สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กล่อมเกลานิสัย สร้างเด็กไม่ก้าวร้าว - รุนแรง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ วิถีชีวจิต-ธรรมะ-ธรรมชาติ

ข่าวตีกันของเด็กอาชีวะ กลุ่มวัยรุ่นยกพวกตีกัน ยิงกัน ทำร้ายกันจนถึงชีวิต ฯลฯ ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว เพราะความรุนแรงของเด็กในสมัยนี้ ได้ไต่ระดับสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความก้าวร้าว โหดร้าย ทารุณ และมีพฤติกรรมที่คล้ายกับไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ จะเห็นได้จากกรณีที่เด็กชายวัย 18 ปี ก่อเหตุสลดฆ่าพ่อ แม่ และน้องชายแท้ๆ ของตัวเอง คาบ้านพัก ย่านปทุมธานี เนื่องจากน้อยใจพ่อแม่ที่ไม่ยอมซื้อรถยนต์ให้ เมื่อสอบเข้ามหาลัยได้ ประกอบกับเรื่องราวอื่นๆ ที่ไม่ใช่ว่าจะหนักหนาถึงกับฆ่าคนในครอบครัวได้

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นมีพฤติกรรมความก้าวร้าวนั้น อาจมาจากความบกพร่องของระบบครอบครัว ที่มีค่านิยมในการเลี้ยงลูกแบบยึดวัตถุนิยมเป็นหลัก จึงส่งผลให้เด็กเกิดความกดดัน เครียด กังวลใจ ขาดความสุข ซึมเศร้า และมีความคับข้องใจทางอารมณ์ จึงระบายความรู้สึกออกมาด้วยการก้าวร้าว อาจจะแสดงในลักษณะตัวต่อตัว ตัวต่อกลุ่ม หรือกลุ่มต่อกลุ่มแบบตะลุมบอลก็เป็นได้

สำหรับความก้าวร้าวของ เด็กแต่ละคนจะมีการตอบสนองและแสดงพฤติกรรมที่แตกต่าง แบ่งออกเป็นหลักๆได้ 3 ประเภท ดังนี้

1.ความก้าวร้าวทางตรง เป็นการระบายความก้าวร้าวด้วยการทำร้ายบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยตรง เช่น โกรธใครก็ตรงรี่เข้าไปชกต่อย ทุบตี ให้เป้าหมายเจ็บตัว หรือใช้วาจาด่าประจานให้เกิดความอับอาย

2.ความก้าวร้าวทางอ้อม เป็นการก้าวร้าวที่ไม่แสดงตรงตัวบุคคล แต่จะใช้วิธีการแสดงออกด้วยการทำลายทรัพย์สมบัติ ทั้งของตนเองหรือบุคคลอื่น เพื่อหวังเพียงแค่ทำลายความรู้สึกและจิตใจ และระบายความคับข้องใจของตนเอง ตัวอย่างเช่น พี่ชายเอาตุ๊กตาน้องไปทำลายให้เสียหาย เพราะเห็นว่าของน้องดีกว่า หรือรู้สึกว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงออกถึงความก้าวร้าวทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น บางครั้งจะไม่แสดงออกโดดๆ เพราะบางคนอาจก้าวร้าวได้ทั้ง 2 แบบ เช่น พี่ชายทำลายตุ๊กตาน้องยังไม่พอ ยังวิ่งเอามือไปตีน้องให้ร้องให้อีกก็ได้ ซึ่งความก้าวร้าวในลักษณะนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกอายุ แต่ความรุนแรงจะมากน้อยต่างกัน เด็กก้าวร้าวอาจจะยังแก้ไขสั่งสอนได้ แต่ผู้ใหญ่ก้าวร้าวมีแต่กฎหมายและคุกตะรางเท่านั้นที่ช่วยได้

3.ความก้าวร้าวแฝง
เป็นการก้าวร้าวที่ไม่แสดงออกทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่จะแฝงเร้นอยู่ในตัวบุคคลที่พร้อมแสดงออกเมื่อรู้สึกว่าต้องแสดงถึงอำนาจ ที่เหนือกว่าบุคคลอื่น หมายความว่า ความก้าวร้าวนี้จะอยู่ภายใต้จิตสำนึกตลอดเวลา และจะแสดงออกมาเมื่อมีโอกาส โดยเฉพาะกับบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวและอ่อนแอกว่า ซึ่งผู้มีความก้าวร้าวแฝงมักจะดูดีในสายตาบุคคลอื่น แต่ผู้ที่ถูกรุกรานจะมองเห็นถึงความก้าวร้าวในลักษณะนี้

