สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝนหลวงกู้ภัยแล้งสางหมอกควัน

จาก โพสต์ทูเดย์
ฝนหลวง” กู้สถานการณ์ภัยแล้ง-สางปัญหาหมอกควัน

ขณะนี้ปัญหาภัยแล้งได้คุกคามแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนในหลายพื้นที่ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ ณ วันที่ 4 เมษายน 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 – ปัจจุบัน จังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 38 จังหวัด  249 อำเภอ รวม 1,552 ตำบล และ 14,567 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด 93 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่  ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก  นครสวรรค์ พิจิตร แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด 78 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และสุรินทร์

ภาคกลาง 5 จังหวัด 19 อำเภอ ได้แก่  จังหวัดสิงห์บุรี สระบุรี  ชัยนาท  สมุทรปราการ และสุพรรณบุรี ภาคตะวันออก 5 จังหวัด 31 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ตราด และปราจีนบุรี และภาคใต้ 7 จังหวัด 28 อำเภอ ได้แก่  จังหวัดตรัง สตูล  กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี และชุมพร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ปัญหาภัยแล้งสร้างความเสียหายให้กับแหล่งปลูกพืชใน 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ลำพูน สุโขทัย ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และสตูล ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 106,701 ราย พื้นที่ประสบภัย 768,160 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 682,271 ไร่ พืชไร่ 8,552 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 77,337 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรัดเร่งให้สำรวจความเสียหายเพื่อจะได้เสนอของบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน

ปีนี้คาดว่า ภาคเหนือจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ประมาณ 2 ล้านไร่ ซึ่งต้องมีการติดตามเฝ้าระวัง  4  จังหวัดที่น่าเป็นห่วง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบกว่า 90,000 ไร่ จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนแม่กวงฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความจุเก็บกักน้ำได้ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 96.749 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 36.97 % ของความจุอ่าง ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ จำนวน 82.749 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 31.46 % ทั้งยังพบว่า เกษตรกรในพื้นที่โครงการฯเขื่อนแม่กวงฯมีการเพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้ง จำนวน 93,778 ไร่ ซึ่งเกินแผนที่ตั้งไว้เพียง 53,400 ไร่ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกเกินแผน จำนวน 33,326 ไร่ และพืชไร่-พืชผัก เกินแผน 7,052 ไร่ นอกจากนั้น ยังพบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังมีปัญหาหมอกควันด้วย

ทางด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาการอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนค่อนข้างมาก กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงฯบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อเร่งแก้ปัญหาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร พร้อมแก้ปัญหาหมอกควันควบคู่ไปด้วย
กรมฝนหลวงฯได้ประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ทราบข้อมูลพื้นที่ประกาศเขตภัยแล้งและพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ทั้งยังติดตามข้อมูลภัยแล้งจากอาสาสมัครฝนหลวงที่มี จำนวน 800-900 ราย และข้อมูลที่เกษตรกรร้องขอฝนหลวง แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ว่า สามารถขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงได้หรือไม่ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและปัญหาหมอกควันเบาบางลงได้

ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 เป็นต้นมา กรมฝนหลวงฯได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนญ์หลัก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น ระยอง และสุราษฎร์ธานี ทั้งยังได้ขยายฐานหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดพิษณุโลก กาญจนบุรี บุรีรัมย์ อุดรธานี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้สามารถขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันเวลาและกระจายครอบคลุมมากขึ้น และดูแลเกษตรกรและประชนได้อย่างทั่วถึง

การที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบความเร็จและทำให้ฝนตกนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ทางอากาศต้องมีความเหมาะสม และความพร้อมที่สามารถปฏิบัติการได้ ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯมีเครื่องบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 31 ลำ ซึ่งยังไม่เพียงพอ ทางกองทัพอากาศได้ให้ความร่วมมือสนับสนุนเครื่องบินมาช่วยบินปฏิบัติการฝนหลวงด้วย กรมฝนหลวงฯก็ได้โอนงบประมาณให้ อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเบี้ยเลี้ยงที่พักของนักบิน เป็นต้น  

“ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้ขึ้นบินปฏิบัติการไปแล้ว 2 โซน คือ โซนภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง น่าน และแพร่ และโซนภาคกลางที่จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าและช่วยลดปัญหาหมอกควัน ถือเป็นการปฏิบัติการช่วงชิงในการทำฝนเพราะวันเวลาค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งจากการประเมินความสำเร็จพบว่า การขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือทำให้มีฝนตกอยู่ในระดับ 60-70 % ขณะที่การขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีระดับความสำเร็จในการทำให้ฝนตก 80-90 % เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสมกว่า” นายสุรสีห์กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฝนหลวง กู้ภัยแล้ง สางหมอกควัน

view