล้มเหลวในการเลี่ยงและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

6. การมีสภาวะอากาศที่รุนแรงมากขึ้น เช่น น้ำท่วม พายุ ไฟไหม้ 7. ความล้มเหลวของธรรมาภิบาลโลก 8. วิกฤติอาหาร 9. การล้มเหลวของระบบการเงินใหญ่ๆหรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ และ 10. ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมที่ฝังรากลึก

พวกเราทุกคนจึงต้องเตรียมตัวด้วยว่า ความเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลต่อตัวเราและธุรกิจของเรา รวมถึงสังคมที่เราอยู่ และประเทศของเรา โลกของเราอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ ทั้งพยายามหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิด ลดโอกาสเกิด และหามาตรการบรรเทาความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วย

เมื่อดิฉันหาข้อมูลเพื่อเขียนบทความเรื่องความเสี่ยงในสัปดาห์นี้ ได้ค้นพบโดยบังเอิญจากรายงานของ Swiss Re ว่า ประเทศไทยของเราทำสถิติโลกไว้ด้วยค่ะ โดยเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าความเสียหายจากภัยน้ำท่วมในรอบ 43 ปีของโลก นับตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2013 โดยมีความเสียหายที่มีการประกัน 16,200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 526,500 ล้านบาท และส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 49,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.612 ล้านล้านบาท สูงกว่าอันดับสอง คือเหตุการณ์น้ำท่วมในเยอรมนีและสาธารณรัฐเชคเมื่อปีที่แล้วอยู่หลายเท่า

ความเสียหายของน้ำท่วมในเยอรมนีและสาธารณรัฐเชคในปี 2013 มีมูลค่าความเสียหายที่มีการประกัน 4,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 133,250 ล้านบาท และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 16,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 536,250 ล้านบาท

ดูๆแล้ว ประเทศอื่นคงจะมาลบสถิติของเรายากอยู่พอสมควร และหวังว่านับจากนี้ไป รัฐบาลชุดต่อๆไปของประเทศไทย จะมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีกว่าปี 2011 ที่ผ่านมา สถิติแบบนี้ ครั้งเดียวก็เกินพอค่ะ

สำหรับในปี 2013 ที่ผ่านมา ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในโลกคือ พายุไห่เยี่ยน ซึ่งเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ความรุนแรงระดับ 5 สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 7,500 คน บาดเจ็บ 28,000 คน

บ้านเรือนถูกทำลาย หรือเสียหายอย่างมาก 1 ล้านหลัง มีคนอย่างน้อย 4 ล้านคน ไร้ที่อยู่อาศัย มูลค่าความเสียหายที่มีการประกัน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 48,750 ล้านบาท ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 390,000 ล้านบาท

ท่านที่สนใจรายละเอียดสามารถหาอ่านได้จากเว็บนี้ค่ะ

ขอจบด้วยหลักธรรมะในพุทธศาสนาว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนิจจัง ไม่แน่นอน เราจึงต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อเตือนใจ ความเสี่ยง

view