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมความก้าวร้าวของเด็ก คือ "สถาบันครอบครัว" เพราะเด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมการก้าวร้าวจากพ่อแม่ ความขัดแย้งในครอบครัว และการทารุณเด็ก นอกจากนี้ การทำงานและธุรกิจที่รัดตัวของหลายๆครอบครัว อาจทำให้มีเวลาให้กับลูกได้น้อยลง ทีวี หรือเกม จึงเสมือนเป็นพี่เลี้ยงคนหนึ่งของเด็ก เพราะทำให้เด็กสามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่ซุกซนได้ แต่หารู้ไม่ว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมากๆ หากปล่อยให้เด็กดูตามลำพัง เพราะทีวีหรือเกม จัดเป็นสื่อที่กระตุ้นอารมณ์ให้เด็กเลียนแบบและแสดงความก้าวร้าว เป็นอันดับ 1 จากการวิจัยต่างๆ มากมาย

หลายคนคงสงสัยว่า....แล้วพ่อแม่จะต้อง ทำอย่างไรให้เด็กมีพฤติกรรมไม่ก้าวร้าว? ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า "การกล่อมเกลานิสัย" เป็นวิธีในการเลี้ยงดูเด็กที่ดีที่สุด เพราะไม่เพียงแต่พ่อแม่จะได้ลูกที่ดีเท่านั้นสังคมยังได้รับสมาชิกที่มี คุณภาพอีกด้วย ถ้าหากเด็กทุกคนได้รับการดูแลกล่อมเกลาที่ดี ปัญหาสังคมจะลดน้อยลง ความปลอดภัยและความสุขของชีวิตจะเพิ่มขึ้น

ในสังคมเชื่อว่า พ่อ แม่ และครู คือ ผู้กล่อมเกลานิสัยเด็กให้มีการเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้อง รู้ความมีวินัย และรู้ระเบียบของสังคมได้ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กไม่ชอบเสื้อผ้าที่แม่ใส่ให้ จะมีปฏิกิริยากระชากเสื้อ หน้าบูดบึ้ง และต่อต้านการกระทำของแม่ทันที ซึ่งความคับข้องใจที่เกิดขึ้นนี้ พ่อแม่ต้องแก้ปัญหาด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย อบอุ่น และเป็นกันเอง รวมถึงต้องสะท้อนให้เด็กรู้ปัญหาความคับข้องใจของตนเอง โดยเริ่มจากสอนให้เด็กรู้จักและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจะช่วยให้เด็กรู้เหตุของปัญหาด้วยตัวเองว่า แท้จริงแล้วความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นอย่างไร แล้วกระบวนการนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นอย่างไร และที่สำคัญวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

ในกรณีที่เด็กมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ทำลายข้าวของ ร้องไห้งอแง หรือกระทืบเท้า พ่อแม่ควรเข้าใจความเป็น "คน" ของเด็กด้วย อาจจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเด็ก พร้อมสอนเด็กให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การที่พ่อแม่ลงโทษเด็กเพียงอย่างเดียว เพื่อหวังให้มีนิสัยที่ดีขึ้นนั้น จะเป็นการถ่ายทอดพฤติกรรมก้าวร้าวให้กับเด็กอย่างไม่รู้ตัว และในขณะเดียวกัน การที่พ่อแม่ตามใจเด็กมากเกินไป ก็จะกลายเป็นตัวเสริมแรงให้เด็กก้าวร้าวจนเป็นนิสัย เพราะเด็กจะเรียนรู้และซึมซับว่าพฤติกรรมก้าวร้าวมีประโยชน์ต่อตนเอง

ฉะนั้น วิธีการแก้นิสัยเด็กให้เป็นคนดีและมีนิสัยก้าวร้าวลดลง คือ การปลูกฝังการมีพฤติกรรมที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้นำไปปฏิบัติจนเป็นนิสัยไปจนโต



ที่มา : หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กล่อมเกลานิสัย สร้างเด็ก ไม่ก้าวร้าว รุนแรง

view