สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อ 302 บริษัทเอกชนสร้างพลังธุรกิจสะอาด สู้คอร์รัปชัน

เมื่อ 302 บริษัทเอกชนสร้างพลังธุรกิจ "สะอาด" สู้คอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศกำลังเร่งแก้ไข ของไทยตัวเลขภาพลักษณ์คอร์รัปชันได้ทรุดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ปีที่แล้ว จากอันดับ 88 ปี 2012 เป็นอันดับ 102 ปี 2013 ที่อินเดีย การคอร์รัปชันให้สินบนและฉ้อโกงเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของธุรกิจ สะท้อนจากผลสำรวจนักธุรกิจล่าสุดโดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย ขณะที่รัฐบาลจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jin Ping) มุ่งเอาผิดคนที่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือบริษัทเอกชน ภายใต้นโยบาย "No one is beyond reach"

ล่าสุดมีการกล่าวโทษคนใกล้ชิด อดีตสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรค และคนใกล้ชิดอดีตนายพลในกองทัพจีน ในเรื่องเกี่ยวโยงกับคอร์รัปชัน อันนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะจับปลาตัวใหญ่ เอาผิดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศที่ทุจริตคอร์รัปชัน ให้เป็นตัวอย่าง ให้ประชาชนเห็นว่าการแก้คอร์รัปชันมีการทำจริง และประสบการณ์ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ก็พิสูจน์ชัดว่าการจับปลาตัวใหญ่ เป็นขั้นตอนสำคัญของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จ

ในกรณีของไทย การหวังให้ผู้นำประเทศและนักการเมืองรุ่นปัจจุบันไม่ว่าพรรคไหนลุกขึ้นมาจับปลาตัวใหญ่แก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจังเหมือนจีน คงเป็นเรื่องยากเพราะ การทุจริตคอร์รัปชันได้รุนแรงขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เป็นผู้นำประเทศ ความหวังของเราจึงจะอยู่ที่นักการเมืองรุ่นต่อไป นักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองปัจจุบัน ที่จะเข้ามาทำงานการเมือง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เอาจริงกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน มีการจับปลาตัวใหญ่ จับนักการเมืองด้วยกันที่ทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ได้ ลดทอนได้ นำมาสู่การมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของคนทั้งประเทศ เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ที่ประธานาธิบดีเบนิกโน อาคิโน อายุ 54 ปี กำลังทำอยู่

ดังนั้น ณ จุดนี้ ความพยายามในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จึงต้องมาจากภาคเอกชน ข้าราชการประจำที่ดี และภาคประชาสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา ในรูปความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Collaboration) เพราะคอร์รัปชันกำลังทำลายอนาคตของประเทศ เป็นสิ่งที่คนไทยไม่อยากเห็น ต้องการให้แก้ไข และพร้อมที่จะมีส่วนร่วม

สำหรับภาคเอกชน บริษัทเอกชนต้องเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหา เพราะบริษัทเอกชนถูกมองว่าอยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้ คือ เป็นผู้ยอมจ่ายเงินคอร์รัปชัน เพื่อซื้อความสะดวกและเพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจ ประเด็นนี้นักการเมืองที่คอร์รัปชันเข้าใจดี จึงกล้าที่จะสร้างระบบ "อาชญากรรมจัดตั้ง" กดดันบริษัทเอกชนให้จ่ายเงินคอร์รัปชัน ผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่ได้จัดตั้งไว้ แต่ถ้าบริษัทเอกชนพร้อมใจกันปฏิเสธไม่จ่าย ไม่ให้ และพร้อมให้ความร่วมมือช่วยเหลือภาครัฐปรับปรุงวิธีและกระบวนการทำงานของราชการให้ทันสมัย มีความโปร่งใส มีความเป็นระบบ ไม่เลือกปฏิบัติ โอกาสที่คอร์รัปชันจะเกิดหรือแพร่ขยายต่อก็จะลดลง แต่การไม่ให้ ไม่จ่าย โดยบริษัทเอกชนบริษัทเดียวทำไม่ได้ บริษัทเอกชนต้องร่วมกันเป็นพลังที่จะไม่จ่าย ไม่ให้ในจำนวนที่มาก ร่วมกันสร้างการทำธุรกิจที่สะอาด โปร่งใส ปลอดคอร์รัปชัน เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชัน และรักษาความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศไทย

