สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สามขาแห่งรัฏฐาธิปัตย์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

รัฏฐาธิปัตย์คือผู้ถืออำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตยหมายถึงอำนาจสูงสุดทางการเมืองการปกครอง ในแนวคิดของนักประชาธิปไตยจะบอกว่าอำนาจอธิปไตยนี้มาจากหรือเป็นของประชาชน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อย่างที่เราท่องจำกันมาตลอดว่ารัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ รัฐบาลใช้อำนาจบริหาร และศาลใช้อำนาจตุลาการ

แต่เดิมปราชญ์ทางการเมืองการปกครองยังไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยนี้มากนัก กระทั่งสังคมยุโรปได้ผ่านยุคกลางที่ศาสนาคริสต์ได้ครอบวิถีชีวิตของผู้คนในทุกๆ อย่าง ไม่เว้นแม้แต่อำนาจทางการเมืองการปกครอง ที่ยกอำนาจสูงสุดในทุกๆ เรื่องให้แก่พระผู้เป็นเจ้า และปิดกั้นความเชื่อความคิดของผู้คนในทุกๆ ด้าน ฝรั่งจึงเรียกยุคนั้นว่า “ยุคมืด”

กระทั่งมีปราชญ์ต่างๆ กล้าออกมาแสดงความเห็นเพื่อแสวงหา “ความจริง” เกี่ยวกับธรรมชาติ และค้นพบว่าธรรมชาติมีพลังอำนาจอยู่ในตัวของธรรมชาติเอง ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าก็ค่อยๆ บางเบาลง โดยในทางการเมืองการปกครองก็มีผู้ที่กล้าท้าทายว่า อำนาจที่ยิ่งใหญ่นั้นหาได้มาจากพระผู้เป็นเจ้าไม่ แต่เกิดจากมนุษย์นี้แหละที่สร้างขึ้น และโชคชะตาของมนุษย์ล้วนกำหนดได้ด้วยมนุษย์ นี่คือวาทะของ แมคเคียเวลลี่ ที่ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งปรัชญาการเมืองสมัยใหม่”

แมคเคียเวลลี่ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในขณะที่ยังมีชีวิต ทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นพวก “อำนาจนิยม” คือสอนให้คนคลั่งไคล้ในการแสวงหาอำนาจและรับใช้ผู้มีอำนาจ แต่กระบวนทัศน์ในการ “คิดใหม่” ของเขาที่ไม่งมงายตามความเชื่อความคิดที่ศาสนาเคยครอบงำมา ได้สร้าง “มาตรฐานใหม่” ในทางการเมืองการปกครอง นั่นก็คือการแสวงหา “อำนาจสูงสุด” อันสามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยน้ำมือมนุษย์ รวมถึงโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองแบบต่างๆ

อำนาจสูงสุดทางการเมืองการปกครองที่เราเรียกว่า “อำนาจอธิปไตย” นี้ มาจากคำฝรั่งว่า Sovereignty แต่เดิมพวกพระในศาสนาคริสต์บอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจพระผู้เป็นเจ้าที่เรียกว่า Divinity ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากที่ แมคเคียเวลลี่ ได้ “กระชากหน้ากาก” เปิดเผยความจริงออกมาว่า มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ก็มีปราชญ์อื่นๆ นำไปตีความและขยายความ อย่างนายโทมัส ฮอบส์ ที่อธิบายว่าอำนาจนี้มนุษย์ได้ถวายมอบให้ “อะไรสักอย่าง” เพื่อปกครองดูแลมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งสิ่งนี้ ฮอบส์ เรียกว่า “Leviathan” (ที่มีนักวิชาการไทยบางท่านแปลว่า “อสูร” ที่ผู้รู้ท่านวิจารณ์ว่า ฮอบส์ คงไม่กล้ากล่าวถึงกษัตริย์ที่ยังคงมีอำนาจเด็ดขาดอยู่ในสังคมยุโรปยุคนั้น เขาจึงกล่าวทำนอง “เทียบเคียง” ดังกล่าว) โดยมอบให้อย่างหมดสิ้นและเด็ดขาด

กระทั่ง จอห์น ล็อค ได้อธิบายว่าเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของมนุษย์แต่ละคน มันก็คือ “ทรัพย์สิน” อย่างหนึ่งที่มนุษย์จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ การที่มีผู้เอาไปใช้คือพวก|ผู้ปกครองทั้งหลายก็เป็นเพียงแค่การฝากให้ดูแลในลักษณะของ “สัญญาประชาคม” ที่มีกำหนดชนิดของอำนาจที่ใช้ ระยะเวลา และวิธีการในการใช้ โดยเฉพาะจะต้องปรึกษาหารือ “ขออนุญาต” ประชาชนผู้|เป็นเจ้าของอำนาจนั้นเสียก่อน จากนั้นนักปราชญ์อย่าง ฌอง โบแด็ง ฌอง ชาร์ค รุสโซ และ มองเตส กิเออ จึงได้มาขยายความต่อถึงการบริหารจัดการอำนาจอธิปไตยนี้ โดย โบแด็ง ได้ให้จัดทำเป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นมาตรฐานมั่นคง รุสโซ ให้มีการสร้างกติกาจากการตกลงร่วมกันของประชาชน และ มองเตสกิเออ เสนอให้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ส่วน (อย่างที่เราท่องจำกันนั้น)

