สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

CSR ที่มีพัฒนาการ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk โดย พีรานันท์ ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการโปรแกรมความรับผิดชอบต่อสังคม สถาบันคีนันแห่งเอเชีย

ไม่บ่อยนักที่เราได้เห็นพัฒนาการของการดำเนินกิจกรรมด้าน CSR ที่สามารถก้าวจากขั้นการบริจาคไปสู่การสร้างนวัตกรรมในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันอย่างยั่งยืน หากย้อนกลับไปสู่วัตถุประสงค์ของการมี CSR นั้น ก็เพื่อเป็นหลักคิดและแนวปฏิบัติให้กับองค์กร และบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ให้ดำเนินกิจการ

โดยยึดมั่นการบริหารจัดการแบบบรรษัทภิบาลที่มีเหตุและมีผล ไม่สร้างผลกระทบด้านลบทั้งต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จนทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

การมีส่วนร่วมกับชุมชนนั้นมิใช่เพียงการเชิญชุมชนเข้าไปเป็นผู้ร่วมงานเท่านั้น แต่ชุมชนควรมีโอกาสร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็น ออกแบบกิจกรรมกระบวนการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน และ/หรือร่วมแชร์ทรัพยากรตามสภาพ หากว่าสิ่งที่ทำร่วมกันจะนำมาซึ่งการเสริมพลัง (Empower) และความสุขของชุมชน

จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการด้าน CSR พบว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อม CSR สู่นวัตกรรมชุมชน คือ "เข้าใจและเข้าถึง" องค์กรควรมีความสามารถในการเชื่อมโยงองค์กรตัวเองกับกระบวนการของภาพใหญ่ในชุมชนผ่านการประชุม หรือเสวนาอย่างสม่ำเสมอ

จากนั้นใช้ความชำนาญของตนเองเพื่อสร้างความคิดสิ่งใหม่ ๆ หรือการปรับปรุงวิธีการแล้วนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสังคม จนทำให้มีความแตกต่างจากการที่เคยดำเนินการอยู่ ให้ได้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาต่อยอดชุมชนในอนาคต กระบวนการนี้จึงทำให้องค์กรและชุมชนได้พูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาชุมชน งบประมาณ ความเข้าใจของผู้บริหารต่อความสำคัญในกระบวนการนี้ และกำลังคน จึงทำให้องค์กรที่ดำเนินกิจกรรม CSR ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำกระบวนการเหล่านี้ก่อนจะเริ่มทำโครงการ CSR ที่สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน

ท่ามกลางข้อจำกัดของการเชื่อม CSR สู่นวัตกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกัน วันนี้เรามีตัวอย่างความสำเร็จจาก CSR ที่พัฒนาการ และสร้างคุณค่าร่วมกันกับชุมชนแล้วจริง ๆ

เรื่องราวความสำเร็จในวันนี้เป็นธุรกิจรีสอร์ตที่อำเภอวังทอง ตั้งอยู่ริมน้ำเข็ก ท่ามกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ บนถนนหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) กว่า 20 ปีที่แล้ว ยุคที่แนวคิดเชิง Eco ยังไม่แพร่หลาย "เรนฟอเรสท์ รีสอร์ท" ได้ถูกสร้างขึ้นให้เป็นเสมือนบ้านป่าฝนที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรักธรรมชาติ หนีความวุ่นวายจากป่าเมืองมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ระดับที่เอาหินมาเป็นกำแพงบ้าน เอาต้นไม้มาอยู่ในห้องพัก ปัจจุบันความเชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์และเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เกิดธุรกิจใหม่

"เรนฟอเรสท์ฟาร์ม" ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้ผักอินทรีย์ การพึ่งพาตัวเอง การเพาะเห็ด และการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อใช้บริโภคในรีสอร์ต กลายเป็นจุดสร้างความแตกต่างของรีสอร์ตให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ต่อมาทางรีสอร์ตได้ร่วมกับเครือข่ายในชุมชนก่อตั้งองค์กรชื่อ ชมรมรักษ์น้ำเข็ก เพื่อเป็นศูนย์รวมกิจกรรมการอนุรักษ์ลำน้ำเข็ก ซึ่งได้หล่อเลี้ยงผู้คนในลุ่มน้ำเข็ก ทั้งประชาชน นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า ได้อาศัยลำน้ำเข็กเป็นที่ทำมาหากิน ค้าขายอาหาร ของที่ระลึกมานาน

เรื่องราวของเรนฟอเรสท์ รีสอร์ท ไม่ได้จบที่การออกแบบอิงธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังบริหารจัดการภายใต้แนวคิดโรงแรมสีเขียว การส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรมให้กับพนักงาน รวมไปถึงการเปิดให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนและนักเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นได้เข้ามามีโอกาสฝึกงาน หารายได้ในระหว่างปิดเทอม

โดยแนวคิดนี้เริ่มจากการที่ผู้ก่อตั้งรีสอร์ต "คุณเล็ก-ณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์" ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มสถานศึกษาที่อยู่รอบ ๆ รีสอร์ต ผ่านกิจกรรมร่วมกันเก็บขยะในชุมชน สู่การบริจาคไข่ไก่ที่ได้จากฟาร์มให้กับโรงรียน ไปจนกระทั่งเป็นวิทยากรให้กับสถานศึกษาเกี่ยวกับธนาคารขยะและเศรษฐกิจพอเพียง ได้เห็นโอกาสที่จะสามารถส่งเสริมเยาวชนนักเรียนในท้องถิ่นโดยการฝึกงานภายในรีสอร์ตเมื่อมีเวลาว่าง

ทั้งนี้งานที่นักเรียนได้รับมอบหมายให้ทำในรีสอร์ตมีทั้งรูปแบบงานที่จะได้พูดคุยกับแขก และรูปแบบการทำงานอยู่ในส่วนอื่น ๆ ดังนั้นรีสอร์ตจะต้องใช้เวลามากขึ้นในการฝึกอบรม และขัดเกลาให้เยาวชนที่เข้ามาฝึกงานสามารถทำงานได้ตามระบบมาตรฐานที่มีอยู่

ล่า สุดเรนฟอเรสท์ ชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก ร่วมกับร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า Technical Rescue Team (TRT) นักปีนผาและอาสาสมัครที่ลานหินแตกและลานหินปุ่ม อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในที่ที่ทำความสะอาดยาก เช่น ตามหน้าผาและซอกหินลึก ๆ เพื่อเป็นการสร้างสำนึกให้กับนักท่องเที่ยวและชุมชนให้ร่วมกันอนุรักษ์สิ่ง แวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวของตนพร้อมทั้งเป็นการฝึกทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ TRT และอุทยานฯภูหินร่องกล้าด้วย

นี่เป็นตัวอย่างการใช้ความเชี่ยวชาญ และกระบวนการคิดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์แบบเอกชน ประสานความร่วมมือจากหลากหลายองค์กร ผนวกกับความต้องการของชุมชนอย่างสร้างสรรค์ จนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง

บทเรียนเรื่องพลวัตของ CSR นั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและความเชี่ยวชาญขององค์กรแล้ว สิ่งที่จะต้องให้ความสนใจไม่แพ้กันคือ ตัวแปรด้านการเปลี่ยนแปลงของสังคมและชุมชน ที่จะสร้างทิศทางการพัฒนาโครงการ CSR ที่ได้รับความร่วมมือและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริงด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : CSR มีพัฒนาการ

view