ตั้งแต่ปี 2010 องค์กรธุรกิจหลักแปดองค์กรของภาคเอกชนไทย คือ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าต่างประเทศ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถมีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างสมัครใจโดยเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ในโครงการแนวร่วมปฏิบัติสนับสนุนการทำธุรกิจที่สะอาด โปร่งใส และปลอดคอร์รัปชัน ซึ่งบริษัทเข้าร่วมจะต้อง

หนึ่ง ประกาศเป็นนโยบายของบริษัทโดยคณะกรรมการบริษัทที่จะทำธุรกิจโดยไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน สอง วางระบบการควบคุมภายในบริษัท รวมถึงฝึกอบรมพนักงานและติดตามผล เพื่อให้การปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง สาม เชิญชวนให้บริษัทที่ทำการค้าด้วยให้เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติ เพื่อขยายวงบริษัททำธุรกิจสะอาด โปร่งใส และปลอดคอร์รัปชันให้กว้างขวางขึ้น และพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางนโยบายและหลักปฏิบัติดังกล่าวกับบริษัทอื่นที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยบริษัทที่เข้าร่วมใหม่ ให้สามารถทำนโยบายและวางระบบป้องกันคอร์รัปชันได้ง่ายขึ้น

นี้คือ สามพันธกิจที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC ต้องทำ และเมื่อบริษัทที่เข้าร่วมทำได้ครบทั้งสามเรื่อง ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องว่ามีนโยบาย มีระบบงาน และมีการปฏิบัติใช้จริง โดยบุคคลที่สามที่เป็นหน่วยงานภายนอก หรือประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท บริษัทที่ผ่านการตรวจสอบ ก็จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตหรือคณะกรรมการ CAC ที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันครบถ้วน เป็นแบบอย่างที่ดีของบริษัทเอกชนไทยที่มีมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีในขั้นสูง สมควรที่จะได้รับคำชมเชยและเชิดชู

น่ายินดีว่า ตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 จากจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการประกาศเจตนารมณ์ครั้งแรก 27 บริษัท ขณะนี้ถึงปลายเดือนมีนาคม ปี 2014 จำนวนบริษัทเข้าร่วมโครงการ CAC ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 302 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 134 บริษัท และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 168 บริษัท บริษัทที่เข้าร่วมมีทั้งบริษัทที่อยู่ในกรุงเทพ บริษัทต่างจังหวัด มีทั้งบริษัทคนไทยและบริษัทต่างชาติ บางบริษัทเข้ามาเดี่ยวๆ บางบริษัทเข้ามาเป็นสมาคม เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจัดการกองทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทประกันชีวิต และสมาคมประกันวินาศภัยไทย และใน 302 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการปัจจุบันมี 41 บริษัทที่ได้ทำครบทั้งสามพันธกิจ และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนว่า เป็นบริษัทที่มีนโยบายและมีระบบควบคุมภายในป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน สมควรที่คนไทยทุกคนต้องรับรู้และร่วมกันสนับสนุน

ปัจจุบันจำนวนบริษัทเข้าร่วมโครงการ CAC นับวันจะเพิ่มขึ้น เพราะคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไม่ชอบ และต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ที่สำคัญการเข้าร่วมแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระดับสูงของบริษัท เพราะคอร์รัปชันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และไม่ไปด้วยกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี

อีกประเด็นที่น่ายินดี เกี่ยวกับโครงการ CAC ก็คือ ประสบการณ์และความสำเร็จของโครงการ CAC กำลังได้รับความสนใจจากต่างประเทศว่าเป็นรูปแบบหนึ่งที่บริษัทเอกชนสามารถมีส่วนร่วม ในการลดการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ โครงการ CAC ของภาคเอกชนไทยจึงเป็นโครงการนำร่องที่หลายประเทศขณะนี้สนใจ และต้องการนำไปประยุกต์ใช้ เช่น รัสเซีย ปากีสถาน และเคนยา

ก็อยากจะขอเชิญชวนให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมโครงการ CAC มากขึ้น ร่วมกันส่งเสริมการทำธุรกิจที่สะอาด โปร่งใส ปลอดคอร์รัปชัน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศไทยและเพื่ออนาคตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้สนใจโปรดติดต่อสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยได้ที่คุณกิตติเดช ฉังทังกูล ที่ kittidej@thai-iod.com หรือ 0-2599-1155 ต่อ 302


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บริษัทเอกชน สร้างพลัง ธุรกิจสะอาด สู้คอร์รัปชัน

view