ที่สำคัญอำนาจนี้ประชาชนสามารถขอคืนได้

ด้วยเหตุนี้ระบอบประชาธิปไตยจึงเติบโตขึ้นท่ามกลางการประดิษฐ์คิดค้นให้เข้ากับ “แรงปรารถนา” ของผู้นำและประชาชนในแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่เราไปลอกแบบของประเทศอังกฤษมา แต่มีวิวัฒนาการที่ผกผันต่างกัน เพราะของไทยยังไปไม่ถึงไหนด้วยเหตุที่นักประชาธิปไตยของไทย “หลอกใช้” ประชาชน แต่ที่ร้ายที่สุดคือ “ไม่เคารพกฎหมาย” แล้วยังพยายามลากประชาชนให้ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นด้วย ซึ่งกฎหมายนี้ก็คือ “รัฐธรรมนูญ”

ความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญของไทยหลายฉบับเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ดีมากๆ” โดยเฉพาะฉบับปี 2540 ด้วยเหตุที่เป็นรัฐธรรมนูญอันเชื่อกัน (ในหมู่นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์) ว่า “ตกผลึก” มาเป็นอย่างดี เพราะได้จัดทำขึ้นโดยอาศัยบทเรียนในปัญหาการเมืองไทยที่มีการศึกษามาอย่าง “ละเอียดลออ” อย่างต่อเนื่องนับจากวิกฤตการเมืองไทยหลังเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 โดยได้ผ่านขั้นตอนของการศึกษาในระดับชาติจากคณะกรรมการพัฒนาการเมืองและคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐสภามาแล้วอย่างลึกซึ้ง กระทั่งได้ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญทำออกมาเป็นรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2540 นั้น ก็ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและประชาพิจารณ์มาอย่างเข้มข้น จนถึงการลงประชามติเพื่อรับร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

“สามขาแห่งรัฏฐาธิปัตย์” ได้ถูกสร้างขึ้นในตอนนั้น

ขาที่หนึ่งคือ หยัดย้ำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”

ขาที่สองคือ เชื่อมั่นในการถ่วงดุลระหว่างกันของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

และขาที่สาม ตอกย้ำด้วยองค์กรตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ทว่าขาทั้งสามได้ถูก “เดรัจฉาธิปัตย์” ได้แก่ นักการเมืองจอมละโมบ ร่วมกับลิ่วล้อบริวาร “เครือข่ายคนชั่ว” ทั้งในภาคราชการ ธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และภูมิภาคท้องถิ่น เข้าทำลายอย่างจงใจ ที่สุดก็ล้มพังไปทีละขา เริ่มจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ถูกแอบอ้างและยึดครองผ่านระบบการเลือกตั้งอันฉ้อฉล ตามมาด้วยการเข้ายึดครอง สส.และ สว. สร้าง “อสูร” ขนาดมหึมาที่ควบคุมไปทั้งรัฐบาล แล้วใช้ประชานิยมร่วมกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเป็นเครื่องมือในการกุมกินประเทศเพื่อนำไปสู่ “รัฐไทยใหม่” สุดท้ายคือการสร้างอิทธิพลครอบงำศาลและระบบตรวจสอบถ่วงดุล แยกคนไทยเป็นแดงเป็นเหลืองให้ออกมาประหัตประหารกัน เป็นอันจบสิ้นระบอบประชาธิปไตยของไทย ภายใต้ระบอบใหม่ที่ชื่อว่า “เผด็จการทุนนิยมสามานย์”

ผู้เขียนอยู่ในฝ่ายที่มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้ได้หมดความเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วโดยสิ้นเชิง เพราะโดน “ตัดขา” ไปแล้วหมดทั้งสามขา หนึ่ง คือไม่มี สส.ที่ถูกยุบหมดสิ้นไปจากสภาแล้ว รวมถึงรัฐบาลเถื่อนด้วยการฉ้อฉลที่แค่ซื้อเวลารักษาการ สอง คือ กำลังถูกตรวจสอบเอาผิดที่จะต้องสิ้นสภาพไปตามกฎหมาย และสาม คือ อำนาจอธิปไตยได้คืนมาสู่ประชาชนแล้ว
รอเวลาแค่เอาปลายเล็บเท้าของมวลมหาประชาชนสะกิดออก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สามขาแห่งรัฏฐาธิปัตย์

view